อาศรมวงศ์สนิท ชุมชนแห่งการเรียนรู้ความหมายของชีวิต
บนพื้นที่ 34 ไร่ 2 งาน บริเวณคลอง 35 ถ.รังสิต-องครักษ์ คือที่ตั้งของ อาศรมวงศ์สนิท ชุมชนเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันสมบูรณ์ มีแนวคิดของการเรียนรู้ชีวิตและจิตวิญญาณอันเรียบง่าย ด้วยพลังของบรรดาผู้คนที่อยู่ร่วมกันในวิถีแห่งความสงบ โดยปัจจุบันมีหัวเรือใหญ่อย่าง พี่มณฑา จั่นเพชร คอยดูแลทุกๆ คนมานานกว่า 21 ปีและวันนี้พี่มณฑาก็นำเราข้ามคลองสายเล็กๆ เพื่อมาทำความรู้จักกับที่นี่และรู้จักกับตัวเราเองให้มากขึ้นกว่าเดิม
ชุมชนทางเลือกเพื่อการเรียนรู้ชีวิต
แรกเริ่มอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ท่านเป็นนักคิด นักเขียน ท่านมีความคิด ความฝัน อยากจะมีพื้นที่ให้คนเปลี่ยนแปลงตนเอง ให้คนหนุ่มสาวมีวิถีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ และให้มีสถานที่สำหรับนักกิจกรรมที่ทำงานเหนื่อยล้าได้มีที่พักและเป็นที่แสวงหาความรู้เพิ่มเติม
ปี 2527 มูลนิธิเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป ได้รับบริจาคที่ดินจำนวน 34 ไร่ 2 งาน จากทายาท ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท และหม่อมเสมอ สวัสดิวัตน์ คือ ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน์ จึงได้ตั้งชื่อว่า อาศรมวงศ์สนิท เพื่อเป็นเกียรติแก่ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์
ปี 2531 องค์กรศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือองค์การยูเนสโก ประกาศให้พระยาอนุมานราชธนเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม ทางมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป จึงสร้างอนุสรณ์สถานพระยาอนุมานราชธนขึ้น ณ อาศรมแห่งนี้
ปี 2559 ปัจจุบันอาศรมวงศ์สนิทเป็นศูนย์กิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมทางเลือก มีสัณฐาคารสำหรับประชุมสัมมนาและทำสมาธิภาวนา พร้อมทั้งเรือนพักใหญ่น้อยที่เรียบง่าย สำหรับผู้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมเกี่ยวกับเกษตรธรรมชาติและอื่นๆ ได้พักอาศัย
ปรับและเปลี่ยนคือจุดเริ่มต้น
โมเดลของเราคืออยากทำให้ที่นี่เป็นชุมชนทางเลือก ชุมชนทวนกระแส แต่เราเริ่มต้นจากการไม่มีรูปแบบก็ต้องไปเรียนรู้จากชุมชนอื่นๆ เพื่อทดลองใช้ โดยเรายึดรูปแบบอหิงสานั่นคือการไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งระบบของการอยู่ร่วมกันต้องเริ่มจากการลดเรื่องยศ อำนาจ เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นชุมชนอย่างแท้จริง ดังนั้นคนที่มาอยู่ทั้งศิลปิน นักคิด นักเขียน ชาวนา หรือชาวบ้านก็ต้องปรับและเปลี่ยนความคิดตัวเองไปพร้อมกัน หลังจากนั้นทุกคนก็จะได้รับมอบหมายงาน เพื่อในที่สุดแล้วสามารถออกจากที่นี่แล้วไปรับใช้สังคมได้ต่อไป
เบียดเบียนธรรมชาติให้น้อยที่สุด
เราตั้งโจทย์ว่าเราจะอยู่กับธรรมชาติโดยเบียดเบียนธรรมชาติให้น้อยที่สุด จะเห็นว่าสิ่งก่อสร้างของอาศรมฯ จะทำจากไม้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาคารไม้ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง เพราะจะโดนรบกวนจากปลวก เชื้อรา และอื่นๆ เรามีแปลงผักปลอดสารพิษป้อนเข้าครัวของเราเอง ซึ่งรู้กันอยู่แล้วว่าการปลูกผักแบบไร้สารจะดีต่อสิ่งแวดล้อมและตัวผู้บริโภคเอง และตอนนี้เราก็พยายามเรียนรู้ในเรื่องของการช่วยลดพลังงานมากขึ้น ชัดๆ คือเรามีห้องประชุมติดแอร์ แต่เราจะผลิตไฟของเราเองด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์
มาแล้วต้องได้อะไรกลับไป
งานที่นี่มีเยอะมาก ทั้งงานสำนักงานและงานจิปาถะอื่นๆ ขึ้นอยู่กับว่าคนที่มาเขาอยากทำอะไร ก็จะมาคุยกัน ตกลงกันก่อน เราอยากให้คนที่มาแล้วได้อะไรจากที่นี่ไป อาจจะเป็นงานครัว งานเกษตร อย่างหนุ่มสาวนักศึกษาเข้ามาเพราะสนใจการใช้ชีวิตอยู่แบบชาวบ้าน เราก็จะแบ่งงานให้ไปทำ บางคนสับสนกับชีวิตก็มาพูดคุยแลกเปลี่ยน ให้เวลาสำหรับการพักผ่อน มีหนังสือให้อ่าน โชคดีของที่นี่ที่มีคนหลากหลาย อย่างบางครั้งก็มีพระคุณเจ้ามานำสวดมนต์ ภาวนา พิจารณาชีวิต ก็สร้างความเข้มแข็งให้ได้ทั้งตัวบุคคลและชุมชน
ศีล 5 ข้อตกลงแห่งสติ
ในอดีตคนที่เข้ามาที่นี่อาจมีความสนใจหรือความคิดคล้ายกันคืออยากมาอยู่กับธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาไม่ได้สนใจเรื่องของธรรมชาติ แต่มาเพื่ออยากทำงานเพื่อสังคม งานอาสาสมัครและบางส่วนมาเพื่อค้นหาตัวเอง ต่างคนต่างเลือกทางใดทางหนึ่ง แต่เมื่อมาอยู่ร่วมกันเราก็มีข้อตกลงร่วมกันและสืบต่อกันมาคือ การอยู่โดยรักษาศีล 5 โดยเฉพาะข้อ 5 ที่เต็มไปด้วยข้อเสีย ส่งผลให้เกิดการทะเลาะวิวาทและอื่นๆ ตามมา โดยข้อดีของการรักษาศีล 5 คือเราจะมีสติในทุกๆ การกระทำ เป็นเรื่องของการพัฒนาภายใน ถ้ายิ่งรักษาอย่างจริงจังก็จะได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ค้นพบตัวเองจากการเรียนรู้
อยู่ที่นี่เรามีความสุขทุกวัน เพราะหนึ่งเรารู้สึกว่าที่นี่คือบ้าน สองคือเราอยู่แล้วมีความสุข สามคืออยู่แล้วได้เรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งการเรียนรู้นี้มาจากหลายทาง ทั้งการใช้ชีวิต การทบทวนตัวเอง การอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน รวมไปถึงแขกที่มาพัก ได้แชร์ประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเรื่องราว เช่น บางคนมีความรู้เรื่องผัก เขาก็จะบอกว่าผักตัวนี้ช่วยต้านโรคอะไร ส่วนที่ได้กับตัวเองมากๆ คือทำให้เรารู้ว่าเราเป็นคนอย่างไร และเราชอบทำอะไร นั่นคือเราเป็นคนขี้เกียจและเราชอบปลูกผัก กิจกรรมปลูกผักเพิ่มความขยันให้เรา เพราะมันคืองานที่ต้องทำ ส่วนอีกสิ่งที่ได้รับคือความกล้าที่จะพูดในสิ่งที่คิดมากขึ้น ไม่อมพะนำ ซ่อนเร้น ทำให้รู้สึกอิสระถึงการแสดงความเป็นตัวตนออกมา
ข้อคิดใช้ชีวิตแบบอาศรมวงศ์สนิท
เรื่องของการใช้ชีวิต มันไม่มีอะไรตายตัว แต่เราควรรู้ว่าเราจะใช้ชีวิตของตัวเองแบบไหน หลายๆ คนเข้ามาที่อาศรมฯ ก็พบว่าที่นี่ไม่ตอบโจทย์ เขาชอบสังคมเมืองมากกว่า ขอมาเรียนรู้ชั่วคราว แล้วนำความรู้ไปขับเคลื่อนสังคม แบบนี้ก็ได้ อย่างเราชอบอยู่กับธรรมชาติ แต่การอยู่แบบนี้ก็ต้องมีคำตอบให้ตัวเองว่าจะช่วยขับเคลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร ตัวเรามีประโยชน์อย่างไร เราก็มองถึงวิถีการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เช่น การปลูกผักปลอดสารพิษรับประทาน เมื่อมีคนมาที่อาศรมฯ ก็จะได้กินผักไร้สารเคมี ได้เรียนรู้เรื่องการผลิตอาหาร ตัวเราก็ดีใจทีได้เป็นส่วนหนึ่งตรงนี้ เพราะเพียงแค่รู้คุณค่าในสิ่งที่กำลังทำก็ทำให้ชีวิตมีความหมายแล้ว