90 ปี ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน เจ้าผู้ไม่ธรรมดา

Posted on

90 ปี ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน เจ้าผู้ไม่ธรรมดา

เขียนโดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
ที่มา https://www.the101.world/90-years-of-saisawasdee-svasti/

 

 

คนที่มีอายุยืนยาวมาจนถึง 90 ปี ยังมีสุขภาพกายแข็งแรงและจิตใจแจ่มใสนับว่าหาได้ยากยิ่ง โบราณถือว่าคนเหล่านี้มีบุญ

เมื่อเร็วๆ นี้ลูกหลานและญาติสนิทมิตรสหายทุกรุ่น ได้ร่วมจัดงานฉลองครบรอบอายุ 90 ปีให้กับ ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน หรือป้าหน่อย ธิดาในหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน และหม่อมเสมอ สวัสดิวัตน ณ อยุธยา

 

หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน หรือท่านชิ้น เป็นพระเชษฐาต่างพระมารดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านเป็นอดีตหัวหน้าขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ มีจุดมุ่งหมายเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามารุกรานประเทศไทย โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการในเวลานั้นเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศ และต่อมาท่านชิ้นเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทำให้ไทยไม่ต้องกลายเป็นประเทศแพ้สงครามหลังสงคราม

ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน จบการศึกษาระดับชั้นประถมที่โรงเรียนราชินี เมื่ออายุ 14 ขวบไปเรียนต่อระดับมัธยมที่ประเทศอังกฤษ จนจบการศึกษาระดับปริญญาด้าน food science ต่อมาได้แต่งงานกับคุณแกรี ทอมสัน และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอังกฤษ เด็กนักเรียนไทยที่ไปศึกษาต่อในประเทศนี้ หลายคนรู้จักท่านเป็นอย่างดี เพราะบ้านของท่านเป็นบ้านขนาดใหญ่เพื่อให้นักเรียนได้มาพักอาศัย จนเรียกได้ว่า ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองของนักเรียนไทยจำนวนมากตลอดระยะเวลาสามสิบกว่าปีที่ท่านอยู่อังกฤษ

ในปี พ.ศ. 2519 ป้าหน่อยในวัยสี่สิบกว่า ได้ดำรงตำแหน่งสภานายกสามัคคีสมาคม เป็นสมาคมนักเรียนไทยและคนไทยในอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ. 2444 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมัยดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารในสมัยนั้น) กำลังทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นสมาคมที่ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา แก่บรรดาประชาชนชาวไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษา เพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถปรับตัวให้เข้ากับการดำเนินชีวิตในประเทศที่ห่างจากบ้านเกิดและสามารถศึกษาเล่าเรียนได้อย่างเต็มที่

หลังจากนั้นไม่นาน ได้เกิดเหตุการณ์สังหารโหดนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ป้าหน่อยได้เขียนบันทึกเล่าให้ลูกหลานฟังว่า

“ขณะนั้นข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งสภานายกสามัคคีสมาคม เมื่อได้ยินข่าวและเห็นภาพ 6 ตุลา ใน BBC TV เห็นนักศึกษาถูกถอดเสื้อมามัดแขนไว้ข้างหลัง นอนราบอยู่กับพื้นสนามในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้าพเจ้าไปสำนักงานสามัคคีสมาคมในลอนดอนทันที พบกับปีเตอร์ อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในคณะกรรมการ ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรกันดี อยากจะส่งข่าวถึงนักศึกษาเพื่อแสดงความเห็นใจและให้กำลังใจ จากนักเรียนไทยในอังกฤษ”

และเมื่อดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาถึงลอนดอนอย่างปลอดภัย ความจริงว่าอะไรเกิดขึ้นจากการประท้วงของนักศึกษาซึ่งจบลงอย่างน่าเศร้าสลดจึงถูกเปิดเผย มีนักเรียนไทยในอังกฤษหลายสิบคน ใส่หน้ากากออกมายืนประท้วงหน้าสถานทูตไทย ขณะที่รัฐบาลขวาจัดของธานินทร์ กรัยวิเชียร ประกาศห้ามไม่ให้มีการชุมนุมมากกว่า 5 คน แต่คณะกรรมการสามัคคีสมาคมตกลงขัดขืนคำสั่งรัฐบาล ในเมื่อเราไม่สามารถประชุมกันในห้องสมุดของสมาคมเพราะอยู่ในตึกสถานที่ราชการ เราจึงต้องไปจัดการประชุมใน Imperial College มหาวิทยาลัยลอนดอน เพื่อแถลงและอภิปรายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ”

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีดอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ได้พยายามเดินสายชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นให้สาธารณชนได้รับทราบในหลายประเทศ ท่านต้องทุกข์และเหนื่อยเพียงใด แต่ท่านเดินทางตลอดเวลาไม่ยอมหยุดพัก ต่อมาท่านเริ่มตั้งมูลนิธิมิตรไทย เพื่อเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทย ท่านเป็นประธานมูลนิธิ โดยมี ม.ร.ว.สายสวัสดี เป็นรองประธาน

“เพราะข้าพเจ้ามีเชื้อสายเจ้า ฉะนั้นการมีชื่อข้าพเจ้าในคณะคงจะช่วยไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นมูลนิธิคอมมิวนิสต์ และประชุมกันที่แฟลตของข้าพเจ้าเอง”

ต่อจากนั้นอีกสองสามเดือน รัฐบาลส่งคุณสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีมหาดไทยมาที่ลอนดอน ให้มาแถลงข้อเท็จจริงของรัฐบาลที่ห้องประชุมสามัคคีสมาคม ท่านบันทึกว่า

“มีคนมาฟังแน่นห้อง ข้าพเจ้านั่งข้างๆ คุณสมัคร ไม่ว่าคุณสมัครจะพูดอะไร ผู้คนจะโห่ฮาว่าไม่เชื่อ พอคุณสมัครพูดว่า “ไม่ได้จับกุมใคร ไม่มีนักโทษการเมือง” เท่านั้นมีผู้หญิงอังกฤษชื่อ Peggy เดินพรวดเข้าไปที่คุณสมัคร โยนแฟ้มใส่คุณสมัครร้องว่า “โกหก นี่ไงรายชื่อของคนในคุก” และเห็นคุณสมัครเดินออกจากห้องอย่างรวดเร็ว

“วันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าถูกสถานทูตไทยเรียกตัวไปติเตียนต่อว่า ทำให้สถานทูตเสื่อมเสียอับอายเป็นอย่างยิ่ง”

คุณนิวัติ กองเพียร นักเขียนชื่อดังได้เล่าให้ผู้เขียนฟังถึงประสบการณ์กับป้าหน่อยครั้งหนึ่งว่า

“ผมเป็นหนี้บุญคุณอันใหญ่หลวง เพราะพี่หน่อยคือคนที่ช่วยเหลือเจือจานผมเมื่อตอนหนีภัยการเมือง 6 ตุลา 2519 ไปอยู่ลอนดอน ผมได้ไปอาศัยที่บ้าน Squire hill ไม่ไกลจากลอนดอน

“พี่หน่อยเป็นผู้หญิงแกร่งและเก่ง พูดภาษาอังกฤษสำเนียงเพราะมาก มีจิตใจโอบอ้อมอารีต่อทุกคน ทำงานรับใช้ส่วนรวมอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะสามัคคีสมาคม พี่หน่อยเป็นกรรมการคนสำคัญที่จัดการให้ปราชญ์ผู้นำมาพบกันและได้เชิญชวนให้คนไทยมาพบปะเสวนาคือท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์และอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ Imperial Collage”

22 กรกฎาคม 1977 เป็นวันสุดท้ายในตำแหน่งสภานายกสามัคคีสมาคมของม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน ท่านจัดให้มีการประชุมใหญ่ประจำปี และเชิญแขกผู้มีเกียรติเป็นองค์ปาฐกในวันนั้น คือ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ มาพูดเรื่อง ‘เราจะต่อสู้เผด็จการได้อย่างไร’ และ ดร.ป๋วย เรื่อง ‘ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ’ ก่อนเริ่มประชุมท่านทั้งสองนั่งเคียงข้างให้ถ่ายรูปบนเก้าอี้หน้าตึก และได้กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ไปแล้ว

ป้าหน่อยจำได้ดีว่า

“วันนั้นเป็นวันสุดท้ายที่ดร.ป๋วยปรากฎตัวในที่สาธารณะ หลังจากนั้นท่านได้ล้มป่วยเกี่ยวกับเส้นเลือดในสมองจากความเครียด และไม่สามารถพูดอะไรให้เราฟังได้อีกเลยไปตลอดชีวิต”

 

ทุกครั้งที่มีการจัดงานรำลึกถึงเสรีไทย หรือการจัดงานรำลึกถึงท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ป้าหน่อยก็จะไปร่วมงานเกือบทุกปี ในฐานะลูกหลานเสรีไทย และรำลึกถึงคุณงามความดีของท่านปรีดี พนมยงค์ และความผูกพันที่มีต่อพ่อ

ป้าหน่อยเล่าให้ฟังว่า

“แม้ว่าครั้งหนึ่งทั้งสองจะมีจุดยืนตรงข้ามกัน เพราะอาจารย์ปรีดีเป็นต้นคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ต้องสละราชสมบัติและสวรรคตในต่างแดน แต่เมื่อคราวบ้านเมืองคับขัน ทั้งคู่ก็ลืมความขัดแย้งมาจับมือเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ไว้วางใจกัน อาจารย์ปรีดีก็เห็นใจพ่อที่ถูกกล่าวหาโดยไม่ยุติธรรม ทำงานร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ของชาติ เพื่อประชาธิปไตย ต่อมาพ่อก็ให้ loyal support ต่ออาจารย์ปรีดีเต็มที่เช่นเดียวกัน เมื่ออาจารย์ปรีดีถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมว่าเป็นผู้วางแผนปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8

“พ่อเป็นเจ้านายองค์เดียวที่ประกาศความบริสุทธิ์ของอาจารย์ปรีดี ไม่เชื่อว่าอาจารย์ปรีดีมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตแม้แต่น้อย และเชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุอย่างเดียว เจ้านายองค์อื่นๆ ออกจะหมั่นไส้พ่อว่าหลงเสน่ห์อาจารย์ปรีดี ไม่ร่วมกับเจ้านายองค์อื่นๆ สมน้ำหน้าอาจารย์ปรีดีที่โดนรับกรรมที่ตนทำเอาไว้กับราชวงศ์จักรีที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ่อออกจะเป็น ‘หมาหัวเน่า’ ไม่มีใครอยากคบสมาคม

“พ่อใช้เวลาเขียนหนังสือกราบบังคมทูลเป็นร้อยหน้าเมื่อมิถุนายน 2490 พยายามอธิบายกรณีที่ว่ามีการลอบปลงพระชนม์นี้ว่าเป็นแผนทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับอาจารย์ปรีดี ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์และพวกเผด็จการ ที่จะทำลายอาจารย์ปรีดี ในความเห็นของพ่อนั้น พ่อเชื่อแน่ว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตามลำพังพระองค์เอง พ่ออธิบายโดยละเอียดว่าอุบัติเหตุนี้อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างไร “

ตลอดชีวิตของป้าหน่อย ท่านเป็นคนมีมิตรสหายมากมาย คบผู้คนทุกรุ่น ตั้งแต่ราชวงศ์ชั้นสูงมาถึงคนธรรมดา ชอบออกงานสังคมพอๆ กับการไปฟังงานสัมมนาวิชาการต่างๆ อย่างใฝ่รู้ ท่านเป็นคนเรียนรู้ตลอดเวลา เชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพของผู้คนตามระบอบประชาธิปไตย รักความยุติธรรม ไม่ชอบการกดขี่ข่มเหง ชอบแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนหลากหลาย หลายรุ่น

ท่านมีนิสัย ชอบเป็นคนตั้งคำถามกับเรื่องที่สงสัย ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ และต้องไปหาคำตอบให้ได้

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มิตรผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งเล่าว่า

“เมื่อปี 2527 คุณหน่อยได้ชักชวนมารดา-พี่น้องยกที่ดิน 34 ไร่กว่า ให้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป สร้างเป็นอาศรมวงศ์สนิท โดยตั้งชื่อตามผู้บริจาคที่ดิน อาศรมแห่งนี้เป็นสถานที่สำหรับนักกิจกรรมทางสังคมให้ไปพักฟื้นทางร่างกายและจิตใจ สมตามความหมายของ อาศรม อันหมายถึง สถานที่หรือชุมชนของบุคคลที่รักความสงบ เคารพคุณค่าของธรรมชาติ บนพื้นฐานของการ ภาวนาและสันติ

“คุณหน่อยเป็นสตรีที่งดงามทั้งรูปร่างและจิตใจ เธออุดหนุนจุนเจือกิจการต่างๆ ทางด้านสังคมสังเกคราะห์ และการให้เกิดความยุติธรรมในสังคม เธอยังทำกิจกรรมมากมายปิดทองหลังพระ เพื่อคนยากไร้ ยืนหยัดตามรอยพระบิดา อุดหนุนประชาธิปไตย อุทิศตนเพื่อท่านอาจารย์ปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์”

ทุกวันนี้ในวัย 90 ป้าหน่อยยังเดินหลังตรงด้วยตนเอง ออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำและเดินทุกวัน เหมือนกับที่ท่านปฏิบัติตลอดห้าสิบกว่าปี ท่านยังสนใจติดตามความเคลื่อนไหวของผู้คนในสังคมตลอด สนใจความคิดความอ่านของคนรุ่นใหม่ ลงไปสัมผัสกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองด้วยตนเอง และชอบแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนทุกวัย ด้วยความสุภาพ เรียบร้อยและอ่อนน้อมถ่อมตน

คงมีบุคคลในราชวงศ์ชั้นสูงไม่กี่คน ผู้ใช้ชีวิตได้คุ้มค่า กล้าแสดงออกในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ สนใจความยุติธรรม สิทธิ เสรีภาพของประชาชนและลงมาสัมผัสกับชีวิตผู้คนอันหลากหลายด้วยความสนใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง