การโค้ชเพื่อเสริมสร้างพลังชีวิต ตอนที่ 2

Posted on

การโค้ชเพื่อเสริมสร้างพลังชีวิต ตอนที่ 2

ที่มา : http://www.gotoknow.org/posts/362723

วันที่สอง ฝึกโค้ชกันมากขึ้นด้วยทักษะหลากหลาย

เช้าวันนี้ทุกคนมีความสุขกับอากาศยามเช้า และอาหารที่อร่อย แต่มีบางคนแพ้อากาศ เพราะอากาศเปลี่ยนฉับพลัน มีทั้งร้อน ชื้น เย็น

เริ่มต้นบทเรียน ด้วยการนั่งสงบนิ่ง ก่อนที่จะฝึกโค้ช แบบ กลุ่ม 3 คน เพิ่มคนสังเกตการณ์ ซึ่งจะ feedback ได้ ก็ต้องจับประเด็นทักษะ ว่าโค้ช ใช้ทักษะอะไร ผู้รับการโค้ช บอกความรู้สึก ว่าช่วยเขาได้หรือไม่

ช่วงถอดบทเรียน หลายคนวนในอ่างการสืบค้น ในเวลาที่ให้ ยังไปไม่ถึงการขอร้อง หรือมอบหมายความรับผิดชอบให้ผู้รับบริการได้ ก็มือใหม่กันทั้งนั้น เวลาที่ให้มาประมาณ 10 นาทีเท่านั้น

ช่วงบ่าย เล่น soft side ญาณทัศนะ

อ. ให้พวกเราจับคู่กัน โยนบอล กติกาคือ คนที่ถือบอล เป็นผู้รับการโค้ช เป็นผู้ตอบคำถาม คนเป็นโค้ชโยนบอลออกไปแล้วตั้งคำถามอย่างรวดเร็ว ถามอะไรก็ได้ อย่างรวดเร็ว คิดให้น้อยที่สุด ถ้าผู้รับการโค้ชตอบไม่ได้ ให้โยนบอลกลับ กิจกรรมนี้ ให้ผลัดกันเป็นโค้ช แล้วถอดบทเรียน เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมบ้าง

  • ตอบแบบไม่ต้องคิด
  • เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องดูดี
  • เห็นภาพตรงหน้า คำถามออกมาเอง
  • การฟังอยู่ที่ระดับ 2 3
  • สนุก ทำให้ไหลลื่น ไม่กลัวผิด

รู้สึกว่าดี ที่ได้รู้จักเพื่อนมากขึ้น กล้าถามในเรื่องที่ปกติ คุยกันไม่กล้าถามลึกขนาดนี้

กิจกรรม ฟังเรื่องเล่า

ให้จับคู่ นั่งหันหน้าเข้าหากันแบบไม่เผชิญหน้า เข่าขวาของเรา ชนกับเข่าขวาของเพื่อน

รอบแรก เราเป็นคนเล่า เพื่อนฟังอย่างเดียว มีเวลาประมาณ 5 นาที พอจบหันหลังให้กัน อ.ตั้งคำถามให้ผู้ฟังแต่ละคู่ตอบ คนเล่าตอบกลับว่า ใช่ หรือไม่

คำถามก็คือ ผู้เล่าใส่เสื้อสีอะไร ใส่เครื่องประดับอะไร ตาสีอะไร ผมทรงอะไร กริยาท่าทางที่ทำครั้งสุดท้ายคือท่าใด

รอบ 2 สลับกัน เราเป็นผู้ฟัง ยอมรับว่า คอยสังเกตผู้เล่ามากขึ้น ในรายละเอียด เหมือนคำถามที่ อ.ถามในรอบแรก ทั้งที่เดาว่า คำถามรอบนี้ไม่น่าซ้ำรอบแรก แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อเพื่อนเล่าเรื่องเกี่ยวกับความเขินอาย คำถามรอบนี้ เน้นเรื่องของสีหน้าท่าทาง อารมณ์ความรู้สึก อะไรป็นเรื่องจริง มีไหมที่เขาไม่พูดแต่เราได้ยิน อ.บอกว่าคำถามรอบนี้กำกวมและยากกว่ารอบแรก การที่เราตอบถูกคิดว่าองค์ประกอบคือ การสร้างภาพในความคิดระหว่างที่ฟัง ประกอบกับ ผู้เล่าเป็นคนเปิดเผย ตอนเล่า แสดงอวจนภาษาชัดเจน สอดคล้องกับอารมณ์ ความรู้สึกขณะเล่าเรื่อง ทำให้เราพอจะถอดได้ถูกต้อง

สรุปกิจกรรมนี้คือ ฝึกให้เราใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการฟัง หรือฝึกฟังในระดับที่ 3 ส่วนเหตุผลการให้นั่งเยื้องกัน อาจจะทำให้เรามองในมุมมองที่กว้างขึ้น

