ตอนที่ ๒๒ กลุ่มเกื้อกูล โครงการช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนที่มา : หนังสือ ตราไว้ในดวงจิต บันทึกเรื่องราวอาศรมวงศ์สนิทยุคบุกเบิก เขียนโดย ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล |
เมื่ออาศรมวงศ์สนิทตั้งรกรากได้ประมาณ ๓ ปี (พ.ศ.๒๕๓๐) น้าเหมบกับน้ายืดคู่สามีภรรยาซึ่งเราไม่รู้จักมาก่อน ได้ขอพบป้าปอน เล่าให้ฟังว่าทำโครงการช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน ต้องการพื้นที่ให้เด็กที่มีปัญหาครอบครัวจนหนีออกจากบ้านมาเร่ร่อนนอนใต้สะพานในกรุงเทพฯ ได้มีที่พักพิงปลอดภัยและจะได้จัดการเลี้ยงดูและให้การศึกษาด้วย ป้าปอนฟังและพิจารณาแล้วเห็นความตั้งใจทำงานที่จะช่วยเหลือเด็กและเป็นการแก้ปัญหาสังคมด้วย จึงนำทั้งคู่ไปพบอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กรรมการมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ที่ดูแลอาศรมวงศ์สนิทอาจารย์เป็นผู้ที่ทำงานเพื่อสังคมตลอดและยังเข้าใจความตั้งใจของคนหนุ่มสาวที่มีอุดมคติด้วย อาจารย์ให้โอกาสเสมอ โครงการช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนในชื่อกลุ่มเกื้อกูลจึงมาตั้งอยู่ในที่ดิน ๑๐ ไร่ มุมหนึ่งของอาศรมวงศ์สนิท เด็กมาอยู่ที่กลุ่มเกื้อกูลประมาณ ๑๕ คน ครูหรือพี่เลี้ยง ๓–๔ คนเด็กอายุน้อยสุด ๗ ขวบ เป็นผู้หญิง น่าตกใจที่เด็กตัวแค่นี้ยอมหนีออกจากบ้านมาเร่ร่อนนอนใต้สะพาน อดๆ อยากๆ อยู่ที่บ้านแกคงทุกข์มาก ป้าปอนลองถามตัวเองว่าเรากล้าออกจากบ้านแบบไม่มีเงินติดตัวหรืออาจมีบ้างนิดหน่อย จะอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ได้กินหรือไม่ก็ไม่รู้ ที่สำคัญภัยอันตรายจากผู้คน คำตอบคือไม่กล้า เด็กเหล่านี้จึงเหมือนคนกร้านโลก ไม่กลัวอะไรทั้งสิ้น เผชิญมาหมดแล้ว ถูกพ่อ (เลี้ยง) แม่ (เลี้ยง) ด่าทอทุบตี ถูกข่มขืนหรือละเมิดทางเพศไม่เว้นว่าเด็กหญิงเด็กชาย นอนใต้สะพาน สกปรก โดนยุงกัด เก็บเศษอาหารเหลือๆ ตามโต๊ะที่คนลุกไปแล้วมากิน ถูกล่อลวง ถูกตำรวจจับ ครูหรือพี่เลี้ยงที่ดูแลเด็กเหล่านี้มีเมตตาสูงและเข้าใจเด็ก นอกจากให้เด็กกินอิ่มนอนหลับ เรียนหนังสือ ก็ฝึกวินัย หัดให้ทำงาน ให้มีกิจกรรมสร้างสรรค์คลายทุกข์ ให้ได้รับสิ่งดีๆ ปกครองกันด้วยความรัก การลงโทษอาจมีเพียงการงดดูหนังที่จัดมาให้สัปดาห์ละครั้ง หรือให้อดขนมหวาน เด็กก็จะรับรู้แล้วว่านี่คือการลงโทษ ป้าปอนเคยบอกว่าถ้าดื้อไม่ให้ความร่วมมือก็จะไม่พายเรือไปส่งไม่ให้ไปเที่ยวไหน พี่เลี้ยงหัวเราะบอกว่าแค่นี้ไม่เป็นอุปสรรคต่อเด็กหรอก ถ้าเขาไม่อยากอยู่กับเราเขาก็จะว่ายน้ำข้ามคลองไปเลย เสื้อผ้าที่มีคนละ ๒–๓ ชุดเขาก็ใส่ซ้อนเข้าไปทั้งหมด ขึ้นฝั่งเดี๋ยวก็แห้ง อย่าไปคิดว่าเด็กว่ายน้ำไม่เป็น อยู่กรุงเทพฯ เขาเล่นกระโดดจากสะพานพระปิ่นเกล้าลงแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่มีใครที่ไหนมาห้ามมาห่วงเขา คืนหนึ่งมีหนังกลางแปลงมาฉายที่คลอง ๑๔ อยู่ห่างอาศรม ๓–๔ กม.