ตราไว้ในดวงจิต ตอน30

Posted on

ตอนที่ ๓๐ เรียนรู้กับลูกน้อย

ที่มา : หนังสือ ตราไว้ในดวงจิต บันทึกเรื่องราวอาศรมวงศ์สนิทยุคบุกเบิก เขียนโดย ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล


132

ไม่ค่อยจะได้ยินว่าพ่อแม่เรียนรู้จากลูก ถ้าจะมีบ้างก็เมื่อลูกเป็นผู้ใหญ่เรียนจบทำงาน และรอบรู้มากกว่าพ่อแม่ลูกที่ยังแบเบาะคงไม่มีใครคิด แต่ป้าปอนได้เรียนรู้มากมาย อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่ สิ่งที่ป้าปอนประจักษ์นั้นคนอื่นอาจจะรู้มาก่อนแล้ว แต่สำหรับป้าปอนการได้ประสบการณ์ตรงมีผลด้านบวกที่ส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพทั้งตัวเองและลูกทีเดียว

เมื่อลูกปูนอายุได้ ๒ เดือนครึ่งสามารถพลิกคว่ำได้เองเป็นครั้งแรก เมื่อทำได้ครั้งหนึ่งก็พยายามทำอีกวันละหลายครั้ง บางครั้งทำได้โดยง่าย บางครั้งพยายามจนน่าเห็นใจ ในทางวิชาการได้อธิบายการพลิกคว่ำของเด็กทารกว่าเป็นสัญชาตญาณของการดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดแต่สำหรับป้าปอนมองอย่างทึ่งมาก คิดว่าไม่มีใครสอนทารกให้พลิกคว่ำ แต่ทำไมเขาทำ? เขารู้วิธีได้อย่างไร เมื่อเขาทำได้แล้วทำไมเขาจึงพยายามทำอีก?

การพลิกคว่ำของทารกมีความหมายต่อพัฒนาการของเด็กมาก ทำให้เขาเคลื่อนที่ได้ เริ่มต้นโดยการคืบ ต่อไปก็คลาน แล้วก็ลุกนั่ง เกาะยืน เดินไต่ไปตามอะไรที่ให้ยึดเกาะได้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ ได้ไปสำรวจซอกมุมต่างๆ เพิ่มข้อมูลลงในสมองน้อยๆ ของเขา ขณะเดียวกันก็เพิ่มงานให้คนเลี้ยงที่จะต้องคอยระวังการพลาดพลั้งบาดเจ็บ ลูกปูนตัวโตแข็งแรงตั้งแต่แรกเกิดจึงมีพัฒนาการทางกายเร็ว สามารถพลิกคว่ำได้เร็ว จึงมีโอกาสเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาสมองได้เร็วตามมา วันที่คว่ำได้ครั้งแรกเราอยู่กันที่บ้านหมอสัมพันธ์ (น้องชายป้าปอน) ที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดกาญจนบุรี ป้าปอนวางลูกนอนหงายบนโต๊ะกลางบ้านแล้วไปทำโน่นนี่ (ช่วงนั้นแม่ของป้าปอนป่วยอยู่ที่บ้านนี้ เราช่วยกันดูแลแม่) ครั้นหันกลับมาลูกนอนคว่ำและพยายามคืบขยับ เห็นเค้าว่ามีโอกาสตกโต๊ะ ก็ไปจับให้นอนหงาย ไม่กี่อึดใจก็คว่ำได้อีก คนเป็นแม่รู้เลยว่าความซนกำลังมาถึงแล้ว ไอ้ที่จะวางใจว่าปล่อยให้นอนคนเดียวแล้วเราไปเที่ยว (ทำโน่นทำนี่) เป็นไปไม่ได้ซะแล้ว ต้องหาวิธีการใหม่ล่ะ

