ตราไว้ในดวงจิต ตอน26

Posted on

ตอนที่ ๒๖ ชาวนา

ที่มา : หนังสือ ตราไว้ในดวงจิต บันทึกเรื่องราวอาศรมวงศ์สนิทยุคบุกเบิก เขียนโดย ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล


ในฤดูฝน คนที่มีนาก็ทำนา ชุมชนรอบอาศรมวงศ์สนิทมีครอบครัวที่ไม่ได้ทำนาสัก ๒๐% ของครอบครัวทั้งหมดพวกที่ทำมีที่นาของตนเองเป็นส่วนใหญ่ ทำกันประมาณครอบครัวละ ๒๐-๕๐ ไร่ ส่วนพวกที่ไม่ทำก็ทำอาชีพค้าขาย รับจ้าง เพราะไม่มีที่นา หรือมีที่แต่ไม่มีทุน

วิธีการทำนาที่นี่กึ่งทันสมัยกึ่งล้าหลัง ทันสมัยตรงที่มีการใช้รถแทรกเตอร์และรถไถนาในการไถ มีการใช้ปุ๋ยเคมี เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้วก็นวดด้วยเครื่องหรือใช้รถย่ำแต่ก็ล้าหลังตรงที่ส่วนใหญ่ (๙๐%) เป็นนาน้ำฝน แม้จะมีคลองชลประทานสองสายผ่านกลาง มีคลองธรรมชาติอีกสายหนึ่งในหมู่บ้านนี้ แต่ก็ไม่มีคลองส่งน้าเข้านา ไม่สามารถดึงน้ำจากคลองชลประทานไปใช้ได้ ขณะเดียวกันพื้นที่ทั้งหมดลุ่มต่ำมาก เมื่อฝนตกน้ำนอง น้ำจะท่วมขังสูง สภาพภูมิศาสตร์เช่นนี้บังคับให้ชาวบ้านต้องทำนาหว่านแห้ง คือไถหว่านไว้ตั้งแต่ก่อนฝนตก แล้วรอฝน หลังจากต้นข้าวงอกแล้วถ้าฝนทิ้งช่วงนานต้นข้าวก็จะเหลืองตาย แต่ถ้าน้ำมามากเกินไปก็ท่วมต้นข้าวตายหมดเช่นกันมีที่นาสัก ๑๐% ที่สามารถดึงน้ำจากคลองชลประทานไปใช้ บริเวณนี้ทำนาหว่านน้ำตม ผลผลิตที่ได้จากนาหว่านแห้งประมาณ ๒๐-๓๐ ถังต่อไร่ นาน้ำตมอาจได้ถึง ๔๐ ถัง ซึ่งก็ยังเป็นอัตราต่ำ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะดินที่นี่เป็นดินเหนียวและกรดสูง ขาดความอุดมสมบูรณ์ ชาวนาไม่มีทุนและความรู้ที่จะบำรุงดินให้ดีกว่านี้ ในส่วนนี้คือที่ป้าปอนมองว่าเป็นความล้าหลัง

นี่ก็สองฤดูทำนาแล้วที่ป้าปอนเฝ้ามองดูพวกเขา อาชีพชาวนานี่เหน็ด-เหนื่อยจริงๆ ตรากตรำทำงานกันอย่างน่ายกย่องและน่าเห็นใจ ยิ่งช่วงเกี่ยวเก็บข้าวซึ่งเป็นฤดูหนาว เขาก็ต้องตื่นตีสามตีสี่ หุงข้าวปลากินกันแล้วออกเดินฝ่าลมหนาวไปที่นาตั้งแต่ฟ้าเพิ่งเรื่อเรือง จึงจะมีเวลาพอทำงานที่จำเป็นได้มากพอ จนมีสำนวนพูดว่า “ชาวสวนตื่นตีห้า ชาวนาตื่นตีสี่” ก้มเกี่ยวข้าวหลังขดหลังแข็งแม้กลางวันแดดเปรี้ยงก็ไม่หยุด จนค่ำโน่นแหละจึงเดินกลับบ้าน แม้จบวันด้วยความเหน็ดเหนื่อยเพียงไร รุ่งขึ้นก็ต้องแข็งใจไปกันอีก ทำไปจนเกี่ยวแล้วเสร็จขนมานวดที่ลานใกล้บ้านและรอขายด้วยใจตุ๊มๆ ต่อมๆ ลุ้นราคาข้าวปีนี้จะเป็นอย่างไร ปี ๒๕๒๙ ที่ป้าปอนกำลังเล่าอยู่นี้ข้าวราคาตกมาก ข้าวเปลือกขายได้ถังละ ๒๑ บาท ในขณะที่ต้นทุนการผลิตถังละ ๒๐ บาท ยังไม่ได้คิดค่าแรงงานอาหาร ค่ารักษายามป่วยไข้ของคนทั้งครอบครัวที่ทุ่มเทมาทั้งฤดู ในสภาพอย่างนี้บางปีชาวนาขาดทุนเป็นหนี้ อย่างดีก็เสมอตัวได้ข้าวไว้กินไม่ต้องซื้อ ปีไหนดีหน่อยก็พอจะมีเงินเก็บบ้างครอบครัวละไม่กี่พันบาท ที่จะเหลือให้เก็บถึงหมื่นคงยาก พอหมดฤดูทำนาก็ออกรับจ้างรายวันกันต่อ บางปีขาดแคลนมากแม้ในฤดูทำนาพอหว่านข้าวเสร็จก็ออกเดินทางไปหางานทำที่อื่น บางคนมุ่งเข้ากรุงเทพฯไปตามแหล่งงานก่อสร้าง

ต้นปี ๒๕๒๘ ป้าปอนมีโอกาสไปงานแต่งงานเพื่อนที่อุดรธานี ได้อยู่ในหมู่บ้านนั้น ๕ วัน สังเกตเห็นชีวิตความเป็นอยู่ที่นั่นแล้วอดจะเปรียบเทียบกับที่คลอง ๑๕ ไม่ได้ หมู่บ้านนั้นที่อุดรธานีชาวบ้านทำนาเป็นอาชีพหลัก เขาเลี้ยงควายเป็นฝูง ไถนาด้วยควาย ปุ๋ยก็ใช้ขี้ควาย พอเพียงหรือไม่หรือต้องเพิ่มปุ๋ยเคมีด้วยป้าปอนไม่ได้ถาม เวลานวดข้าวก็ใช้ควายย่ำ สรุปแล้วการลงทุนเป็นเงินน้อยมาก เขาปลูกข้าวได้พอกิน จะเหลือขายมากน้อยเพียงใดไม่ทราบ แต่คงยากที่จะขาดทุนเพราะต้นทุนการผลิตต่ำ พอเสร็จหน้านาก็ปลูกผักไว้กิน ได้ขี้ควายนี่แหละเป็นปุ๋ยใส่แปลงผัก นอกจากนั้นยังปลูกฝ้ายทำเส้นใยไว้ทอผ้าห่ม ฟูก หมอนเสื้อผ้า ผ้าพันคอกันหนาว ผ้าขาวม้าไว้ผลัดอาบน้ำ อากาศหนาวกว่าที่นครนายกมาก แต่เขาไม่เดือดร้อนเพราะมีเครื่องป้องกันหนาวพร้อมเหลือเฟือ นี่คงเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ของภาคอีสาน

หันกลับมาดูคลอง ๑๕ นครนายก ของจำเป็นในการดำรงชีพต้องซื้อหาด้วยเงินทั้งสิ้น ทั้งอาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค ในขณะที่รายได้ต่ำ การทำนาที่ใช้รถไถ ปุ๋ยเคมีล้วนต้องจ่ายเงินซื้อหาว่าจ้าง ต้นทุนสูงแล้วจะไปเหลืออะไร อาจเหลือหนี้บ้างกระมัง

คืนสุดท้ายในหมู่บ้านที่อุดรธานี แม่ควายบ้านที่เราพักออกลูกด้วย ทุกคนยินดีกับสมาชิกใหม่ ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านทยอยมาดู เห็นแล้วยิ่งเปรียบเทียบได้ชัดระหว่างรถไถกับควาย ควายมีแต่จะเพิ่มจำนวน รถไถมีแต่ทรุดโทรมต้องซ่อมแซมและซื้อใหม่ ทำให้คิดถึงวรรคทองที่หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร พระบิดาแห่งชาวนาไทยได้กล่าวไว้ว่า “ความเจริญเดินตามคันไถ”

คลอง ๑๕ นครนายกคงใกล้กรุงเทพฯ เกินไปจึงถูกแรงเครื่องจักรกลดึงดูด แต่ก็ไม่ใกล้พอที่รายได้และความเป็นอยู่ของคนจะถูกดึงสูงขึ้นไปด้วย มีวิธีไหนบ้างหนอที่จะเป็นทางออกให้เขาได้ทำงานอย่างมีความสุข ทำเหมาะแก่กำลัง ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ไม่ต้องเคร่งเครียดกับการอดมื้อกินมื้อ แล้ววิตกกังวลว่าวันพรุ่งจะมีงานให้ทำหรือไม่ เพราะนั่นแปลว่าจะมีกินหรือไม่นั่นเอง