เด็กยกขบวนเดินไปดู ขากลับดึกง่วงนอนแต่ยังไม่ถึงบ้านแกก็พากันนอนบนหญ้าริมทางจนเช้าไม่กลัวอะไร เหมือนชีวิตนี้ไม่มีอะไรให้กลัวแล้วน้าเหมบ น้ายืด มีความเป็นมนุษยนิยม เคารพในความคิด ความรู้สึกจิตใจ ให้โอกาสและทำความเข้าใจเด็กอยู่เสมอ ที่ป้าปอนนับถือใจสองคนนี้มากคือเขาเลี้ยงลูกสาวตัวเองที่เพิ่งคลอดรวมกับเด็กมีปัญหาเหล่านี้จนโต นั่นคือเขาเชื่อมั่นว่า ด้วยการดูแลเด็กที่บอบช้ำมาด้วยวิธีให้ความรักเอาใจใส่ เด็กจะมีวุฒิภาวะเช่นเดียวกับเด็กปกติพอที่ลูกสาวตัวเองจะอยู่ร่วมได้ การตามหาและติดต่อครอบครัวเป็นวิธีหนึ่งในการแก้ปัญหาเด็ก ครูหรือพี่เลี้ยงจะพยายามเชื่อมความสัมพันธ์และแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายคือพ่อแม่ ผู้ปกครอง และเด็ก ทำความเข้าใจปัญหาและปรับตัว ถ้าครอบครัวใดพร้อมก็ส่งเด็กกลับไปอยู่กับครอบครัว บางครั้งให้ทดลองกลับไปอยู่เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนก่อน เด็กหญิงคนหนึ่งกลับจากเยี่ยมบ้านมาด้วยความภูมิใจ “แม่ดีใจมากที่หนูไปหา แม่ให้เอาน้องมาอยู่ด้วย” เราผู้ใหญ่อึ้ง สะเทือนใจ ไม่รู้จะสลดหรือภูมิใจกับผลงานของเราดี วันลอยกระทงอีก ๒ ปีต่อมา (พ.ศ.๒๕๓๒) น้าเหมบนำเด็กๆ มาให้ป้าปอนสอนทำกระทง ป้าปอนมาอยู่ก่อน ปลูกกล้วยไว้หลายกอ มีต้นกล้วยที่ตัดเครือแล้วเอามาเลื่อยตามขวางเป็นแผ่นหนาๆ ทำฐานกระทง ตัดใบตองมาให้เด็กๆ หัดพับจีบเป็นกลีบบัวติดกระทง ได้กระทงจากวัสดุธรรมชาติคนละใบเก็บดอกดาวเรือง เฟื่องฟ้าอย่างละนิดหน่อยใส่ประดับพอมีสีสัน กลางคืนมีเวทีแสดงการละเล่นและร้องเพลงที่กลุ่มเกื้อกูล เด็กๆ ที่เคยเร่ร่อน บัดนี้มีความสุขกินอิ่มนอนหลับ มีความรู้ติดตัว ได้ขึ้นไปแสดงความสามารถร้องรำทำเพลงและร้องเพลงพวงมาลัยที่ป้าปอนแต่งให้พวกเขาโดยเฉพาะด้วย ๑. (หญิง) เอ้อระเหยลอยมา ประนมมือวันทาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ๒. (ชาย) เอ้อระเหยลอยละล่อง เพ็ญเดือนสิบสองคืนลอยกระทง ๓. (หญิง) เอ้อระเหยลอยนที ณ ราตรีนี้ที่อาศรมวงศ์สนิท ๔. (ชาย) เอ้อระเหยลอยลม เพลินชมกระทงสีสดสว่าง ๕. (หญิง) เอ้อระเหยลอยเวียน คืนวันผันเปลี่ยนไปตามเวลา ๖. (ชาย) เอ้อระเหยลอยลม หวังไว้ไม่สมผมหวั่นหทัย ๗. (หญิง) เอ้อระเหยลอยระเริด เราถือกำเนิดในยุคสมัย ๘. (ชาย) เอ้อระเหยลอยละลิ่ว ยกมือนบนิ้วขอพรเทวา |