กิจกรรมต่อไป อ.แสดงให้ดูการโค้ชแบบใช้ญาณทัศนะ ซึ่งการหยั่งรู้จะเกิดจากภาวะสบายๆ ไม่ตั้งใจมากเกินไป ปล่อยตามสบาย คำถามใดผุดขึ้นมา ถามออกไปแล้ว เช็คผู้รับการโค้ชว่าใช่หรือไม่

กิจกรรมสุดท้าย ของวันที่สอง อ.เหนี่ยวนำให้แต่ละคนจินตนาการถึง ความสุขโดยนึกย้อนจากปัจจุบัน ถอยหลังไปเรื่อยๆ เสร็จแล้วให้ ใครก็ได้ที่อยากเล่า เรารีบอาสาขอเล่าเป็นคนแรก เสร็จแล้ว อ.ถามกลับในวงว่า ฟังแล้ว เห็นคุณค่าอะไรในเรื่องเล่าบ้าง บังเอิญเราเล่าเรื่องตอนไปญี่ปุ่นครั้งแรกในชีวิต ที่ประทับใจ การไป Home stay 2 คืน กับการไป แช่ตัวในบ่อน้ำแร่

ตัวอย่างที่เพื่อนในวงถอดคุณค่าจากเรื่องเล่า คือ ความอบอุ่น ความประทับใจ มิตรภาพ ประหลาดใจ ออกนอกกรอบ ปลดปล่อย อิสระ ความรัก ความไว้วางใจ

สังเกตว่า ถ้าเราพูดเรื่องความสุข พลังชิวิตจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นการโค้ช อาจจะคุยเรื่องความสุข เขาเห็นคุณค่าอะไรในสิ่งที่เขามีความสุข การนึกถึงชีวิตด้านสว่าง เพื่อเป็นทิศทางออกจากปัญหา

คืนนี้ ไม่มีกิจกรรม แต่ให้การบ้าน แต่ละคนต้องหาคนให้เราฝึกการโค้ช โดยมีเงื่อนไข ต้องไม่ใช่คนที่เรียนด้วยกัน ตอนแรก อ.ให้คุยกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในอาศรม เราเองเริ่มรู้ลึกลำบากใจ จะไปคุยยังไงดี โชคดีมีเพื่อนในวงถามว่า โค้ชทางโทรศัพท์ได้ไหม อ.บอกว่าได้ ค่อยโล่งอก ไปเปลาะหนึ่ง แต่ก็มาคิดต่อแล้ว ใครจะเป็นเหยื่อ (เอ๊ย คนช่วย )รายแรกของเรา

ช่วงค่ำ เรียนรู้การโค้ชจริงๆ มือใหม่หัดโค้ช

ก่อนอื่น จะเลือกใครดีนะ มาเป็นแบบฝึกหัดของเรา จะเอาโจทย์ง่าย หรือยาก คำว่า ง่าย หรือ ยาก สำหรับเราก็คือ คนที่พูดน้อย พูดช้า จะเป็นโจทย์ง่าย เพราะเรามีโอกาสที่จะตั้งคำถาม หรือ ฟันธง แทรกแซงง่ายกว่า

ลองโทรหาน้องที่บริษัท ไม่รับสาย โทรหาน้องที่เคยเรียนด้วยกัน ก็ไม่รับอีก โทรหาเพื่อนรุ่นพี่ อีกคน ก็ไม่รับ ตอนนั้นสองทุ่มกว่าแล้ว ข้างนอกยุงเยอะ โทรศัพท์กำลังชาร์ตแบ็ต อยู่ ในที่สุดตัดสินใจขออนุญาตเพื่อนร่วมห้อง ขอคุยในห้องจะรบกวนไหม น้องหนู บอกว่า ได้เลย ตามสบาย จากนั้นรอดูว่าใครจะโทรกลับมา ผ่านไป 15 นาที เพื่อนรุ่นพี่ก็โทรมา แล้วก็เป็นไปตามคาด พี่เขาพูดเก่งมาก พูดได้ยาว จนเราไม่กล้าที่จะตัดบท หรือแทรกแซง และใจหนึ่งก็อยากฟังพี่เขาเล่าให้จบ การคุยก็ตื่นเต้นเหมือนกัน จะหาลานจอดได้ยังไง จากเรื่องปัญหาที่ระบบงาน ไปจนถึงส่วนตัว โยงไปถึงสิ่งกวนใจในที่ทำงาน ในที่สุดจบที่เรื่องนี้ ใช้เวลาทั้งหมด 45 นาที ค่อยสบายใจนอนหลับได้ ที่ใช้ทักษะครบ 10 กระบวนท่า