ตราไว้ในดวงจิต ตอน24

Posted on

ตอนที่ ๒๔ เพื่อนบ้านชอบของที่ระลึก

ที่มา : หนังสือ ตราไว้ในดวงจิต บันทึกเรื่องราวอาศรมวงศ์สนิทยุคบุกเบิก เขียนโดย ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล


นิสัยอยากได้คงจะเป็นลักษณะร่วมของคนโดยทั่วไป ที่สร้างปัญหาลำบากใจก็คืออยากได้ของคนอื่น ก็ที่เป็นของเราอยู่แล้วเราก็ไม่ต้องอยากได้ใช่ไหม ที่นี่เราพบเจอหลายเหตุการณ์ที่ทำให้งุนงงไม่รู้จะทำอย่างไร แต่พออยู่ไประยะหนึ่งก็พอจะหาทางออกได้

ทันทีที่มาอยู่อาศรมวงศ์สนิทคลอง ๑๕ นครนายกเราจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำเกษตรอันได้แก่ จอบเสียม มีด พร้า พลั่ว อย่างละ ๒-๓ ชิ้น เพราะเรามาเริ่มต้นใหม่ยังไม่มีเครื่องใช้ประเภทนี้มาก่อน คราวนี้เราก็เลยมีแต่ของใหม่ๆ น่าหยิบน่าใช้น่าทำงาน วันหนึ่งเราไปขอขุดกอไผ่ที่ฝั่งคลองด้านตรงข้ามเพื่อแยกมาปลูกในที่ของเราบ้าง ขุดเสร็จขนข้ามคลองกลับบ้าน ขนกันหลายเที่ยวแต่ลืมพลั่วไว้ที่ท่าน้าฝั่งตรงข้ามอันหนึ่ง รุ่งเช้าไปดูพลั่วอันนั้น หายไปแล้ว ใครน่าจะเป็นคนเอาพลั่วเราไป? มีคนจากสองบ้านที่ต้องใช้ท่าน้ำนั้นคือบ้านป้าแดงที่เราอาศัยอยู่ชั่วคราวในเวลานั้น กับอีกบ้านหนึ่งซึ่งก็เป็นเพื่อนบ้านสนิท เราไม่กล้าถามเกรงจะกลายเป็นการกล่าวหาแล้วอาจจะต้องเสียน้ำใจกันไป ไม่รู้จะทำอย่างไร คิดว่าถ้าเขาเก็บไปเขาก็ต้องถามว่าเป็นของใครหลงลืมไว้ ไม่มีใครมาใช้ท่าน้ำนั้นนอกจากคนกันเอง งานนี้เราก็เลยสูญพลั่วไป

ต่อมาขณะที่เรายังพักอยู่บ้านป้าแดงนั้น เงินของเราหายไป ๕๐๐ บาทนาฬิกาข้อมือหายเรือนหนึ่ง เรายิ่งไม่กล้าเอ่ยปากทั้งๆ ที่หายบนบ้านนั่นแหละเหตุผลก็เหมือนเดิมเกรงใจกลัวจะเสียน้ำใจกัน

ภายหลังไม่นานเราได้เห็นการแก้ปัญหาของชาวบ้านเมื่อเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกับเรา เรื่องมีอยู่ว่าฝั่งคลองตรงข้ามเราอีกมุมหนึ่งมีท่าน้ำของวัดอยู่ท่าหนึ่ง มีคนมาใช้ท่าน้ำนี้ประมาณ ๑๐ ครอบครัว เย็นวันหนึ่งพี่คำเจ้าของร้านค้าที่อยู่ติดกับท่าน้ำนั่นเองมาอาบน้ำแล้วลืมเข็มขัดนากไว้ ก็มีเพื่อนบ้านอีกคนเห็นเข้าแล้วเก็บกลับไปบ้านตัวเอง การเก็บไปนี้มีคนรู้เห็นหลายคนยกเว้นพี่คำรุ่งขึ้นพี่คำเที่ยวถามไถ่ว่าใครเก็บเข็มขัดไป คนที่เก็บทำเฉยไม่รู้ไม่ชี้ คนรู้เห็นกระซิบบอกใบ้พี่คำ พี่คำก็ตรงไปถามอย่างธรรมด๊าธรรมดา

“พี่เก็บเข็มขัดฉันไปเหรอ ขอคืนเหอะ”

ยายคนที่เก็บก็ลุกเดินกลับบ้านไปนำมาให้ …เท่านั้นเอง

เหตุการณ์ครั้งนั้นสะกิดใจเราว่า ชาวบ้านเขาคิดซับซ้อนหรือเปล่าเราไม่รู้แต่การแสดงออกของเขาไม่ซับซ้อน ผิดกับเราติดนิสัยคนเมือง ไม่เคยชินกับการแสดงออกตรงไปตรงมาว่าพอใจหรือไม่พอใจ พอคิดได้อย่างนี้ครั้งต่อๆ ไปเมื่อเกิดปัญหาคนมาหยิบของใช้โดยไม่บอกกล่าว เอาไปแล้วทำลืม เราก็ทวงถามหรือไปเอาคืนโดยบอกว่า

“นี่ของฉัน เอากลับแล้วนะ” หรือไม่ก็

“ฉันจะใช้เชือกแล้ว พี่หาราวตากผ้าใหม่ก็แล้วกันนะ” ก็เขาเล่นหยิบเอาเชือกดีๆ ของเราไปทำราวตากผ้าบ้านเขาหน้าตาเฉย

บ้านใกล้เรือนเคียงเห็นกันตลอดเดือนปี ทำให้เพื่อนบ้านรู้นิสัยซึ่งกันและกันดี เป็นที่กล่าวขานได้ว่าบ้านไหนใจกว้าง บ้านไหนใจดี บ้านไหนขี้เกียจขี้ขโมย ขี้งก ขี้เหนียว ชอบยืมของ ชอบติดเงิน ปากจัด อะไรทำนองนี้ บางครั้งเอามาพูดถึงนินทาลับหลังเป็นเรื่องสนุกสนาน บางทีก็พูดว่ากันต่อหน้าเลย แต่ที่แน่ๆ เขามองกันไม่ค่อยพลาดหรอก ดูกันมานานกว่าจะได้ข้อสรุป การรู้จักกันและกันดีเป็นกลไกควบคุมความปลอดภัยชุมชน และความสัมพันธ์ในรูปนี้แหละที่ขาดหายไปในสังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่ มิน่าเมื่อคนบ้านนอกมาอยู่ในเมืองจึงอึดอัดและแปลกใจว่า เขาอยู่กันยังไงนะบ้านติดกันยังไม่รู้ชื่อเลย

เราได้ยินกิตติศัพท์แม่ค้าร้านหนึ่งว่าขายของแพง + แล้งน้ำใจ ทั้งแม่ของเธอก็เป็นคนขี้งกอันดับหนึ่งของหมู่บ้าน ป้าปอนอยู่ตั้งหลายเดือนแต่ไม่ค่อยซื้อของ ทั้งประหยัดทั้งไม่ค่อยมีเงินซื้อ ก็เลยยังไม่ได้มีโอกาสเห็นตัวทั้งแม่และลูกสาว

วันหนึ่งในหน้าหนาวมีคุณยายคนหนึ่งมายืนร้องตะโกนขอซื้อปลาอยู่ฝั่งคลองด้านคลอง ๒๙ ตรงข้ามเรือนเสงี่ยมเสมอ ชาวบ้านรู้ว่าป้าปอนหาปลาได้เหลือกินจึงมักมาขอแบ่งซื้อไปทำกับข้าว ป้าปอนเอาปลาจำนวนหนึ่งใส่ถังลงเรือพายไปให้ยายแกเลือกซื้อ ปกติปลาตะเพียนซื้อขายกัน กก. ละ ๑๕ บาทของป้าปอนมีทั้งตะเพียน สร้อย กระสูบ ผสมกันไปเลยขายเพียง กก. ละ ๑๐บาท ยายแกเลือกไปบ่นไปว่าปลาตัวเล็กบ้างล่ะ คนละชนิดกันบ้างล่ะ เลือกไป๖-๗ ตัวหนักประมาณ ๖-๗ ขีดเราไม่มีตาชั่ง ใช้วิธีกะเอา ป้าปอนกะให้น้อยเข้าไว้ขายไป ๕ บาทตามอัตราครึ่ง กก. แกก็พอใจ พอตกลงราคาเสร็จยายแกก็หันไปหยิบปลาเล็กปลาน้อยอีก ๓-๔ ตัวที่แกเลือกออกตอนแรกด้วยเหตุผลว่าเนื้อไม่อร่อยไม่ชอบกินมาใส่ถุงหน้าตาเฉย พลางว่าสามสี่ตัวนี่แถมข้าก็แล้วกัน ป้าปอนเป็นงงตั้งตัวไม่ติด ตามไม่ทันกับกลยุทธ์ที่คาดไม่ถึง แต่เอาเหอะเคยมีคนสอนว่าจะคบคนขี้งกเราต้องใจกว้าง เลยยกปลาให้แกไป

ตกลงเที่ยวนั้นป้าปอนขายปลาที่อุตส่าห์ขยันไปดักตาข่ายมาหมดไปเกือบกิโลได้ตังค์มา ๕ บาทเท่านั้นเอง และด้วยความสงสัยตหงิดๆ รุ่งเช้าก็ลองไปซื้อของร้านที่ว่าขายแพงแล้งน้าใจแม่ขี้งก จริงดังคาดคุณยายอยู่ที่นี่เอง พิสูจน์สมใจแล้วกลับมาเล่าให้ลุงสมชายฟัง ได้หัวเราะครื้นเครง

บทเรียนราคาแพงนี้สอนให้รู้ว่า

“นอกจากเสียปลา ความอยากรู้ในเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องรู้ ทำให้เสียเงินซื้อของที่ไม่จำเป็นต้องใช้อีก” (ฮา!)