เมื่อลูกอายุ ๕ เดือนนั่งได้และคลานเก่งแล้ว ระหว่างป้าปอนปลูกต้นไม้ที่ลานหน้าเรือนแรกได้ให้ลูกอยู่ที่ระเบียงหน้าบ้าน โดยนำโต๊ะเตี้ยมาวางปิดบันไดไม่ให้ลูกลงมา เผลอแผล็บลูกก็ขึ้นไปนั่งอยู่บนโต๊ะ อะฮา! คราวนี้ถ้าตกล่ะก็สูงกว่าบันได ๕ ขั้นอีก เพราะเพิ่มความสูงของโต๊ะเข้าไปด้วย การให้อยู่ในที่ปลอดภัยวิธีนี้ก็ใช้ไม่ได้อีกละ เด็กๆ นี้ช่างมีความคิดสร้างสรรค์ในการหาอันตรายใส่ตัวอย่างไม่มีขีดจำกัด หลานชายญาติคนหนึ่งตอนอายุ ๔ ขวบ เคยยืนชะเง้อเอาเหล็กเส้นยาวเกือบเมตรที่ปลายโค้งงอพยายามแหย่เข้าไปในปลั๊กไฟที่เขาติดตั้งสูงๆให้พ้นมือเด็ก

การเฝ้าดูพัฒนาการการเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกสำหรับแม่ปอน วันหนึ่งลูกปูนร้องเพราะหิวนม แม่ก็ทำเป็นไม่เข้าใจ ถามว่าลูกจะเอาอะไรเหรอครับ ลูกก็จำใจลุกจากเบาะที่ปูให้นอนกลางบ้านเตาะแตะไปยืนเกาะตู้วางของแล้วเกาะเดินเงยหน้าชี้ไล่ไปตั้งแต่ขวดนม กระป๋องนมผง กระติกน้ำร้อน ขวดน้ำเย็น ฮ่าฮ่า สำเร็จ! ทำให้ป้าปอนรู้ว่าลูกคอยจับจ้องตลอดเวลาว่าแม่ทำอะไรบ้าง และสรุปเป็นชุดความรู้วิธีชงนมได้ตั้งแต่ลูกอายุราว ๖-๗ เดือน พอลูกชี้เสร็จปั๊บป้าปอนก็แสดงท่ารับรู้เข้าใจทันทีโดยกอดหอมลูกทีหนึ่งแล้วรีบชงนมให้โดยพลันสิ่งที่ป้าปอนต้องการ (ในการแกล้งลูก) ครั้งนี้คือฝึกการสื่อสารอย่างมีสาระและตรงใจ ไม่ใช่อยากได้อะไรก็นอนดิ้นร้องโวยวายแต่ไม่บอกว่าจะเอาอะไร จริงๆแล้วลูกก็ไม่เคยทำอะไรน่าเกลียดอย่างนั้นหรอก

ป้าปอนคิดว่าบางบ้านที่เด็กพูดช้า และไม่ค่อยตอบสนองหรือนำเสนอในทางสร้างสรรค์อาจเป็นเพราะได้รับการ “จัดให้” จนล้นเกินตลอดเวลา ยังไม่ทันหิวอาหาร ขนม นม เนย ก็ (ยัดเยียด) มาพร้อมวันละหลายเวลา เสื้อผ้าเครื่องประดับ ของเล่นก็ปรนเปรอจนไม่มีที่เก็บ ในทางตรงข้ามกิจกรรมที่นำไปสู่การเรียนรู้กลับถูกห้าม เช่น ห้ามออกไปที่สนามหญ้ากลัวโดนแดด ลม น้ำค้างห้ามป่ายปีน ห้าม ห้าม ห้าม…

ระหว่างตั้งท้องป้าปอนไม่ได้อ่านหนังสือหรือนิตยสารเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกมากนัก อ่านพ็อกเก็ตบุ๊ก ๓-๔ เล่ม เกี่ยวกับการดูแลตัวเองและลูกระหว่างตั้งครรภ์ การเตรียมตัวคลอด การเลี้ยงลูก พัฒนาการร่างกาย สมองและอารมณ์ของเด็ก บางเล่มก็ออกแนวอารมณ์ขันแต่มีประโยชน์มากทำให้เรามีกำลังใจปฏิบัติ หนังสือที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติเราเรื่องการดูแลเด็กคือ รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว เล่มนี้ทำให้ได้รู้ว่าเด็กมีศักยภาพและสามารถเรียนรู้ได้มากกว่าที่เราเคยเข้าใจและสอนอยู่เดิมๆ ที่สำคัญมากคือการฝึกวินัยควรทำตั้งแต่ก่อน ๔ ขวบ อีกเล่มคือ โต๊ะโตะจังเด็กหญิงข้างหน้าต่าง ทำให้คิดได้ว่า ถ้าจัดการเรียนการสอนให้น่าสนใจเด็กจะกระตือรือร้น ป้าปอนก็จัดการโดยให้ทุกบทเรียนอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิต อีกเล่มที่ชอบคือ ด้วยมือแห่งรัก บอกว่าเด็กจะมีความสุขและสุขภาพดีถ้าได้รับการนวด ทั้งจะเกิดความสัมพันธ์ที่ดีมากกับแม่หรือผู้เลี้ยงดูที่นวดให้ และสอนเทคนิคการนวด สามารถนวดทารกอายุตั้งแต่ ๑ เดือนขึ้นไป คุณรสนา โตสิตระกูล นำหนังสือนี้มาให้ตอนลูกปูนอายุ ๖ เดือนแล้ว ป้าปอนจึงดำเนินการทันที

อยู่กันสองคนก็ต้องพึ่งพาอาศัยไหว้วานกันจะได้เบาแรง ป้าปอนสอนลูกให้รู้จัก ซ้ำย–ขวา หน้า–หลัง เล็ก–ใหญ่ และสีตั้งแต่ลูก ๒ ขวบกว่า สอนสีจากเก้าอี้นั่งเล่นที่ทำจากไนล่อน ลวดลายเป็นแถบหลายสี ฟ้า น้ำเงิน ส้ม เขียวลูกเลยรู้จักหลายสี เวลาแม่ทำสวนอยู่ข้างล่าง ลูกเล่นอยู่บนบ้าน แม่ต้องการของใช้แต่ขี้เกียจขึ้นบันไดไปหยิบก็จะบอกให้ลูกเดินเข้าไปหยิบในบ้าน บอกว่าอยู่ทางซ้ำยหรือขวา อันเล็กหรือใหญ่ สีอะไร ทำนองนี้ค่ะ สอนให้ลูกเปิดวิทยุเทป เลือกตลับเทปนิทาน เพลงเองตั้งแต่สองขวบเช่นกันจะได้ไม่ต้องคอยแม่

จะไม่มีการหลอกให้กลัวอะไรที่ไร้สาระ ส่วนเรื่องที่เป็นเรื่องอันตรายก็อธิบายจริงจังจนเข้าใจ ลูกจึงไม่ได้อยากจะเอาอะไรไปแหย่ปลั๊กไฟ ไม่เล่นไฟ ไม่เล่นมีด ไม่เล่นสารอันตราย เรื่องที่ไม่อันตรายก็มีบ้างที่สอนไว้ครึ่งๆ กลางๆ เช่น มีคนใจดีนำช็อกโกแลตแท่งมาฝาก ตกบ่ายเราก็เอาช็อกโกแลตมาแบ่งกันกินวันนั้นป้าปอนเหนื่อยมากอยากทานขนมหวาน คิดเข้าข้างตัวเองว่าลูกเอาแต่เล่นคงไม่เพลียเหมือนเรา จึงเอาช็อกโกแลตมาหักเป็นสองท่อน ส่งท่อนเล็กให้น้องปูนพลางบอกว่า “ลูกตัวเล็กทานครึ่งเล็ก แม่ตัวโตทานครึ่งใหญ่” ลูกก็รับไปอย่างเคารพในกติกา ฮา ฮา ตอนนั้นลูกรู้แต่ว่าการแบ่งครึ่งคือทำเป็นสองส่วน แต่ลูกยังไม่รู้ว่าครึ่งก็คือสองส่วนที่ต้องเท่ากัน เอิ๊ก! อร่อย!

