ตอนที่ ๓๑ อำลา-อาลัยที่มา : หนังสือ ตราไว้ในดวงจิต บันทึกเรื่องราวอาศรมวงศ์สนิทยุคบุกเบิก เขียนโดย ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล |
ป้าปอนเข้ามาบุกเบิกอาศรมวงศ์สนิทเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ มีเพื่อนร่วมคณะในเดือนแรก ๗ คนทั้งป้าปอน เดือนที่สองเหลือ ๓ คน คือลุงสมชาย ป้าปอน และคุณพรหมก่อนขึ้นปีที่สองก็เหลือ ๒ คน คือลุงสมชายกับป้าปอนต่อมาก็มีอาสาสมัครบ้าง สมาชิกประจำบ้างทยอยเข้าทยอยออกอีก ๔-๕ คน พอขึ้นปีที่สี่สมาชิกประจำก็เหลือ ๒ คน คือป้าปอนกับเด็กชายปูนอายุยังไม่ถึงขวบ เพราะลุงสมชายพบว่าวิถีชีวิตในชนบทไม่สอดคล้องกับความถนัดและความชอบก็ได้ออกเดินทางเพื่อแสวงหาอีกครั้ง ป้าปอนอยู่กับน้องปูนโดยลำพังหลายเดือน แต่เราก็ดำเนินชีวิตเป็นปกติ ป้าปอนเลี้ยงลูกด้วยทำงานด้วยครั้งหนึ่งหลวงพี่ประชาขึ้นมาจากวัดสวนโมกขพลารามเลยมาเยี่ยมเรา เห็นแม่ลูกอยู่กันตามลำพังที่กระท่อมใบจากหลังน้อยริมคลอง ๑๕ ไม่ใช้ไฟฟ้า ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวก ไม่มีหลักประกันความปลอดภัย และดูไม่มีอนาคต ท่านเป็นห่วงมาก ถึงกับออกปากว่า “ปอน ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ย้ายออกไปเถอะนะ ไม่มีใครตำหนิหรอก” ป้าปอนทบทวนแล้วก็เห็นเหมือนท่าน แต่พอมองหาอุปสรรคที่จะขัดขวางให้เราอยู่ไม่ได้ ก็หาไม่เจอ ก็เลยอยู่ต่อไป หลังจากนั้นก็มีสมาชิกอาศรมฯ ที่เข้ามาขออยู่ชั่วคราวเป็นเดือนอย่างคุณแหวว เป็นผู้หญิง เพื่อความปลอดภัยก็ให้พักที่เรือนรองใกล้กับป้าปอน อาศรมฯไม่ต้องอุดหนุนการเงิน คุณแหววขอเพียงที่พักและพื้นที่ปลูกต้นไม้เล็กๆ น้อยๆ และขอแยกครัวทำกินเฉพาะตัวเองกับรับรองเพื่อนตัวเองที่แวะมาเยือน นับเป็นครั้งแรกที่มีการแยกครัว ปกติอาศรมใช้หลักร่วมทุกข์ร่วมสุขกินข้าวครัวเดียวกันมาตลอด ป้าปอนยอมผ่อนปรนให้เพราะให้โอกาสคนที่อยากมาลองวิถีชีวิต เวลาอาศรมมีแขกสักคนสองคนที่มาโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้าและมักจะเดินทางมาถึงตอนเย็นๆ ป้าปอนยุ่งกับการดูแลลูก ไม่สะดวกรับรอง ก็ฝากให้ทานกับคุณแหววคนมาพึ่งพาอาศรมบางทีก็ไม่ได้เตรียมใจไว้ก่อนว่าจะต้องเอื้อเฟื้อดูแลคนอื่นด้วยจึงรู้สึกว่าถูกรบกวน ไม่นานคุณแหววก็ขอลา สมาชิกอีกรายคือ ลุงนันท์ ลุงนันท์มาเพื่อหาที่พักพิงและทดลองวิถีชีวิตป้าปอนให้ช่วยดูแลต้นไม้ ช่วยทำงานทั่วๆ ไป ป้าปอนกับน้องปูนพักที่เรือนแรกจัดให้ลุงนันท์พักที่เรือนเสงี่ยมเสมอ แต่มากินอาหารที่ครัวป้าปอน โดยจัดให้ลุงนันท์กินระหว่างที่ป้าปอนป้อนข้าวน้องปูน เสร็จแล้วก็ให้ช่วยดูแลน้องปูนให้ป้าปอนได้กินข้าวแบบสบายๆ บ้าง ช่วงที่ลุงนันท์มาอยู่เราได้อาสาสมัครเข้ามาคนหนึ่งคืออาจารย์สังศิต พิริยะรังสรรค์ อาจารย์สังศิตกำลังเรียนปริญญาเอกที่ประเทศเยอรมนี ใช้เวลาระหว่างกลับไทยชั่วคราวมาอยู่ที่อาศรมวงศ์สนิท ทำงานร่วมกับลุงนันท์ เป็นอาสาสมัครที่น่ารักมากอีกคนหนึ่ง วันหนึ่งทั้งสองหนุ่มพายเรือข้ามคลองไปซื้อข้าวสารที่ร้านค้าชุมชนตรงข้ามอาศรม ข้าวสารครึ่งกระสอบหนักประมาณ ๓๐ กก. สองหนุ่มช่วยกันยกหิ้วอย่างทุลักทุเล สาวชาวบ้านแม่ลูกหนึ่งแต่ยังเป็นสาวสวยชื่อจัน ลูกยายจ้อยคนดูแลร้านค้าเห็นเข้า จะด้วยความมีน้ำใจหรือรำคาญก็ไม่ทราบได้ ตรงเข้ามาคว้ารวบปากกระสอบข้าวหนักอึ้งนั้นเหวี่ยงขึ้นบ่า เดินอ้าวๆ จากร้านค้ามาถึงท่าน้ำ แล้วก็เหวี่ยงกระสอบข้าวโครมลงไปในเรือพายของเรา แล้วก็เดินกลับตัวเบายังกะเพิ่งแบกกระสอบนุ่น ทำเอาสองหนุ่มปัญญาชนมองตาค้างและสุดเขินพอพายเรือกลับมาฝั่งอาศรมฯ ก็เอาข้าวขึ้นเก็บแล้วมานั่งหัวเราะกัน ว่าสาวชาวบ้านนี่แข็งแรงจริงๆ ถ้าหากได้มาเป็นเมียแล้ววันไหนทำให้เธอโกรธ แม่เจ้าประคุณคงจับเราหักคอเป็นแน่แท้ ฮ่า ฮ่า ฮ่า แค่คิดก็กลัวแล้ว ลุงนันท์ช่วยงานอยู่สองสามเดือนก็จากไปตามเส้นทางของตน หลายเดือนต่อมาอาศรมฯ ก็ได้สมาชิกใหม่อีกคน คือโหน่ง ปิยพันธุ์ จรรยา โหน่งคงรู้จักอาศรมวงศ์สนิทและป้าปอนจากคำบอกเล่ามาก่อนพอสมควร จึงมาอย่างมั่นใจ คือสะพายเป้เสื้อผ้าเต็มพิกัดมาเลยพร้อมกีตาร์ ๑ ตัว แม้ป้าปอนแนะนำว่าลองอยู่ไปสักระยะค่อยตัดสินใจ โหน่งก็ไม่แสดงความคิดเห็นอะไร นอกจากแสดงท่าว่าไม่เปลี่ยนใจ ป้าปอนรู้ตัวว่าไม่ค่อยมีเวลาดูแลสมาชิกอื่นเพราะต้องดูแลตัวเองไปทำงานไปเลี้ยงลูกไปด้วย ก็พาโหน่งเดินดูบริเวณโดยรอบตั้งแต่บ่ายแรก แนะให้รู้แหล่งอาหาร การงาน จะได้หากิน หาทำ ไม่ต้องคอยป้าปอน ลุงสมชายกับป้าปอนปลูกไผ่ตงไว้ ๑๐๐ กอ ตามทางเดินในอาศรมฯ ไผ่ออกหน่ออวบอ้วน ป้าปอนเก็บมาทำอาหาร บ้างก็ดองเก็บไว้กินฤดูแล้ง ก็บอกให้โหน่งทำบ้าง หรือจะเก็บขายก็ได้ โหน่งก็เก็บมาเฉพาะวันที่ไปกับป้าปอนแล้วไม่ไปเก็บอีกเลย โหน่งเป็นคนพูดน้อย มีน้ำใจ ขี้เกรงใจ ไม่ขยัน ไม่กระตือรือร้น ทำงานเฉพาะแต่ที่ป้าปอนมอบหมาย แต่มีความซื่อสัตย์และเคารพรักและยินดีช่วยเหลือป้าปอนทุกอย่างที่ขอหรือโหน่งเห็นว่าต้องช่วย สิ่งที่โหน่งทำได้ดีและป้าปอนไว้วางใจมากคือทำอาหารและดูแลน้องปูน จึงจัดให้โหน่งพักห้องเล็กที่เคยเป็นห้องครัวบนเรือนแรกนั่นเอง ครัวของเราย้ายไปที่ชานหลังบ้านที่ต่อเติมเพิ่มพื้นที่ไว้นานแล้ว น้องปูนเมื่อเป็นทารกก็เป็นภาระให้ต้องดูแล ภาระในความหมายของภารกิจที่ต้องทำเพราะทารกดูแลตัวเองไม่ได้ มิได้หมายความว่าเป็นงานหนักที่ไม่อยากทำ แต่เวลาแห่งภาระดำรงไม่นาน พออายุสัก ๒ ขวบก็ทำอะไรได้เองเยอะแล้ว เลยกลายมาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข ทำงานด้วยกัน เล่นด้วยกันร้องเพลง อ่านหนังสือ ล้อเล่น ดูแลกันและกัน วันหนึ่งตอนน้องปูนอายุ ๓ ขวบกว่าเห็นแม่ทำงานง่วนก็บอกแม่ว่า “น้องปูนจะชงกาแฟให้แม่ ใส่น้ำร้อน ใส่น้ำตาล…” ป้าปอนดื่มกาแฟดำ ได้ยินลูกรักอยากทำให้แม่ก็ดีใจ แต่พอลูกจารนัยต่อไปก็ชักไม่มั่นใจว่าลูกพูดจริงหรือพูดเล่น ลูกชงเป็นจริงหรือเปล่าเนี่ย “ใส่น้าส้มสายชู ใส่เกลือ พริกไทย…” พูดพลางสายตาก็สอดส่ายไปตามเครื่องปรุงบรรดามีในครัว เอาล่ะๆ ลูกอยากทำให้แม่ก็ชื่นใจแล้วค่ะ กาแฟสูตรของลูกเก็บไว้ก่อนก็ได้นะคะ พ.ศ.๒๕๓๓ น้องปูนอายุ ๔ ขวบ อาศรมวงศ์สนิทอายุ ๖ ขวบ เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ก้าวใหม่ของอาศรมวงศ์สนิทก็มาถึง อาศรมวงศ์สนิทเกิดขึ้นด้วยความมุ่งหมายของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ที่อยากให้มีชุมชนในเนื้อหาใหม่ต่างไปจากกระแสหลักของสังคมบริโภคนิยมในขณะนั้น ให้เป็นชุมชนที่พึ่งตนเองได้และมีหลักธรรมเป็นพื้นฐาน เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการออกจากกระแสหลัก และเป็นที่ทดลองวิถีชีวิตตามอุดมคติที่ปรารถนา ทั้งคาดหวังว่าจะเป็นชุมชนที่รับใช้สังคมเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในทางสันติสุข เมื่อป้าปอนมาอยู่และนำการสร้างที่นี่ ป้าปอนไม่ถนัดการสร้างชุมชนสิ่งที่ทำจึงเป็นเพียงการหารูปแบบวิถีชีวิตที่ปรารถนา พยายามพึ่งตนเองทางด้านปัจจัยสี่ ทัศนคติ และจิตวิญญาณ และเอื้อเฟื้อให้ผู้ที่สนใจได้มาร่วมทดลองวิถีด้วยกัน ผลที่เกิดขึ้นนอกจากได้รูปแบบและเนื้อหาวิถีชีวิตแล้ว ก็ได้พื้นที่ที่จะเป็นชุมชน คือจากที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ก็กลายเป็นที่มีบ้าน มีคน มีสวนมีพื้นที่ ถนนหนทาง แหล่งน้ำ ฯลฯ เป็นฐานให้ต่อเติมกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ อีก ๒ ประการคือชุมชนที่ปรารถนา และการทำกิจกรรมรับใช้สังคม มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป โดยอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จึงได้เริ่มจัดผู้ที่มีศักยภาพในการสร้างชุมชนใหม่ และผู้วางรากฐานอาคาร สิ่งก่อสร้างเข้ามา โครงการและผู้คน แรงงาน ไหลบ่าเข้ามาจนป้าปอนปรับตัวไม่ทัน รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นสิ่งแปลกปลอมหรือส่วนเกิน ผักที่ปลูก ปลาที่เลี้ยง ถูกหยิบฉวยไปอย่างถือวิสาสะจากแรงงานก่อสร้างโดยไม่คำนึงว่าจะเหลืออะไรไว้ให้เราบริโภคขยะเกลื่อนมาถึงบ้านพัก ที่สำคัญดูเหมือนจะไม่มีพื้นที่สำหรับป้าปอนอีกต่อไปไม่ว่าการงานหรือวิถีชีวิต ในช่วงที่ความรู้สึกใกล้เคียง “จนตรอก” อาจารย์สุลักษณ์หาทางออกให้โดยแนะนำว่ามีพื้นที่อีก ๒ แห่งที่ป้าปอนอาจจะสนใจอยากร่วมงานด้วย คือ ๑. โรงเรียนหมู่บ้านเด็กที่จังหวัดกาญจนบุรี หรือ ๒. โรงเรียนวิถีพุทธและเกษตรกรรมธรรมชาติ ซึ่งกำลังจะเริ่มดำเนินการที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยการสนับสนุนจากโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง ป้าปอนตัดสินใจทันทีที่อาจารย์พูดจบ และเรียนอาจารย์ว่าป้าปอนคงไม่มีศักยภาพพอที่สอนหรือดูแลนักเรียนโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ส่วนพื้นที่ที่สองนั้นป้าปอนอาจทำได้ในส่วนของเกษตรกรรมธรรมชาติ จึงขอสมัครใจไปร่วมกับโครงการโรงเรียนวิถีพุทธและเกษตรกรรมธรรมชาติของโครงการสมุนไพร ซึ่งป้าปอนคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่อยู่แล้ว นั่นก็คือคุณสุพจน์ อัศวพันธนกุล, คุณรสนา โตสิตระกูล, คุณธวัชชัย โตสิตระกูล, คุณโอภาส เชฎฐากุล และเจ้าหน้าที่อื่นๆ เกือบทุกคน เมื่อตัดสินใจแล้วป้าปอนก็เก็บข้าวของทันที เช่นเดียวกับเมื่อแรกจะมาอยู่ก็ตัดสินใจรวดเร็วไม่ลังเล ครั้งโน้นยื่นใบลาออกจากราชการทันทีที่ตัดสินใจเลือกวิถีชีวิตใหม่ จำได้ว่าเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๒๗ ที่ไปพบอาจารย์สุลักษณ์เพื่อแจ้งความจำนงว่าจะร่วมทำชุมชนทวนกระแสตามที่อาจารย์ดำริไว้ อาจารย์บอกว่าอย่าเพิ่งลาออกจากราชการนะ รอให้หาที่ดินได้เสียก่อน ป้าปอนเรียนท่านว่าลาออกเรียบร้อยแล้วค่ะ อาจารย์ก็เมตตามากเลยรีบหาพื้นที่ให้ได้ลงมือทำในสองสามเดือนถัดมา หาทุนรอนมาสนับสนุนและดูแลทุกข์สุขโดยตลอด เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๓๓ ป้าปอนและน้องปูนก็ย้ายออกจากอาศรมวงศ์สนิท ไปดำเนินชีวิตในสถานที่ใหม่ในอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทราพร้อมกับแยกทางกับลุงสมชายซึ่งไปทำธุรกิจในกรุงเทพมหานครก่อนนี้แล้วเหลือไว้เพียงมิตรภาพที่ดีต่อกัน ลุงสมชายกลับเมืองกรุง ขณะที่ป้าปอนเดินหน้าลึกเข้าไปในป่า “บรรพบุรุษ บุพการี ญาติพี่น้อง ได้ให้กำเนิด เลี้ยงดูและวางรากฐานร่างกาย จิตใจ และคุณธรรม” “อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้เสริมเติมอุดมคติ” “อาศรมวงศ์สนิททำให้ได้ค้นพบจิตวิญญาณ และพัฒนาศักยภาพที่ซ่อนเร้นในตัวตน” “ขอบคุณทุกชีวิต ทุกสิ่งแวดล้อม ทุกอณูของอากาศและหยดน้ำ ที่ได้สร้างฉันขึ้นมา” “ฉันสร้างอาศรมวงศ์สนิท อาศรมวงศ์สนิทสร้างฉัน” “อาศรมวงศ์สนิท สถิตไว้ในดวงใจ” |