บ้านดินกับสำนึกทางวิศวกรรม
คนบางคนใช้เวลาทำงานกว่าครึ่งค่อนชีวิตเพื่อจะมีบ้านสวยๆสักหลังไว้อยู่อาศัย มากไปกว่านั้นแม้ว่าจะมีบ้านสวยงามหรูหราราคาเป็นล้านเป็นแสนแล้วก็ตาม ก็หาได้มีความสุขคู่ควรกับความเหน็ดเหนื่อยที่ลงแรงไปไม่ สังคมทุกวันนี้เป็นสังคมที่กำลังถูกตั้งคำถามถึงคุณค่าบางอย่างซึ่งเลือนหาย ไป พร้อมๆกับกระแสบริโภคนิยมที่ไหลท่วมสังคมแห่งความพอเพียง สังคมแห่งความงดงามทางวัฒนธรรม และสังคมแห่งความสุขของจิตใจเช่นสังคมไทยในสมัยโบราณ
บ้านดิน บ้านธรรมชาติ earth building หรือ natural building เป็นชื่อที่ใช้เรียกบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายที่ทำขึ้นมาจากดินและวัสดุธรรมชาติที่หาได้ตามชุมชน โดยไม่ต้องซื้อหาวัสดุสวยงามราคาแพงจากห้างสรรพสินค้าในเมืองใหญ่ ไม่มีการประดับประดาด้วยสุขภัณฑ์ชั้นหรู หรือสถาปัตยกรรมชั้นเลิศ แต่แนวคิดเรื่องบ้านดินกลับเริ่มก่อตัวกลายเป็นกระแสทางเลือกที่เกิดขึ้น พร้อมๆกับสำนึกในธรรมชาติ และความอ่อนน้อมถ่อมตนที่คิดจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอีกครั้งของมนุษย์ แน่นอนว่ามันหาใช่รูปแบบแปลกใหม่ของการสร้างอาคาร หาใช่รูปแบบที่สามารถจะนำไปซึ่งลู่ทางแสวงหาหรือกอบโกยทางธุรกิจ อย่างที่บางคนนึกสนใจ
แนวคิดเรื่องบ้านดินที่กำลังเป็นที่สนใจของสังคมไทยในเวลานี้ ก่อตัวขึ้นด้วยแนวความคิดที่จะทวนกระแสวัตถุนิยมอันไหลเชี่ยวย้อนกลับสู่ความเรียบง่ายของวิถีวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ที่เคียงคู่กับธรรมชาติและศาสนาอันลึกซึ้ง คำว่า บ้าน ถูกลดทอนกลับสู่นัยยะของปัจจัยสี่ บ้านดินจึงเป็นทางเลือกซึ่งเป็นความหวังสำหรับประเทศไทยที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังอยู่ในภาคการเกษตรที่ต้องผจญกับความทุกข์ยากจากหนี้สินที่ก่อตัวจากการกู้ยืมไปจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่เกินความจำเป็นว่าอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของสำนึกในความพอ ความไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปตามอารยธรรมฝรั่งและความมีศักดิ์ศรีในการยืนบนลำแข้ง ณ ผืนแผ่นดินที่เราดำรงอยู่อีกครั้ง
ชุมชนมั่นยืน บ้านเทพนา อ.เทพสถิตย์ จ.ชัยภูมิ เป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบที่เป็นรูปธรรมจากการพัฒนากระแสหลัก ชุมชนเดิมล่มสลายจากการก่อสร้างเขื่อน ชาวบ้านจึงได้รวมกลุ่มในนามของ “สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินชุมชนมั่นยืนจำกัด” เพื่อกู้เงินนำไปซื้อที่ดินจำนวน ๑,๐๐๐ ไร่และตั้งชุมชนใหม่เพื่อการพึ่งตนเอง โดยที่ดินทั้งหมดเป็นของสหกรณ์ มีการจัดพื้นที่เพื่อการใช้ประโยชน์จากสมาชิกชุมชนมุ่งไปสู่ชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นการแสวงหาทางออกเพื่อความเป็นไทจากโครงสร้างทุนนิยมและบริโภคนิยม