ตราไว้ในดวงจิต ตอน21

Posted on

ตอนที่ ๒๑ เด็กชายมุ่ยนักประดิษฐ์ เด็กชายไก่ผู้กำกับน้อยและงานรื่นเริง

ที่มา : หนังสือ ตราไว้ในดวงจิต บันทึกเรื่องราวอาศรมวงศ์สนิทยุคบุกเบิก เขียนโดย ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล


084ในยุคนั้นความเป็นศิลปินด้านอื่นๆ เด็กบ้านนอกไม่ค่อยมีโอกาสแสดงออก นอกจากร้องเพลงลูกทุ่งเท่านั้น เมื่อไม่ได้แสดงออกก็ไม่มีใครประจักษ์ความสามารถ แล้วก็ไม่ได้จัดให้ได้รับการฝึกหัดพัฒนาให้ฝีมือดียิ่งขึ้นต่อไปกิจกรรมที่ได้รับการยอมรับจะออกไปในทางการยิงนกตกปลา หาหนู หาบน้ำ ขุดดิน เพราะนี่เป็นเรื่องปากท้องย่อมต้องมาก่อน อย่างเจ้าหนูดำไม่มีความสามารถด้านเหล่านี้เลยถูกเหมาว่าเป็นเด็กปัญญาอ่อนทำอะไรไม่ได้เรื่อง ต่อเมื่อมาอยู่กับเราความสามารถด้านที่แกถนัดจึงได้สำแดง ยิ่งเมื่อเพื่อนป้าปอนลองให้วาดรูปหรือปั้นดินดำทำได้ดีจนน่าทึ่ง

เด็กชายมุ่ย ลูกป้าแดงเพื่อนบ้านใกล้ชิดของเราก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกตราหน้าว่าโง่เง่าสอบตกแล้วตกอีกจนครูเบื่อที่จะสอน มุ่ยเองก็เบื่อที่จะเรียนบอกว่าขอแค่จบ ป.๓ ได้ก็พอแล้ว แต่เมื่อแกมาเล่นกับเรา แกเอาดินเหนียว ไม้ไผ่ และวัสดุอื่นๆ เท่าที่แกหาได้ มาประกอบเป็นรถแทรกเตอร์ รถของแกสามารถแล่นได้ มีใบมีดตัดหญ้าและจอบตักดินที่ปรับระดับยกขึ้นลงได้เหมือนของจริง นี่หรือเด็กโง่ ผู้ใหญ่หลายคน (รวมทั้งป้าปอน) ยังประดิษฐ์ของอย่างแกไม่ได้เลย

เด็กชายไก่เป็นอีกคนหนึ่งที่เราพบความสามารถ ไก่เรียนชั้นประถม ๖พ่อแม่แยกกันไปแต่งงานใหม่ อยู่คนละทิศละทาง ฝากไก่และจอร์ชน้องชายให้อยู่กับพระที่วัดสันติธรรมราษฎร์บำรุง อยู่ฝั่งคลองตรงข้ามอาศรมวงศ์สนิท ชาวบ้านเรียกวัดคด ไก่ก็เป็นเช่นเด็กวัดทั่วไปยามว่างเอาแต่เที่ยวเตร่เกเร จนเหตุการณ์หนึ่งเราก็ได้พบความสามารถ

ก่อนถึงวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๒๙ อาศรมวงศ์สนิทเตรียมจัดงานฉลองวันขึ้นปีใหม่ให้เด็กๆ ได้สนุกสนานรื่นเริง ใช้สถานที่สนามหน้าโรงเรียนวัดสันติธรรมราษฎร์บำรุง โรงเรียนประจำหมู่บ้าน มีการละเล่นหลายอย่าง ไฮไลต์คือละครเวที อาก้อยกับอาวรรณเป็นนักศึกษาปีที่ ๑ คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ช่วยเขียนบทและฝึกซ้อมให้ล่วงหน้าสองวัน พอถึงวันจริงผู้กำกับสองคนนี้ติดเรียนมาไม่ได้ ตัวละครเด็กที่ซ้อมกันไว้ก็เบี้ยวไปสองคนต้องเอาคนใหม่เล่นแทน ไก่ก็เลยเข้ามากำกับเอง ทำเอาพวกเราทึ่ง เพราะไก่จำบทของทุกคนได้ และกำกับอย่างไม่เคอะเขินทั้งๆ ที่ไม่ได้เตรียมตัวสำหรับหน้าที่นี้มาก่อนและนี่เป็นการแสดงบนเวทีครั้งแรกของไก่และเด็กๆ ทุกคนที่นี่ ก่อนหน้านี้โรงเรียนไม่ได้จัดให้เด็กมีการแสดงออกทางนี้เลย อาสี่พ่องานครั้งนี้ชื่นชมไก่อย่างมากเอ่ยถึงอยู่หลายวัน

เรื่องจัดงานฉลองขึ้นปีใหม่ให้เด็กๆ ป้าปอนกับลุงสมชายทำตั้งแต่ปีแรกที่เรามาอยู่ที่คลอง ๑๕ ครั้งแรกฉลองขึ้นปี พ.ศ.๒๕๒๘ ความคิดเกิดจากเราเห็นว่าเด็กๆ ไม่มีงานรื่นเริงเลย ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลไหนๆ งานปีใหม่ของหมู่บ้านก็คืองานปิดวิกล้อมผ้าฉายหนัง หรือจ้างวงดนตรีมาเล่น ต้องเสียตังค์เข้าไปดู สถานที่จัดงานก็ไกลจากละแวกที่เราอยู่ถึง ๔ กิโลเมตร เป็นงานของผู้ใหญ่โดยแท้ เราก็เลยติดต่อให้เพื่อนที่เป็นเจ้าหน้าที่คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา (ศ.พ.พ.)ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เช่นเดียวกับอาศรมวงศ์สนิท ช่วยนำสไลด์ที่เป็นเรื่องราวสำหรับเด็กมาฉายให้เด็กชม และให้มีการร้องเพลง เล่นเกมส์ ปิดท้ายด้วยการกินถั่วเขียวต้มอาหารยามยากของเรา เราจัดกลางวันที่อาศรมของเรา เด็กที่มาร่วมมีราว ๑๐ คนเท่านั้น เป็นงานเล็กๆ แต่ทุกคนก็มีความสุข เลิกงานแล้วทยอยลงเรือที่เราพายส่งกลับด้วยความเบิกบานใจ

ในการจัดงานขึ้นปีใหม่ครั้งที่สอง พ.ศ.๒๕๒๙ พอเราบอกข่าวล่วงหน้าว่าจะมีการฉลองปีใหม่กันอีก เด็กๆ กระตือรือร้นมาก รับอาสาทำธุระจัดเตรียมการด้านโน้นนี้กันอย่างเต็มอกเต็มใจ อาสี่ซึ่งเป็นสมาชิกใหม่อาศรมฯ เป็นที่ปรึกษาของเด็กๆ ในการจัดงานครั้งนี้ ได้พยายามฝึกให้เด็กทำงานเป็นทีมและมีความรับผิดชอบ เด็กก็ทำได้ดีบ้างไม่ดีบ้างตามประสาเด็กที่ยังไม่เคยมีกิจกรรมมาก่อนแต่ส่วนใหญ่นับว่าดี

ปี ๒๕๒๙ นี้รูปงานเราใหญ่โตขึ้น จึงย้ายข้ามฝั่งไปจัดที่สนามโรงเรียนวัดสันติธรรมราษฎร์บำรุง โรงเรียนประจำหมู่บ้าน อยู่ตรงข้ามคนละฝั่งคลองกับอาศรมวงศ์สนิท ได้อาสาสมัครจากมูลนิธิโกมลคีมทองประมาณ ๒๐ คน มาช่วยเล่นดนตรีให้เด็กฟัง จัดเกมส์ให้เด็กเล่น ทีมงานห้องสมุดเคลื่อนที่นำโดยน้าต๋อยผู้ใจดีได้เอาหนังสือภาพสวยมาให้เด็กบ้านนอกได้อ่านจับต้องลูบคลำ เอากระดาษดินสอสีมาให้วาดรูปลองฝีมือ เอาหุ่นมือมาให้หนูๆ เชิดเล่นด้วย แล้วก็ละครเวทีที่ฝึกให้เด็กๆ ได้แสดงเอง

อาหารที่เลี้ยงในงานก็ยังคงเป็นถั่วเขียวต้มเจ้าเก่ายืนพื้น แต่ปีนี้มีขนมปังและคุกกี้จากร้านค้าในกรุงเทพฯ อนุเคราะห์มา มีน้ำกระเจี๊ยบแสนอร่อยผลิตผลของอาศรมวงศ์สนิทจากเมล็ดพันธุ์เริ่มต้นที่อาตู่และอาก้อยนำมาให้

การจัดงานรื่นเริงของเราถือหลักความสนุกสนาน เรียบง่าย ประหยัดและสร้างสรรค์ เราอยากเห็นเด็กๆ ร่าเริง สุขภาพดี เหตุผลหนึ่งที่เลี้ยงเป็ดไข่เป็ดเนื้อ ไก่ และปลูกผัก ถ้าเป็นไปได้จะพยายามปลูกถั่วเขียว ถั่วเหลือง เพราะเราอยากให้ผลิตผลเหล่านี้เป็นอาหารที่มีคุณค่าราคาถูกสำหรับเด็กๆ ด้วย เด็กบ้านนอกส่วนใหญ่แม้แข็งแรงมีพลัง เพราะได้ฝึกการใช้แรงกายมาแต่เล็กแต่น้อยก็ตาม แต่ก็จะมีรูปร่างเล็ก ผอมเกร็ง เหมือนคนเติบโตไม่เต็มที่ คงเป็นเพราะได้รับอาหารที่มีประโยชน์ไม่เพียงพอมาตั้งแต่เล็กจนโต ผิดกับเด็กในเมือง ยิ่งถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่พ่อแม่เอาใจใส่เรื่องการเลี้ยงดูเป็นพิเศษแล้วก็จะยิ่งอ้วนท้วนสมบูรณ์ ได้กินนมเนย เนื้อสัตว์ ขนม ผลไม้อย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่โอกาสและความจำเป็นในการใช้พลังแรงงานน้อยกว่าเด็กบ้านนอก

ความประทับใจที่เรามีต่อเพื่อนตัวเล็กๆ เหล่านี้ นอกเหนือจากความรับผิดชอบต่อตัวเองและครอบครัวของเขาแล้ว ที่สำคัญคือความมีน้ำใจอย่างเปี่ยมล้นที่เขามีให้เรา เวลาพบกับเราเด็กๆ มักล้วงกระเป๋าเสื้อหรือกางเกงหยิบเอาผลไม้พวกฝรั่งขี้นก มะยมเปรี้ยวจี๊ด มะกอก มะดัน มะเฟือง ที่เก็บจากบ้านหรือขอจากบ้านคนอื่น ออกมาแบ่งปันให้เราได้ลิ้มชิมรสด้วย บางทีก็เก็บมะอึกจากบ้านมา ๓–๔ ผล บอกว่าให้ป้าปอนใส่น้ำพริก พอถึงหน้าหนาวก็เก็บดอกสะเดามาให้ลวกจิ้มน้ำปลาหวานกินกับปลาดุกย่าง

บางครั้งเราบาดเจ็บ ถูกแตนต่อย ตะขาบกัด เด็กจะกุลีกุจอวิ่งไปเอายาหรือแนะวิธีป้องกันสัตว์ร้ายตามประสบการณ์ที่แกได้เห็นผู้ใหญ่ทำ เวลาใดที่เราขาดเพื่อน แกก็ยินดีมาอยู่ด้วย ทั้งมีความเสียสละอย่างกล้าหาญเมื่อถึงเวลาจำเป็นเด็กๆ รักและคอยเอาใจใส่ห่วงใยในความเป็นอยู่ของเรา แนะนำหลายอย่างที่คนมาจากเมืองอย่างเราไม่รู้ ทำให้เราดำเนินชีวิตประจำวันง่ายขึ้น

นั่นไง เสียงเจ้าเอกอายุ ๔ ขวบ กับเจ้าเป้อายุ ๓ ขวบ กำลังเล่นกองฟางบนลานนวดข้าวตะโกนข้ามฝั่งคลองมาเชียว

“ป้าปอนกำลังทำไร ?”

“ลุงสมชายไปไหน ?”