บ้านดิน…ทางออกของความจนบนแผ่นดิน วังตอตั้ง

Posted on

บ้านดิน...ทางออกของความจนบนแผ่นดิน วังตอตั้ง

แม้จะถูกเรียกขานว่าเป็นดินแดนแห่งหินและความแห้งแล้ง แต่ วังตอตั้ง ก็เป็นดินแดนที่โอบอุ้มความหวังของคนกลุ่มหนึ่งที่เดินทางแสวงหาแผ่นดินแม่มาชั่วชีวิต แม้ต่างรอนแรมมาคนละทิศละทาง แต่ทุกคนก็รวมใจกันตั้งหลักปักฐานที่นี่ ด้วยความหวังว่าองค์ธรณี…พระแม่ผู้ดูแลแผ่นดินแห่งนี้จะช่วยแผ่เมตตาให้ตนได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบดังเช่นหมู่บ้านอื่น ๆ เขาเสียที

แต่ด้วย วังตอตั้ง เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของคนหลากหลายที่มา ผู้คนที่นี่จึงมีความหลากหลายทางความคิดและวัฒนธรรม หลายคนไม่มีความรู้ ไม่มีทักษะการประกอบอาชีพ และอยู่ในภาวะขัดสนเงินทอง ทุกคนจึงต้องอาศัย แรง ทุนเดิมเดียวที่ติดตัวมาเข้าแลกเงินตราในระบบแรงงานไร่อ้อย เพื่อนำมาซื้อหาปัจจัยสี่ประคองชีวิตให้อยู่รอด แต่ด้วยปัญหาปัจจัยสี่มีมูลค่าสูงกว่าแรงงาน กอปรกับปัญหาค่านิยมในสังคมบริโภค ทำให้รายได้ที่ได้มาไม่พอจุนเจือครอบครัว ชาวบ้านจึงต้องตกกระไดพลอยติดหนี้สินเงินกู้แรงงานไร่อ้อยรูปแบบต่าง ๆ ตามแต่นายทุนจะหามาล่อใจ

เมื่อเกิดปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับการแลกเปลี่ยนสินค้า บ้าน…หนึ่งในปัจจัยสี่ราคาแพง จึงเป็นอีกสิ่งที่ชาวบ้านไม่มีกำลังพอที่จะซื้อหาหรือว่าจ้าง แต่ด้วยความจำเป็นต้องมีที่อยู่อาศัย ทำให้ชาวบ้านหลายคนต้องลักลอบตัดไม้ในเขตหวงห้ามบริเวณหมู่บ้าน หลายครั้งเล็ดลอดสายตาทางการได้ก็โชคดีไป แต่บางครั้งโชคร้ายถูกจับได้ก็ต้องถูกดำเนินการทางกฎหมาย เมื่อเสาหลักของครอบครัวต้องถูกจองจำ จึงส่งผลให้สถาบันครอบครัวอันเป็นสถาบันหลักที่สำคัญที่สุดเริ่มสั่นคลอนลง ก่อให้เกิดปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น การเปลี่ยนคู่ครอง ยาเสพติดกับเยาวชน การย้ายถิ่นฐาน และปัญหาคนชราและเด็กกำพร้า เป็นต้น

นี่คือสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมวังตอตั้ง หมู่บ้านชายขอบแนวเขาภูเขียว เขตอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ที่แม้จะมีหน่วยงานทั้งทางภาครัฐและเอกชนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่ปัจจุบันสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นต่าง ๆ ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วไป

การก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติ โดยการนำของ ครูจรังศรี มาดีสุขสถิตย์ ลูกผู้หญิงผู้มีความเชื่อมั่นในระบบการเกื้อกูลกันระหว่างธรรมชาติและการดำรงชีวิตของมนุษย์ ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่นำมาทดลองใช้ในพื้นที่วังตอตั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของสมาชิก โดยใช้ระบบเกษตรชีวภาพเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และเน้นการผลิตปัจจัยสี่ด้วยตนเอง มีการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อการพึ่งพาตนเองให้กับชาวบ้านมากมาย เช่น เกษตรชีวภาพ ปศุสัตว์ชีวภาพ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ส่งเสริมการประกอบอาชีพ ทำผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ฝึกทักษะการเย็บผ้าด้วยมือ และการเรียนรู้เรื่องสมุนไพร เป็นต้น ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการกว่า 20 ครัวเรือน ด้วยความช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างสมาชิก ทำให้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นได้รับการแก้ไขและคลี่คลายลง เข้าสู่แนวทางการพึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่ง เว้นก็แต่เรื่องที่อยู่อาศัย ที่นับวันปัญหาก็ยิ่งเลวร้ายลง… จนกระทั่งวังตอตั้งได้เข้าร่วมโครงการวิจัยและพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ชาวบ้านจึงค้นพบทางออกของปัญหา โดยการนำภูมิปัญญาการทำไม้กวาดที่ตนเองมีอยู่ไปแลกเปลี่ยนกับภูมิความรู้เรื่องการก่อสร้างบ้านดินของ ชุมชนมั่นยืน จ.ชัยภูมิ ผลจากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ครั้งนั้น ทำให้วังตอตั้งมีแหล่งเรียนรู้เรื่องบ้านดินขึ้นมาหนึ่งหลัง และเพิ่มจำนวนเป็นแปดหลังในปีต่อ ๆ มา เนื่องจากชาวบ้านเล็งเห็นแล้วว่า บ้านดินอยู่อาศัยได้จริง สามารถตอบโจทย์ความพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นทางออกของปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยที่ดีที่สุดของตน ณ เวลานี้

หลังจากได้ดำรงชีวิตอยู่ในบ้านที่ทำขึ้นด้วยสองมือสองเท้าของตนเอง เจ้าของบ้านดินแต่ละหลังก็เริ่มมองเห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับบ้าน

พ่อสนั่น โคตรศรี…….เล่าเรื่องบ้านดินสีขาวของตนอย่างภาคภูมิใจ
กับการใช้เงินทุนเพียง 500 บาทในการสร้างที่อยู่อาศัยทั้งหลัง
พร้อมวางแผนการสร้างบ้านดินเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

แม่บัวไหล แขมภูเขียว…….ต่อเติมม้านั่งดินสำหรับรับแขกที่หน้าบ้าน
และสร้างบ้านดินเล็ก ๆ หลังใหม่ แยกให้ลูกชายคนเล็กได้อยู่อีกหนึ่งหลัง
ด้วยหวังให้ลูกชายได้มีชีวิตครอบครัวที่มั่นคงในอนาคต

ลุงจำปี งามภูเขียว……. ภายหลังจากตัดสินใจขายไม้ฝาเพื่อตบแต่งลูกสะใภ้จนเหลือเพียงเสาและหลังคา ลุงจำปีจึงเลือกใช้ดินต่อเติมส่วนผนังบ้านให้สมบูรณ์ ใช้ความเพียรและขันติต่อสู้กับความเจ็บป่วยทางร่างกาย แม้พิษงูที่เท้าจะทำให้ทรมานเพราะเริ่มมีอาการผิดปกติ แต่ก็อดทนใช้ผ้าพันแผลและใส่รองเท้าบู๊ตย่ำดินทำอิฐและก่อผนังด้วยตนเอง

 

ครูจรังศรี มาดีสุขสถิต…….ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติวังตอตั้ง หญิงที่ชาววังตอตั้งทุกคนพร้อมใจกันเรียกว่า แม่ อธิบายคุณค่าของบ้านดินว่า… บ้านดิน…คือสื่อกลางที่ทำให้สมาชิกในโครงการได้มีเวลาอยู่ด้วยกัน เป็นช่วงเวลาที่ดีในการปลูกฝังแนวคิด ร่วมกันวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาของเพื่อนสมาชิก เป็นการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นในตัวบุคคล มีความมั่นใจในตนเองและมีจิตใจที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป

นอกจากนี้คุณครูยังกล่าวเสริมอีกว่า คุณค่าของบ้านดิน อยู่ตรงที่ความภูมิใจที่ได้ทำด้วยมือ จะสวยหรือไม่ก็พอใจ เพราะไม่ได้ทำลายธรรมชาติ อุ่นใจที่มีธรรมชาติคอยดูแล พลอยส่งผลให้สุขภาพกายและจิตแข็งแรง และที่สำคัญที่สุดคือบ้านดินได้เข้ามาเป็นส่วนช่วยเติมเต็มให้สมาชิกสามารถผลิตปัจจัยสี่ได้ด้วยตนเองอย่างครบวงจรตามวัตถุประสงค์หลักของโครงการที่ได้วางไว้

และนี่คือหมู่บ้านดิน…วังตอตั้ง ที่ที่ทำให้เรามองเห็นภาพคุณค่าของบ้านดินที่ชัดเจนที่สุดแห่งหนึ่ง ที่ที่ชาวบ้านไม่ได้สร้างบ้านดินด้วยเห็นเป็นแฟชั่น เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ แต่ยกระดับให้บ้านดินเป็นทางเลือก ทางออกที่ดีและมีค่ามากที่สุดของพวกเค้า…ชาวนาวังตอตั้ง

แท้จริงแล้วพระแม่ธรณีท่านทรงโอบอุ้มเราทุกคนให้อยู่อย่างเป็นสุขบนทุกผืนแผ่นดิน
ไม่เว้นแม้แต่ดินแดนแห่งหินและความแห้งแล้งแห่งนี้…บ้านดินคู่ธรณี…วังตอตั้ง

:หนอนบ้าดิน