ลูกจะถูกห้ามเป็นเด็ดขาดไม่ให้ไปเล่นน้าคลองคนเดียว แต่ถ้าแม่อยู่ด้วยก็ เต็มที่ไปเลย ป้าปอนเคยปล่อยให้ลูกเล่นที่ท่าน้ำขณะที่ป้าปอนซักผ้า ลูกเล่นจนตกน้ำ แต่แม่ก็ไม่ได้กระโจนลงไปอุ้ม ปล่อยให้ลอยขึ้นมาจึงค่อยคว้า น้ำที่ชายคลองไม่ลึก ไม่อันตราย แล้วก็ไม่ได้ดุว่า เพียงแต่ให้ลูกมีประสบการณ์ว่าการเล่นที่ท่าน้ำก็อาจพลาดตกได้ ให้รู้ว่าเวลาตกน้ำจะเป็นอย่างไร อาจตกใจ สำลักน้ำแต่ถ้าไม่ตกใจเกินเหตุก็ไม่ตาย ต่อไปก็เริ่มหัดว่ายน้า สอนให้ลูกรู้ว่าโดยธรรมชาติเราจะลอยในน้ำได้

นั่งเรือข้ามคลองกันทุกวัน ป้าปอนก็เพิ่งหัดว่ายน้าที่อาศรมวงศ์สนิทนี่เอง ยังว่ายไม่แข็ง แค่พอเอาตัวรอดได้ จึงมีโจทย์ในใจว่าถ้าเรือล่มเราจะช่วยลูกอย่างไร ก็จำลองสถานการณ์ลองให้ลูกเกาะหลังแล้วว่ายน้ำ แต่ไม่สำเร็จจมกันทั้งแม่ทั้งลูก เรื่องนี้เราไม่ผ่าน ไม่สามารถ หลายปีหลังจึงมาคิดได้ว่าเราควรจะใส่เสื้อชูชีพกัน แต่ในช่วงเวลาโน้นเรานึกไม่ถึงเลย

มีเหตุการณ์ใจหายใจคว่ำกับน้ำในคลองอีกสองครั้ง ครั้งหนึ่งในฤดูฝน น้ำขึ้นล้นฝั่งมาจนท่วมชานตลิ่งหน้าเรือนแรก บริเวณนี้ปกติเป็นลานริมตลิ่งมีกอไผ่กอหนึ่งอยู่ตรงขอบลานด้านติดคลอง วันนั้นป้าปอนให้น้องปูนใส่ห่วงยางเล่นน้ำกำชับให้อยู่เฉพาะเขตชานตลิ่งที่น้ำตื้นประมาณเอวลูก มีกอไผ่เป็นเขต ส่วนแม่ก็ทำงานอยู่ที่ลานบ้านในบริเวณติดกัน แม่ทำงานเพลินก็ละสายตาจากลูก ลูกก็เล่นเพลินจนค่อยๆ ลอยออกสู่กระแสน้ำในคลอง โชคดีอย่างยิ่งที่จังหวะนั้นป้าแดงพายเรือลำน้อยข้ามฝั่งเห็นเหตุการณ์พอดี จึงตะโกนบอกป้าปอนว่าน้องปูนออกมาในคลองแล้ว ป้าปอนตกใจมากเพราะถ้าลูกลอยอยู่นานๆ ห่วงยางอาจลมรั่วซึมจนลูกจมได้ แต่ป้าแดงก็พายเรือมาเทียบอุ้มน้องปูนขึ้นบนเรือในเวลาแค่๒-๓ นาทีถัดมา ครั้งนี้ป้าปอนเรียนรู้ว่าในเงื่อนไขที่มีความเสี่ยงเราจะประมาทปล่อยให้เด็กเล็กอยู่ตามลำพังไม่ได้เลย

เหตุการณ์ที่สองเกิดในฤดูฝนเช่นกัน เป็นตอนเย็นวันหนึ่งป้าปอนจะเดินทางไปร่วมกิจกรรมภาวนาที่วัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ หรือวัดภูโค้ง ที่หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ เป็นเจ้าอาวาส พระไพศาล วิสาโล ก็ประจำอยู่ที่นั่น ความที่รีบเพราะได้รับแจ้งข่าวกะทันหันมีเวลาเตรียมเดินทางน้อย ออกจากอาศรมฯใกล้เวลารถออกแล้ว จึงลงเรือพายลำน้อยที่จอดหน้าบ้านริมคลอง ๑๕ พร้อมด้วยกระเป๋าเดินทาง ลูกปูน และหนูบั๊มลูกสาวคนสุดท้องของป้าแดงที่ต้องไปนำเรือกลับ พายข้ามฝั่งทันทีเพื่อไปขึ้นรถ แทนที่จะไปคนเดียวก่อนแล้วเปลี่ยนนำเรือลำใหญ่กว่ากลับมารับลูกและสัมภาระ กระแสน้ำเต็มคลองและไหลแรงจนบังคับเรือยาก ไปถึงกลางคลองป้าปอนออกแรงพายด้วยใจหวั่นไหวยิ่งว่าเราตัดสินใจผิดเสียแล้ว การไม่ทันรถเสียหายน้อยกว่าการเสียชีวิตอย่างเทียบกันไม่ได้ เรือลำเล็กเพียบแปล้ ถ้าเรือคว่ำลูกก็ยังช่วยตัวเองไม่ได้ หนูบั๊มก็ว่ายน้ำไม่เป็น ทั้งลูกเราลูกเขากำลังอยู่ในชะตากรรมเสี่ยงที่เราเป็นคนก่อ หัวเรือถูกกระแสน้าและลมแรงพัดเฉออกห่างเป้าหมายทำให้เพิ่มระยะทางไปอีก แต่ละวินาทีผ่านไปใจเราก็สุดระทึก ป้าแดงที่กำลังอยู่ฝั่งตรงข้ามรีบลงมายืนติดขอบน้าตรงที่เรือจะเข้าจอดเทียบ คว้าหัวเรือทันทีที่เอื้อมถึง โล่งอกกันทั่วหน้า เมื่อขึ้นรถแล้วเราถามลูกว่ารู้ไหมว่าเรืออาจล่ม ลูกตอบว่ารู้คับ โอ! ลูกรัก ชื่นชมและขอบคุณลูกจริงๆที่ลูกนิ่งมาก ถ้าลูกตกใจ ร้องไห้ ดิ้นรนจนเรือโคลงก็จะเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงเข้าไปอีก

ป้าปอนมีนิสัยนิ่งเงียบเวลาเจอปัญหา และจะค่อยๆ หาทางแก้ ลูกอายุแค่ ๓ ขวบกว่าก็เรียนรู้และซึมซับวิธีของแม่แล้ว หลังเหตุการณ์นี้ป้าปอนก็ทบทวนตัวเองว่าต้องมีสติและรอบรู้การประเมินสถานการณ์ให้ได้มากกว่านี้

นอกจากเรียนและเล่นที่อาศรมวงศ์สนิทแล้ว ป้าปอนก็มักพาน้องปูนไปสถานที่ต่างๆ ตามโอกาสและอัตภาพของเรา คือหิ้วกระเป๋าสะพายเป้ไปกับขนส่งมวลชน หรือไม่ก็เดินทางฟรีไปกับทริปที่มีผู้อภินันทนาการ ตอนลูกยังเดินไม่ได้ก็เอาลูกใส่เป้หลัง เอาข้าวของสัมภาระใส่กระเป๋าหิ้ว พอลูกเดินได้ก็จูงลูกแล้วเอาข้าวของใส่เป้สะพายไป อย่างไรก็ตาม ถ้าลูกเหนื่อยหรือหลับแม่ก็สะพายเป้บนหลังอุ้มลูกอยู่ข้างหน้า ไปไหนไปกัน พาหนะโดยสารก็เริ่มตั้งแต่เรือพายมอเตอร์ไซค์โบกหรือรับจ้างตามแต่จะหาได้ ง่ายๆ ลุยๆ อย่างนี้แหละ เราก็ไปกันสุดเหนือใต้อีสานตะวันออกตะวันตกทั่วถิ่นประเทศไทย เรียนรู้เส้นทางและเส้นใจไปด้วยกัน