ตราไว้ในดวงจิต ตอน27

Posted on

ตอนที่ ๒๗ ยายเภา

ที่มา : หนังสือ ตราไว้ในดวงจิต บันทึกเรื่องราวอาศรมวงศ์สนิทยุคบุกเบิก เขียนโดย ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล


ทุกๆ วันที่อาศรมวงศ์สนิท วิถีชีวิตตามทางเลือกอันแสนสุขของป้าปอนคือ ตื่นเช้ามืด บริหารร่างกายด้วยการพายเรือข้ามคลองไปวิ่งเหยาะๆ บนถนนลูกรังฝั่งตรงข้ามในอาศรมมีแต่ทางดินที่มักจะแฉะ ลื่น และดินเหนียวติดเท้าไม่สามารถวิ่งได้ เสร็จแล้วก็พายเรือข้ามกลับมาชื่นชมกับธรรมชาติยามเช้าพร้อมกับเริ่มงานประจำวันอันได้แก่หาบน้ำจากท่ามาใส่ตุ่มบนเรือน ห้องน้ำ และตุ่มเชิงบันไดสำหรับล้างเท้า เยือนตาข่ายดักปลาที่ขึงขวางคลองเอาไว้เก็บผัก หุงหาอาหารรับประทาน เก็บล้างภาชนะแล้วก็ลงสวนไปรดน้ำต้นไม้ที่ปลูกไว้ทั่วพื้นที่ ๓๐ กว่าไร่

เสร็จงานสวนตามเป้าหมายความเหนื่อยหรือความทนต่อแดดในแต่ละวัน เราก็กลับมาทำงานในที่ร่มใกล้บ้านหรือบนเรือน อาทิ ตกแต่งบริเวณเรือน งานช่างเย็บปักถักร้อย หาฟืน หรืออาจอ่านหนังสือ จนพักรับประทานอาหารเที่ยง บ่ายก็เริ่มลงสวนอีกรอบ ถ้าจะปลูกต้นไม้เพิ่มก็จะทำตอนเย็นเพื่อให้กล้าไม้มีเวลาตั้งตัวตอนกลางคืนจนถึงสายวันรุ่งขึ้นก่อนที่จะต้องผจญแดดแรงตอนกลางวัน จบงานตอนเย็นด้วยการหาบน้ำใส่ตุ่มที่พร่องไปจากการใช้ทั้งวัน เสร็จแล้วก็นั่งชมอาทิตย์อัสดง ด้วยว่าท่าน้ำอยู่ด้านทิศตะวันตก

กิจกรรมทุกอย่างที่เล่านี้ป้าปอนทำด้วยใจรักและกระตือรือร้น ไม่ได้รู้สึกว่าทุกข์ยากลำบากแต่อย่างใด ที่ชอบเป็นพิเศษและขยันทำมากคือหาฟืนและหาบน้ำ

วัยเด็กในหมู่บ้านชาวประมงริมอ่าวไทยที่จังหวัดชุมพร ป้าปอนได้แต่มองเด็กอื่นหาบน้ำจากบ่อน้ำสาธารณะไปใส่ตุ่มที่บ้าน ชื่นชมในความสามารถแบ่งเบาภาระผู้ใหญ่ของพวกเขาและเธอ ครอบครัวเราฐานะค่อนข้างดี มีบ่อน้ำใสสะอาดอยู่ในบ้านจึงไม่ต้องหาบ เพียงใช้ถังผูกเชือกตักน้ำขึ้นมาก็เทใส่ตุ่มได้เลย แต่แม่ก็เคยให้โอกาสป้าปอนได้ฝึกหาบโดยนำแกลลอนน้ำมันเปล่าขนาดจุ ๕ ลิตร ๒ ใบมาล้างสะอาดผูกเชือกให้หาบได้ และน้ำหนักเบา น้ำที่ได้แต่ละหาบก็เล็กน้อยตามรูปร่างผอมบางของเด็กหญิงคนนั้น ต่อไปก็ขยับเป็นถังสังกะสีขนาดกลาง ในขณะที่เด็กวัยเดียวกันหาบด้วยถังขนาดใหญ่เป็นสองเท่า

ที่อาศรมวงศ์สนิทป้าปอนฝึกหาบน้ำจากคลองมาใส่ตุ่มจนชำนาญ จนแทบจะยึดกุมเป็นเจ้าของงานนี้แต่ผู้เดียว ด้วยว่าลุงสมชายและสมาชิกอาสาทั้งหลายไม่ถนัดและไม่ยอมหัด คงเกรงใจป้าปอน

เช้าวันหนึ่งในปีที่สองของการอยู่ที่นี่ ขณะหาบน้ำจากคลองมาใส่ตุ่มที่เรือนเสงี่ยมเสมอ มีเสียง “แคร็ก” ที่หลังพร้อมกับรู้สึกเจ็บแปลบ ป้าปอนวางหาบแล้วมาพัก ปวดจนต้องนอน แต่พอจะลุกนั่งก็ปวดจนลุกไม่ได้ เรียกหาลุงสมชายให้ไปตามเพื่อนบ้านมาช่วย ป้าเบียบภรรยาลุงก้าน แม่ของหนูดำ ข้ามฝั่งมาทันที

เราสามคนปรึกษาหารือว่าจะทำอย่างไรดี เจ็บจนช่วยตัวเองไม่ได้ขนาดนี้ต้องไปหาหมอแน่นอน ถ้าไปกรุงเทพฯ หรือองครักษ์ ก็คงต้องเช่ารถตู้หลายพันบาท ในหมู่บ้านไม่มีรถเช่ายังไงก็ต้องไปหาที่ตลาดองครักษ์ห่างไป ๑๒ กม. ปัญหาสำคัญกว่านั้น ป้าปอนตัวแข็งทื่อลุกนั่งไม่ได้ งอตัวไม่ได้ เรือพายก็เล็กปกตินั่งได้๓ คน นี่จะต้องใช้ ๒-๓ คนอุ้มป้าปอนตัวทื่อๆ ไปท่าน้ำ ลงเรือพาย อุ้มขึ้นฝั่งไปขึ้นรถ แค่ลงเรือก็ไม่ได้แล้ว

ป้าเบียบพูดเบาๆ ว่าคงต้องตามยายเภามานวด ป้าปอนคิดแล้วรับไม่ได้เลย เสี่ยงมาก ถ้านวดผิดหลังหักอัมพาตกินล่ะ ไม่กล้าคิดต่อ ส่วนป้าเบียบกังวลไปอีกทาง แกบอกว่า

“ยายเภาเป็นใบ้ หูหนวก มือหนัก ตัวบางๆ อย่างคุณปอนไม่พอมือแกหรอก”

เงียบกันไปพักใหญ่ป้าปอนคิดหนัก สุดท้ายไม่เห็นทางอื่นถ้าปล่อยนานกว่านี้ปวดอึปวดฉี่นั่งไม่ได้จะทำไงนี่ เอาก็เอา ไปตามยายเภามาเถอะ

บ้านยายเภาอยู่ในหมู่บ้านเยื้องเราไปไม่ไกล อาชีพประจำทำขนมตาลขนมใส่ไส้ห่อใบตองใส่กระจาดเดินขาย แต่เรายังไม่เคยรู้จัก คุณสมชายพายเรือข้ามไปเรียกเด็กๆ ให้นำไปหา ยายเภาก็มาพร้อมกระจาดขนม พี่สำอางค์แม่ของอ้วน เอี้ยง หมู ปลา เพื่อนเด็กๆ ของเรา พอรู้ข่าวป้าปอนป่วยก็รีบมากันด้วยความห่วงใย

วิธีการก็เริ่มขึ้นภายใต้การออกแบบของป้าเบียบ ให้ป้าปอนนอนบนเสื่อปูบนพื้นดินใต้ถุนบ้านเพราะเดินขึ้นบ้านไม่ได้ ระหว่างยายเภานวดป้าเบียบและพี่สำอางค์นั่งขนาบสองข้าง เพื่อคอยดูหน้าตาท่าทางของป้าปอน ถ้าร้องหรือแสดงอาการเจ็บจะได้คอยยื้อยุดฉุดมือ ตีแขน ตบหลังยายเภาให้รามือ เพราะป้าปอนนอนคว่ำยายเภานวดหลังแกก็จะไม่เห็นหน้าว่าเจ็บว่าปวด ถ้าร้องออกไปแกก็ไม่ได้ยินเพราะหูหนวก อย่างไรก็ตาม ยายเภาสื่อสารด้วยภาษาของแกแปลได้ว่า “ข้ารู้หรอกว่าควรนวดหนัก เบาขนาดไหน”

ยายเภานวดประมาณชั่วโมงกว่าก็เป็นอันพอควรสำหรับวันแรก แกอธิบายว่าวิธีของแกนั้นนวดเพียง ๓ วันก็หายทุกคน ดังนั้นแกจะนวดป้าปอน ๓ วัน วิธีบอกจำนวนวันของยายเภาคือวาดมือจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก แล้วประกบมือรับศีรษะที่เอียงลงมาแนบเป็นท่าหนุนหมอน ทำซ้ำ ๓ ครั้ง นวดเสร็จยายเภาก็ข้ามฝั่งไปเดินขายขนมต่อ ป้าปอนให้ค่าตอบแทนวันละ ๑๐๐ บาท วันแรกนี่ก็ช่วยให้พอจะนั่งห้องน้ำได้แล้ว และเดินขึ้นไปนอนบนเรือนได้

ป้าเบียบกับพี่สำอางค์มาอยู่เป็นเพื่อนตอนนวดอีกวันหนึ่ง วันสุดท้ายไม่ต้องมาเพราะป้าปอนสามารถลุกนั่ง หันกายได้เองแล้ว ที่สำคัญสื่อสารกับยายเภาเองเข้าใจกันแล้ว

ยายเภาเป็นใบ้แต่ช่างคุยเป็นที่หนึ่ง อยากรู้อยากเห็นเป็นที่สอง มีน้ำใจเป็นที่สาม ฝีมือนวดฉกาจเป็นที่สี่ ทำขนมเก่งเป็นที่ห้า ด่าเก่งเป็นที่หก อันนี้ป้าปอนแกล้งล้อ ที่จริงแล้วคุณสมบัติแกสุดยอดทั้ง ๖ ประการ ระหว่างนวดแกชวนคุยจนคนที่เหนื่อยคือป้าปอน เพราะต้องตั้งใจฟังและมองท่าทางเพื่อทำความเข้าใจและตอบคำถามแกได้ ถ้าตอบไม่ตรงเรื่องแกจะเริ่มต้นอธิบายใหม่ เอ้อ อ้าวู้ อู้ บู้ บ้าบ พร้อมทำท่าประกอบ จนกว่าจะได้คำตอบที่พอใจ คำถามก็ไม่ธรรมดาตัวอย่างเช่น แต่ละวันทำงานอะไรบ้าง สามีรักไหม สามีช่วยทำอะไรบ้าง รวยไหม มีเงินในธนาคารกี่พันกี่หมื่น ทำไมไม่มีลูก ญาติพี่น้องอยู่ที่ไหน อาชีพอะไร ทำไมมาอยู่ที่นี่ แขกที่มาเยี่ยมเยอะแยะเป็นใคร มาจากไหน เฮ้อ ! วันสุดท้ายกว่าจะนวดเสร็จน่าจะ ๒–๓ ชั่วโมง เพราะหมดไปกับการซักประวัติ

ตอนสายวันที่สี่ของการป่วย ป้าปอนนั่งพักอยู่ ได้ยินเสียงตะโกนโหวกเหวกที่ฝั่งคลองตรงข้าม กระย่องกระแย่งออกไปดู เห็นยายเภากระเดียดกระจาดขนมยืนร้องเรียกอยู่ที่ลานท่าน้า แกคงหวังว่าเราต้องอุดหนุนแน่ แกนวดเรามาตั้งสามวันซึ่งเราก็ซื้อแกทั้งสามวัน แต่นี่ป้าปอนยังพายเรือข้ามไปซื้อไม่ได้หรอกนะยายเภาเรียกให้ป้าปอนออกมายืนที่ลานระหว่างหน้าบ้านกับท่าน้ำ เรายืนกันคนละฝั่งคลอง ตัวแกวางกระจาดขนมที่พื้น กางแขนออก บอกให้ป้าปอนทำตาม ค่อยๆ ก้มวาดแขนขวาไปจรดตาตุ่มข้างซ้ำย ยืดตัวขึ้น วาดแขนซ้ำยก้มไปจรดตาตุ่มข้างขวาแล้วยืดตัวขึ้นตรง ป้าปอนก้มได้เพียงเล็กน้อย แต่แกก็พอใจยืนดูป้าปอนทำครู่หนึ่งก็ส่งสัญญาณพอ แล้วก้มลงหยิบกระจาดเดินจากไปขายต่อในหมู่บ้าน

ยายเภามาเรียกที่ฝั่งตรงข้ามตอนสายๆ อีกสองวัน เพิ่มท่าบริหารในแต่ละวันเพื่อตรวจเช็คอาการดีขึ้นของป้าปอน เมื่อวางใจแล้วก็ไม่ได้มาอีก ป้าปอนพยายามบริหารเองทุกวันจนเดิน วิ่ง ทำงานได้เป็นปกติ จนได้พายเรือข้ามฝั่งไปซื้อกับข้าว ของใช้ ในหมู่บ้านได้ เพื่อนบ้านพากันถามว่าหายแล้วใช่ไหม พวกเขารู้มากกว่าที่เป็นจริงเสียอีก พากันพูดว่าป้าปอนทำงานหนัก ขยัน หาบน้ำจนหลังเจ็บ เดินไม่ได้ นั่งร้องไห้ ต้องตามยายเภามาช่วย ป้าปอนออกขำถามว่ารู้ได้ไง เขาบอกว่ายายเภามาขายขนมแล้วก็ประชาสัมพันธ์ให้รู้ทั่วกัน

น้ำใจยายเภายังตราตรึง และป้าปอนก็ได้รู้จักและรับการรักษาจากหมอพื้นบ้านเป็นครั้งแรก ได้ผลดีมากอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลย