ตราไว้ในดวงจิต ตอน25

Posted on

ตอนที่ ๒๕ ดิ้นรนทำมาหากิน

ที่มา : หนังสือ ตราไว้ในดวงจิต บันทึกเรื่องราวอาศรมวงศ์สนิทยุคบุกเบิก เขียนโดย ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล


แถวคลอง ๑๕ และ ๒๙ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายกที่เราอาศัยนี้ ชาวบ้านมีฐานะไม่ต่างกันนัก อาหารการกินก็ไม่ต่างเพราะวัตถุดิบที่มีในหมู่บ้านมีจำกัด ของที่ตกมาขายถึงหมู่บ้านล้วนเป็นของคัดมาแล้ว ป้าปอนเคยซื้อส้มเขียวหวานเลี้ยงเพื่อนที่มาเยี่ยม แถมคุยว่าราคาถูกมากทั้งที่เป็นของคัด ซื้อ ๓ กก. ๑๐ บาทเท่านั้นเอง เพื่อนถามกันใหญ่ทำไมของคัดถูกอย่างนี้ ก็ “คัดออก” ไงจ๊ะ

ผักที่มีขายก็ซ้ำๆ กันประเภทคะน้า กะหล่ำปลี ฟักแฟง ฟักทอง บวบ มะเขือ แตงกวา ผักเหล่านี้ไม่ได้ปลูกในหมู่บ้าน ร้านค้าซื้อจากตลาดมาขายต่อจึงมักจะมีแต่ผักเหี่ยวๆ พวกปลาน้ำจืดก็จะมีปลาราคาถูกเช่นกัน เช่น ปลานิล ปลาสวาย ที่รถกับข้าวซื้อจากบ่อเลี้ยงปลามาขายต่อ อาหารทะเลถ้าจะมีขายบ้างก็เห็นมีปลาทูนึ่ง ปลาโอ และหอยแครง หอยแมลงภู่มาเป็นครั้งคราว กุ้งยังไม่เคยเห็นมีมาขายเลย ปลาหมึกที่มาขายก็จะเหลือแต่หนวด เพราะตัวปลาหมึกนั้นพ่อค้าคัดไปขายตลาดใหญ่ๆ เสียแล้ว ในสายตาพ่อค้าแม่ค้าเขาคงเห็นว่าชาวบ้านแถบนี้ยากจนเกินกว่าจะมีเงินซื้อกุ้งหรือตัวปลาหมึกได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็คงจะถูกของพ่อค้าแม่ค้าเขา แม้ในหมู่บ้านมีคลองที่พอจะมีปลาดีๆ อาศัยอยู่ ชาวบ้านก็ไม่มีทุนรอนซื้ออุปกรณ์จับปลา และที่สุดของที่สุดไม่มีเวลาจับปลาด้วย ต้องไปทำงานรับจ้างรายวันหาเงินตัวเป็นเกลียวตั้งแต่เช้ายันค่ำ ก็นำมาซื้ออาหารอย่างที่ว่ามานั่นแหละ

ครอบครัวรวย–จน แถวนี้คงจะแบ่งตรงที่คนรวยคือคนที่มีรายได้ประจำเช่น ร้านค้า หรือไม่ก็รายได้ไม่ประจำแต่ได้มาก้อนใหญ่ เช่น นายหน้า คนเหล่านี้พอมีเงินสะสมบ้าง แต่ความเป็นอยู่และอาหารการกินก็ดังที่บอกนั่นแหละจ้ะไม่ต่างกับคนจนเท่าใดนัก คนรวยอาจมีเครื่องอำนวยความสะดวกบ้าง เช่น มีเครื่องสูบน้ำจากคลอง ทำให้ไม่ต้องหาบน้ำทุกวัน คนจนก็ตรงข้ามคือเป็นพวกไม่มีอาชีพประจำ อยู่ได้ด้วยการรับจ้างรายวันได้วันละ ๓๐–๖๐ บาท และมิใช่ได้ทุกวัน รายได้แต่ละวันที่ว่านี้ต้องใช้เวลาทำทั้งวันและเหน็ดเหนื่อย งานที่เบาที่สุดแต่น่าเบื่อที่สุดคือรับจ้างกรอกดินใส่ถุงสำหรับเพาะชำต้นไม้ จะได้ถุงละ ๓สตางค์ วันหนึ่งๆ ต้องกรอกดินให้ได้ ๑,๐๐๐–๑,๕๐๐ ถุงเพื่อจะได้ค่าจ้าง ๓๐–๔๕ บาท จึงจะพอค่ากับข้าว

งานรับจ้างอื่นๆ ก็ขึ้นกับฤดูกาล หน้าร้อนมีงานขุดดิน ดายหญ้า ดูแลสวน ขนไม้สนที่เขาตัดขาย ดูแลรดน้ำสวนผักและเก็บผัก หน้าฝนเป็นฤดูที่หางานยากที่สุด คนมีนาทำนา คนไม่มีนาก็ว่างงาน แต่ผักปลาในคลองจะอุดมสมบูรณ์กว่าฤดูอื่น พอได้ชดเชยกัน ฤดูหนาวเป็นฤดูเก็บเกี่ยว เป็นโอกาสทองของคนทำงานรับจ้างเพราะมีงานเยอะ นับตั้งแต่รับจ้างเกี่ยวข้าวซึ่งรายได้ดีแต่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยหลังเป็นที่สุด แล้วก็รับจ้างขนข้าวใส่เครื่องนวดที่เรียกว่างาน“ยัดฟ่อนข้าว” แล้วก็อาจมีงานรับจ้างในสวนผัก เพราะหน้าหนาวน้ำที่เคยเจิ่งนองทั่วทุ่งลดแห้งลง พวกที่ทำสวนผักเมื่อเกี่ยวข้าวแล้วก็ลงมือยกแปลงปลูกผักต่อ งานประเภทก่อสร้างก็เริ่มในช่วงนี้ แรงงานรับจ้างไร้ฝีมือจะทำงานแบกหามขนวัสดุก่อสร้าง

งานรับจ้างมิใช่หาได้ทุกวัน รายได้ก็เพียงพอใช้ในแต่ละวันเท่านั้น สมาชิกในครัวเรือนมิใช่จะได้งานทุกคน แต่ทุกคนกินทุกวัน ช่วงที่ไม่มีงานครอบครัวเหล่านี้จะลำบากและวิตกกังวลมากว่าจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อกับข้าว จะมีเงินติดบ้านคราวละ ๒๐๐–๕๐๐ บาทเท่านั้น แม้บางช่วงอาจได้ค่าจ้างรวมแล้วเป็นพันบาท แต่นั่นก็หมายความว่าค่าเสื้อผ้า หม้อ ไห ถ้วยชาม ของใช้อื่นๆ ที่จำเป็นและขาดแคลนมานาน จะเรียงกันมาให้ต้องเสียเงินซื้อเป็นลำดับเชียว ถ้าตกงานนานสักครึ่งเดือนก็หมายความว่าต้องกินข้าวคลุกน้าปลา หรือกับแตงโม สับปะรดถ้าตรงกับช่วงผลไม้นี้ราคาถูก เดิมเคยคิดว่ามีแต่คนเฒ่าคนแก่กินเพราะกินง่ายป้าปอนเคยสงสัยว่าทำไมเขาไม่ทำน้าพริกกินกัน อย่างน้อยคลุกข้าวได้อร่อย ถาม ได้ความว่ายามขาดแคลนเงินนั้น แม้แต่หอม กระเทียม ก็ไม่เหลือติดบ้าน ซื้อสับปะรด แตงโมผลเล็กๆ ผลละ ๒–๕ บาท ก็เอามารับประทานกับข้าวได้เลย ไม่ต้องซื้อเครื่องปรุงอีก

ครอบครัวของเราในอาศรมวงศ์สนิทมีความเป็นอยู่ไม่ต่างจากชาวบ้านนัก แม้ว่าโดยส่วนใหญ่เรามีเงินติดบ้านสำรองไว้เสมอ แต่ก็ใช่ว่าไม่เคยขัดสน เราจึงต้องประหยัดอดออมเช่นกัน เรามีเงินก้อนเล็กๆ ฝากธนาคาร แต่บางครั้งเราไม่มีเหตุเข้าเมือง (กรุง) เป็นเดือน เงินที่เบิกมาใช้ร่อยหรอถึงขั้นอับจน เราเคยยืมข้าวสารเพื่อนบ้านมาหุงกินเหมือนที่ชาวบ้านทำกัน เราเคยมีเงินติดบ้านเพียง๑๐ กว่าบาทสำหรับ ๔ คนเป็นเวลา ๔-๕ วัน และครั้งหนึ่งมีบาทเดียวเท่านั้นเอง โชคดีที่เราเลี้ยงเป็ดจึงมีไข่กินทุกวัน ไม่ต้องกินแตงโม สับปะรดกับข้าว หรือกินข้าวคลุกน้ำปลา เมื่อเรามีเงินเข้ามาสัก ๒๐๐-๓๐๐ บาทจากขายผักหรือแขกมาพัก เราก็เอาไปซื้ออาหารเป็ดซึ่งไม่รู้บังเอิญหรือเปล่ามักจะหมดลงพอดี เป็นการต่อทุนไปเรื่อยๆ ผิดกับชาวบ้านอาชีพรับจ้างแม้ได้มาสัก ๓๐๐-๔๐๐ บาทก็จะหมดไปกับค่ากับข้าวทั้งหมด ไม่สามารถต่อยอดเป็นไข่เป็ด เนื้อเป็ดได้เหมือนเรา

ครั้งหนึ่งเรามีเงินติดบ้าน ๑๐ บาท มีเพื่อนกลุ่มหนึ่งเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิโกมลคีมทอง ยินดีมาช่วยทำกิจกรรมเพื่อเยาวชนในหมู่บ้านโดยออกค่าใช้จ่ายเอง แต่ขอให้เราทำอาหารให้ก่อนแล้วจะจ่ายเงินภายหลัง เราจึงนำเป็ดที่เลี้ยงหลายตัวมาทำอาหาร เมื่อเพื่อนๆ รู้เข้าหลังจากมีการเชือดเป็ดไปแล้วก็ลำบากใจที่มีการฆ่าสัตว์อยู่ในเบื้องหลังการทำกิจกรรมดีๆ ต่อว่าอยากให้เราไปซื้อเนื้อสัตว์จากตลาดมาทำกินมากกว่า ป้าปอนแม้ไม่ได้ลงมือเองก็เครียดจากการต้องฆ่าสัตว์เลี้ยงอยู่แล้ว แต่คิดว่าถ้าเรายังกินเราต้องรับบาป ให้คนอื่นฆ่าให้กินเราก็บาปเป็นสองเท่า เป็ดเหล่านี้เราเลี้ยงไว้เป็นอาหารแบบพึ่งตนเอง(ความจริงพึ่งเป็ด) เราไม่ใช่มังสวิรัติ ถ้ารู้สึกผิดก็ต้องเลิกกินไม่ใช่เพียงตำหนิคนฆ่า เบื้องต้นเราภูมิใจที่แม้ไม่มีเงินเราก็ทำอาหารให้เพื่อนกินอิ่มอร่อย แต่สุดท้ายก็ลำบากใจที่ไม่มีกำลังทรัพย์พอซื้อหาอาหารอื่นมาทำให้เพื่อนพอใจได้

อย่างไรก็ตาม เราเลี้ยงเป็ดเนื้อ ๑๕๐ ตัวนั้นเพื่อกินและขายเพียงรอบเดียวเท่านั้น เราเองก็ไม่สบายใจที่เลี้ยงมันให้เติบโตเพื่อมาต่อชีวิตของเรา เราเลี้ยงเป็ดไข่อีกระยะเวลาหนึ่งก็เลิกกิจการนี้เช่นกัน แต่ละวันที่ผ่านไปกับการดิ้นรนทำมาหากินเพื่อความอยู่รอดทั้งของชาวบ้านและเรา ทำให้ได้ทบทวนขัดเกลาจิตใจเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าไปด้วย