ในรูปแบบโครงการพระราชดำริคือ การเกษตรแบบพอเพียง ทำการผลิตเพื่อกินเพื่ออยู่ ให้พร้อมสมบูรณ์ในปัจจัย ๔ ส่วนที่เหลือจึงค่อยขายและจำหน่ายจ่ายแจกไปยังชุมชนต่างๆ อาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับท้องถิ่น ไม่ทำลายธรรมชาติและสภาพแวดล้อม บ้านเป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ ที่ชุมชนมั่นยืนต้องการ ซึ่งบ้านควรกลมกลืนเกื้อกูลกับสภาพแวดล้อมและเป็นบ้านแบบพื้นบ้านใช้วัสดุจากธรรมชาติ ลงทุนน้อย
บ้านดินเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมอีกทางเลือกหนึ่งที่ชุมชนมั่นยืนใช้เพื่อแสวงหาแนวทางในการพึ่งตนเอง ทางอาศรมวงศ์สนิทในมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อระดมความร่วมมือในเชิงลงแขกทำบ้านเพื่อฟื้นฟูประเพณีและฝึกทักษะการทำบ้านดินด้วยตนเอง หลายท่านอาจจะได้ยินข่าวถึงความอัปยศอดสูของคนไทยที่มุ่งทำลายล้างกันเอง ด้วยความขัดแย้งในเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ โดยเฉพาะกรณีการเผาหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน1 ที่ อ.โขงเจียม จ. อุบลราชธานี ซึ่งสิ่งเหล่านั้นอาจจะเป็นตัวอย่างให้เราได้เข้าใจความกดดันและความบีบคั้นของชาวบ้านที่โดนกระแสทุนนิยมขับไล่ออกจากผืนธรรมชาติที่เขาเคยอาศัยอยู่ได้ เป็นอย่างดี
การสร้างบ้านดินใช้หลักการ Wall Bearing ตัวกำแพงเป็นส่วนรับน้ำหนักที่ถ่ายจากโครงหลังคาและน้ำหนักของตัวมันเอง หรือจะให้เสาเป็นโครงสร้างหลักรับน้ำหนักจากโครงหลังคาโดยตรงก็ได้ ซึ่งหากจะต้องการสร้างบ้านดินให้สูงมากกว่าหนึ่งชั้น ก็จำเป็นจะต้องมีโครงสร้างคานไม้เข้ามาผสมด้วย หลายคนอาจสงสัยว่าความคงทนของบ้านที่สร้างด้วยดินนั้นจะมีมากน้อยขนาดไหน ซึ่งในประเทศจีนก็มีตัวอย่างของบ้านดินที่มีอายุยืนยาวหลายร้อยปี แต่ความพิเศษของบ้านดินน่าจะอยู่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของชุมชน คล้ายกับการลงแขกเกี่ยวข้าวของชาวไทยในชนบทนั่นเอง
การเป็นอยู่อย่างพอเพียง ไม่ได้หมายเพียงแค่ค่าของการครองชีพที่ลดลงด้วยการประกอบอาชีพการเกษตรอย่างรู้จักกำลังของตนและใช้จ่ายอย่างประหยัด อีกทั้งรู้จักการปลูกผลิตผลทางการเกษตรอย่างหลากหลายเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพของครอบครัวเท่านั้น แต่มันยังมีนัยของการเป็นอยู่ที่ยั่งยืน ตระหนักถึงอนาคตของผืนแผ่นดินที่จะส่งมอบต่อไปถึงลูกถึงหลานมองถึงประเพณีวิถีวัฒนธรรมที่จะค่อยๆสะสมความดีงาม ทับถมจนเป็นปึกแผ่นของวิถีความเป็นอยู่ที่งดงามกอบเกื้อพึ่งพากับธรรมชาติรอบ ๆชุมชน ผูกพันและเผื่อแผ่ต่อผู้อื่นด้วยความมีน้ำใจตามแบบของชาวพุทธ นี่เองที่ทำให้บ้านดินเปรียบเสมือนเทียนเล่มน้อยที่จะค่อยๆจุดสว่างขึ้นท่าม กลางความยากจนและความล่มสลายของวิถีชีวิตชนบทในบ้านเรา
สิ่งที่ทำให้ผมคิดนึกที่จะเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมาไม่ได้อยู่ที่ความหลงไหลใน บ้านดินมากไปกว่าการหวนคิดถึงความหมายที่แท้จริงในสิ่งที่ผมได้เคยเรียนมา Civil Engineering หรือ ศาสตร์วิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เกี่ยวกับพลเมืองประชากร จนกระทั่งเกี่ยวข้องกับการเป็นอยู่อย่างเป็นชุมชนจนถึงเมืองขนาดใหญ่ตาม ลำดับ วิศวกรรมโยธา คือ ศาสตร์ที่เข้าไปช่วยจัดการ วางแผน ชี้นำ ดำเนินการ จนถึงเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากความต้องการต่างๆที่ตามมาจากแนวคิด การอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่
แต่มาวันนี้ หลายคนเกิดคำถามขึ้นว่าวิถีชีวิตแบบชุมชนเมืองขนาดใหญ่นั้นเป็นวิถีชีวิตที่น่าปรารถนาของมนุษย์จริงๆน่ะหรือและการที่มนุษย์ค่อยๆพาตัวเองแยกจากธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วแน่ น่ะหรือ เมืองขนาดใหญ่อย่างมหานครนิวยอร์ค กรุงลอนดอน หรือแม้แต่กรุงเทพฯ ที่ต่างก็หมักหมม ด้วยปัญหาเชิงกายภาพและสังคมอย่างแก้ไขไม่ได้ กำลังกลายเป็นคำถามต่อคนรุ่นใหม่ที่อยากจะเลือกทางที่เหมาะกับเขาที่จะได้มี ชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตอย่างที่มนุษย์จริงๆควรจะเป็น
หากวันใดที่สังคมย้อนกลับไปต้องการดำรงชีวิตอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติอีกครั้ง เมื่อนั้นคงไม่มีตึกให้วิศวกรสร้าง ไม่มีถนนให้ขยาย ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย ไม่มีมลพิษ ไม่มีโรงงานขนาดยักษ์ . เมื่อนั้นก็อาจจะถึงเวลาที่วิศวกรจะเข้าใจถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่จะช่วยกันคิดวิถีทางที่เรากำลังจะเดินต่อไปว่าจะยังคงเลือกเส้นทางการพัฒนาแบบไม่รู้ทิศทาง หรือควรจะหันไปมองทิศทางที่เหมาะสมต่อความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนในอนาคตบ้าง บางทีมันอาจจะทำให้เข้าใจว่าปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ หาใช่ปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาปากท้องเฉพาะหน้าไม่ แต่มันหมายความถึงทิศทางและกระบวนทัศน์ที่เราจะต้องเปลี่ยนเพื่อความดำรงอยู่มีความสุขต่อคนรุ่นเราหรือลูกหลานในวันข้างหน้า
นี่ไม่ใช่คำตอบ เป็นเพียงแค่คำถามที่ทิ้งไว้ให้ขบคิดว่า สิ่งเหล่านี้มันคือหน้าที่ของเราหรือไม่..หรือว่าคำว่าวิศวกรโยธาเป็นเพียงแค่ผู้สร้างตามคำสั่งจากเบื้องบนดลบันดาลอันไม่มีอะไรแตกต่างจาก กรรมกรแบกหามรายวันเลย
ตีพิมพ์ครั้งแรก มีนาคม ๒๕๔๖ ในวารสารอินทาเนีย สมาคมนิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย