การโค้ชเพื่อเสริมสร้างพลังชีวิต ตอนที่ 1
ที่มา : http://www.gotoknow.org/posts/362520
รอคอยมา 9 เดือน กว่าจะมาถึง 3 วันนี้ ตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นการเขียนคำอธิบายหลักสูตรใน วารสาร สมาชิกเพื่อนเสม ก็คิดว่ามันโดนมากเลย เกือบจะได้เข้าสัมมนาหลักสูตรนี้ตั้งแต่ 14-16 ส.ค. 2552 และเมื่อเหลืออีกแค่สองสัปดาห์ก่อนโอนเงิน ก็ทราบว่าติดประชุมสำคัญไม่สามารถลางานได้ แต่ยังโชคดี มีเพื่อนร่วมงานที่ได้รับ forward mail สนใจและมีโอกาสได้เข้าสัมมนาครั้งแรกนั้น
“การโค้ชเพื่อการเสริมสร้างพลังชีวิต หรือ Life Coaching”เป็นกระบวนการสนทนาที่ทำให้ผู้คนค้นพบทางออกของปัญหาด้วยตัวเอง อาศัยคำถามอันทรงพลัง การฟังอย่างลึกซึ้ง การใช้ญาณทัศนะจับประเด็นระหว่างสนทนา ทั้งนี้เพื่อให้ผู้รับการโค้ชเห็นจุดที่ตนเองยืนอยู่และหนทางที่จะก้าวไปอย่างแจ่มชัด นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเองและใช้ชีวิตอย่างเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ” นี่คือส่วนหนึ่งของข้อความที่อ่านพบ และดึงดูดให้เราอยากเรียนรู้กระบวนการนี้อย่างมาก เพื่อนำไปใช้คุยกับคนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน ที่เราอยากช่วยเขา และเขาก็อยากให้เราช่วย
ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องนี้ หาใช่เรื่องใหม่ แต่ได้รับการพัฒนามาแล้วกว่า 17 ปี โดย Laura Whitworth และ Henry Kimsey-House ผู้ก่อตั้งสถาบันอบรมการโค้ช
เส้นทางการเรียนรู้ของเราครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการเมือง 21-23 พ.ค. 2553 ที่อาศรมวงศ์สนิท คลอง 15 รังสิต องครักษ์ นครนายก ได้ยินชื่ออาศรมมานาน เป็นครั้งแรกที่มาสัมผัส รู้สึกตื่นเต้นตอนออกเดินทาง อยากรู้ อยากเห็น ทุกอย่าง ทำใจมาส่วนหนึ่งว่า ต้องมานอนพักค้าง 2 คืนแบบห้องพัดลม ยอมรับว่ากังวลเหมือนกันจะนอนได้หรือเปล่า
เราเข้ามาจอดรถที่วัดสันติธรรม มี เจ้าหน้าที่ของอาศรม มาต้อนรับ พาไปลงโป๊ะข้ามคลองไปอีกฝั่ง โชคดีที่มีแค่กระเป๋าเสื้อผ้าใบเดียว ไม่งั้นคงทุลักทุเลพอดู
อากาศยามเช้าดีสดชื่น กำลังจะนำกระเป๋าไปเก็บห้องพัก แต่พอเห็นห้องเรียนก็ตกใจเล็กน้อย เพราะเป็น open air ใต้ถุนลานโล่งพอดีๆ กับการล้อมวง และมีที่เบรกเป็นสัดส่วนแยกกัน นึกถึงอากาศที่ร้อนอบอ้าวตอนกลางวัน ไม่รู้จะผ่านไปได้ยังไง 3 วัน
ที่พักเป็นเรือนไม้ มีใต้ถุน ในห้องนอนได้ 2 คน เราได้เพื่อนร่วมห้องน่ารักมาก เป็นรุ่นน้องอยู่อยุธยา ที่นอนแบนๆ จะมีมุ้งเหมือนพระปักกลด สีขาว มีรูโหว่ ห้องอาบน้ำ กับห้องสุขาอยู่ในห้องเดียวกัน และบ้านสองหลัง ใช้ห้องน้ำร่วมกัน
เล่าสภาพความเป็นอยู่แล้ว เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้เลยดีกว่า
วันแรก รู้จักเพื่อน และทักษะขั้นต้น
เริ่มกิจกรรมเกือบ 10 โมงเช้า แนะนำกระบวนกร อ.จิรนันท์ หลายพูนสวัสดิ์ (จ๊ะ) กับ อ.ณฐ ด่านนนทธรรม (นะ) ซึ่งเป็นคู่ชีวิตกัน ทำให้เราแอบตาร้อนบ่อยๆ เวลา อ.ส่งสายตาการรับลูก ส่งลูก และแซวกันไปมา น่ารักดี
การแนะนำตัวของผู้เข้าสัมมนา 15 คน ที่มีวัยหลากหลาย เกาะกลุ่ม 30-40 ปี เป็นส่วนใหญ่ ใช้วิธีให้จับคู่แบ่งปันความฝัน พอเล่าจบวิ่งหาคนใหม่ เราได้ 3 คู่ การมีโอกาสพูดถึงความฝันซ้ำๆ ก็ดีเหมือนกันช่วยปลุกตัวและใจให้ตื่น สะท้อนบทเรียน “บรรยากาศระหว่างพูดคุย เป็นอย่างไรบ้าง” “กิจกรรมนี้เกี่ยวข้องกับอะไรที่เราเรียนกัน” เรื่องที่เป็นความฝันช่วยสร้างพลังชีวิตได้ดีกว่ามานั่งเล่าความทุกข์หรือปัญหา
กิจกรรมต่อไป ให้จับคู่เล่าความคาดหวังของตัวเอง เสร็จแล้วค่อยแบ่งปันของตัวเองในวงใหญ่ อ.กล่าวนำให้พวกเราฝึกพูดอย่างกระชับ ตรงประเด็น อ.จับประเด็นนำไปสรุปบนกระดาน
ข้อตกลงในการเรียนรู้ด้วยกัน
ก็คือ
- ขอให้รู้สึกอิสระที่จะแสดงความคิดเห็น
- ไม่ตัดสินกัน
- ต้องเก็บความลับของคนที่มาปรึกษา
- ให้ถือว่ากิจกรรมที่ทำคือการทดลอง มีข้อสังเกต ไม่ใช่ข้อสรุป
- ฝึกจิตว่าเราคือผู้เริ่มต้น ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เปิดรับสิ่งใหม่ ใฝ่หาความรู้
กิจกรรมต่อไปเริ่มมีการสาธิตการโค้ช โดย อ.จ๊ะ มีเวลา 20 นาทีให้ผู้เรียนสังเกตว่า อ.ใช้วิธีการอะไรบ้าง พวกเราเริ่มเรียนรู้จากทักษะ 10 อย่างในการโค้ช ช่างปะเหมาะจำนวนเท่ากันกับ 10 skills of Great Coach ที่เราเรียนกับบริษัท แต่ในรายละเอียดมีความต่างกันในบางข้อ
สำหรับครั้งนี้ 10 ทักษะ คือ
- ความรับผิดชอบ
- การสะท้อนความเห็น
- ความตระหนักรู้
- ตรงประเด็น ฟันธง
- การท้าทาย
- คำถามอันทรงพลัง
- การร้องขอ
- การแทรกแซง
- การให้กำลังใจ
- อุปมาอุปไมย
จากที่สังเกตการณ์ ดูแล้วก็ไม่ครบ 10 ทักษะ ถามอาจารย์ภายหลังทราบว่า แต่ละครั้งที่ coach อาจจะใช้ไม่ครบ แต่หลักๆ ที่ใช้ มีอะไรบ้าง เราค่อยๆ ซึมซับและเรียนรู้ไปตามกระบวนการของอาจารย์ทั้งสองท่าน แบบเนียนๆ ไม่รู้ตัวว่าทำได้อย่างไร เมื่อเทียบกับความรู้สึกครั้งแรก ทำไมมันพูดไม่ค่อยจะออกเลย
หลังจากถอดบทเรียน อ.ค่อยๆ อธิบายรายละเอียดของแต่ละทักษะ ทำให้เราค่อยเห็นภาพขึ้นมานิดหน่อย
ช่วงบ่าย พลังชีวิตหล่น
ฝึกทักษะการฟัง มี3 ระดับ ควรหมั่นสังเกตตัวเองตอนนี้เราอยู่ระดับใด โค้ชที่ดีต้องมีระดับ 2 และ 3
ระดับที่ 1 ฟังจากภายในตัวเอง
ระดับที่ 2 ฟังอย่างจดจ่อ
ระดับที่ 3 ฟังแบบองค์รวม ซึ่งใช้ทั้งตา หู และสัมผัสด้วยใจ รับรู้พลังรอบตัวของ client รวมทั้งเสียงรอบตัว
กิจกรรมต่อไปคือ การการให้คะแนน วงล้อชีวิต 8 ด้าน ได้แก่
- อาชีพ/การงาน
- เพื่อนและครอบครัว
- แฟน/คนรัก
- ความสนุกและความบันเทิงใจ
- สุขภาพ
- เงิน
- การเติบโตภายใน
- สิ่งแวดล้อมภายนอก
ลองดูว่าแต่ละด้าน หากคะแนนเต็ม 10 เราจะให้คะแนนตัวเองเท่าไร จากรูปวงล้อชีวิต เราจะนำไปใช้คุยในการฝึกโค้ช แต่ละช่วง โดยเลือกด้านที่คะแนนต่ำ หรือสูงก็ได้ ส่วนใหญ่แล้วคนจะเลือกด้านที่คะแนนต่ำ
ฝึกโค้ชครั้งแรก มีเวลา 8 นาที อีก 2 นาทีให้คนได้รับการโค้ชสะท้อนกลับ รู้สึกอย่างไร ช่วงแรกนี้เน้นฝึกฟัง สะท้อนตัวเองว่าอยู่ระดับใด มีการทวนประเด็นบ้างไหม
กิจกรรมหนึ่งที่ชอบ คือ กราฟพลังชีวิต ที่ตรวจสอบ ช่วงหลังตื่นนอน 15 นาที่ ช่วงสอง บ่ายสีโมงเย็น และช่วงที่สาม สองทุ่ม การให้คะแนน ให้ดูร่างกาย ความรู้สึก ความทรงจำแจ่มชัดไหม ความคิดเชื่อมโยงจับประเด็นได้ไหม ที่ชอบเพราะ กระบวนกรนำมาใช้ตรวจสอบพลังชีวิตผู้เรียนตอนสี่โมงเย็น ที่อ่อนเพลียจากอากาศร้อนอบอ้าวสุดๆ ส่วนใหญ่พลังตกกันมาก กระบวนกรจะไม่ยัดเยียดเนื้อหาที่หนักเกินไป
ช่วงต่อมามีการพูดถึง ภาวะสมดุลของ Being & Doing
Beingหมายถึง ภาวะดำรงอยู่ โค้ชจะต้องรู้สภาวะของคนที่เราสนทนาด้วย
Doingมีทิศทางแน่นอน หาทางออกจะทำอะไรต่อไป
เมื่อโค้ชตระหนักรู้สภาวะของผู้รับ ทำให้ผู้รับการโค้ชยอมรับตัวเอง รู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อไป เขาจึงจะยอมทำตามที่รับปาก
สภาวะปัจจุบัน หรือ Being เปลี่ยนได้ตลอดเวลาในการพูดคุย ขึ้นอยู่กับการตั้งคำถามของโค้ช สืบค้นได้หรือไม่ focus ที่ความรู้สึกทำให้เขาพูดออกมาอย่างจริงใจ
ช่วงค่ำ ของวันแรก ฝึกทักษะตามที่เลือก
มอบหมายให้แต่ละคนเลือกคนละ 1 ทักษะจาก 10 ทักษะที่เรียนไป ทำป้ายแขวนคอไว้ ขออาสาสมัครผู้รับการโค้ช ออกไปนั่งหน้าห้อง สังเกตดูว่า กว่าจะหาคนได้ ช่วงแรกยังเกร็งๆ กันอยู่ กลัวถูกล้วงความลับส่วนตัว เมื่อหาอาสาสมัครได้แล้ว ให้เริ่มต้นจากผู้รับบริการอยากคุยเรื่องอะไร เพื่อนที่ออกไปหน้าห้อง พูดเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ที่อยากมีความสุขทุกวัน เป็นหน้าที่ของพวกเราที่เริ่มต้นด้วยคำถามทรงพลัง แต่ละช่วง อ.จะคอยแนะนำว่า ใครควรแสดง เช่น การตระหนักรู้ การให้กำลังใจ การอุปมาอุปไมย ฯลฯ ช่วงการเรียนรู้นี้ทำให้เราเห็นภาพของจังหวะการโค้ชมากขึ้น แต่ก็ยังทำกันอย่างไม่ถนัดนัก
เสร็จจากกิจกรรม ประมาณเกือบ สามทุ่ม แยกย้ายเข้ากุฏิใคร กุฏิมัน เราเองลุ้นว่า คืนนี้ข้าพเจ้าจะนอนหลับหรือไม่ อากาศร้อนอบอ้าวเหลือเกิน ก่อนนอน อธิษฐานจิต ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าที่ เจ้าทาง ของอาศรม ช่วยให้พวกเราผ่านพ้นอุปสรรค และเรียนรู้สำเร็จตามที่ตั้งใจ ปรากฏว่า ตื่นมาประมาณ ตี 3 กว่าๆ ได้ยินเสียงฝนตก ทำให้อากาศในวันรุ่งขึ้นไม่ร้อนเท่ากับวันแรก เรื่องนี้เป็นหัวข้อที่ใช้คุยทักทาย ถามไถ่ เพื่อนใหม่กันว่า เมื่อคืนเธอนอนหลับกันหรือเปล่า หลายคนนอนไม่หลับ เพราะมีปัญหากับสภาพอากาศ เราเองก็หลับไม่สนิท รู้ตัวทุกครั้งที่พลิกตัว แต่ก็ไม่รู้สึกว่าอ่อนเพลีย หรือหมดพลังแต่อย่างไร อาหารเช้าเป็นก๋วยเตี๋ยวสมุนไพร อร่อยมากๆ