ตราไว้ในดวงจิต ตอน29

Posted on

ตอนที่ ๒๙ ลูกน้อย

ที่มา : หนังสือ ตราไว้ในดวงจิต บันทึกเรื่องราวอาศรมวงศ์สนิทยุคบุกเบิก เขียนโดย ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล


118ลูกคลอดเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๒๙ ไม่ได้ตั้งชื่อลูกไว้ก่อนเห็นหน้าลูกแล้วจึงคิดชื่อ แม่ชื่อปอน ลูกชื่อปูนก็แล้วกันตั้งกันง่ายๆ แต่ความหมายลึกซึ้ง ถ้าเป็นจำปูน ก็เป็นไม้ไทยดอกหอม กลีบดอกหนาแข็งแรง เป็นไม้หายาก เท่าที่เคยพบปลูกเฉพาะในภาคใต้อันเป็นภูมิลำเนาถิ่นกำเนิดป้าปอน ถ้าเป็นเปียกปูนก็ฟังดูคล้องจองกับชื่อแม่ถ้าจะให้แม่ชื่อเปียกปอน แต่แม่ถูกใจความหมายของปูนปั้นเมื่อแรกนั้นจะอ่อนตัว ปั้นประดิษฐ์ตกแต่งให้งดงามได้ตามแต่ฝีมือผู้ปั้น ครั้นแข็งตัวแล้วก็จะคงรูปลักษณ์ไม่แปรผัน และอาจเติมแต่งต่อให้วิจิตรได้ในภายหน้า ส่วนชื่อจริงลุงสมชายตั้งให้ว่า

“สุชีวิน” แปลว่าชีวิตที่ดีงามหรือผู้มีชีวิตที่ดีงามสังเกตได้ว่าแม่ตั้งก็เอาตามชื่อแม่ พ่อตั้งก็เอาตามชื่อพ่อพอลูกโตพอจะพูดได้เราก็ล้อเลียนลูกกันด้วยความเอ็นดูแม่เรียกลูกว่า “ฉู่ฉี่วิน” พ่อก็เรียกเป็นเพลงว่า “จำปูนน้องเจ้าจำปา จำปาพี่เจ้าจำปี” ลูกก็ร้องตามว่า “ปูน ปา ปี”

ก่อนหน้านี้แม้จะแต่งงานหลายปีแล้วแต่เราอยู่ในเมืองกรุงและป้าปอนรับราชการ ถ้ามีลูกก็จะต้องฝากย่า ยาย หรือพี่เลี้ยงช่วยเลี้ยงให้ ป้าปอนจึงไม่ยอมมีลูก คิดว่าลูกควรก็จะได้เติบโตตามศักยภาพพ่อแม่ และมีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกับพ่อแม่ ถ้าให้คนรุ่นย่ายายเลี้ยง ลูกก็จะมีทัศนคติหลักลักลั่นสับสนไม่รู้จะเชื่อแบบโบราณหรือตามยุคสมัยดี ถ้าให้พี่เลี้ยงซึ่งมีความรู้น้อยแต่กลับได้มีเวลาดูแลลูกเราเป็นส่วนใหญ่เลี้ยง การเติบโตของลูกทั้งสมองและร่างกายก็อาจไม่เต็มที่ทำให้เสียโอกาสบางอย่างไป จนมาอยู่ที่อาศรมวงศ์สนิทการงานกับวิถีชีวิตไปด้วยกันจึงตัดสินใจมีลูก และก็ได้เลี้ยงเอง ดูเอง สอนเองสมใจ

ครั้งหนึ่งมีแขกมาเยี่ยมชมวิถีชีวิตอาศรมวงศ์สนิทแบบมาสายบ่ายกลับเห็นเด็กชายปูนอายุขวบกว่าวิ่งเล่นอยู่คนเดียวบนพื้นดินที่ลานหน้าเรือนแรก ก็ติติงด้วยความห่วงใยและปรารถนาดีว่า

“คุณมาอยู่อย่างนี้ทำให้ลูกเสียโอกาสนะ โตขึ้นลูกอาจจะไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย”

ป้าปอนก็ได้แต่ขอบคุณความห่วงใยและตอบว่า

“ลูกก็ต้องเติบโตไปตามฐานะของพ่อแม่ ค่อยเป็นค่อยไป แล้วอีกตั้งสิบกว่าปีกว่าลูกจะโตพอเข้ามหาวิทยาลัย ถึงตอนนั้นเหตุการณ์คงเปลี่ยนไปจากนี้บ้าง”

แขกก็จำยอมตามความเห็นป้าปอน เขาเข้าใจว่าถึงเวลานั้นป้าปอนอาจฐานะดีกว่านี้ อาจอพยพโยกย้ายกลับเมืองกรุง แต่แท้จริงแล้วในใจป้าปอนคิดว่าถึงเวลานั้นมหาวิทยาลัยจะยังมีอยู่ หรือยังจำเป็นหรือไม่หนอช่วงนี้ลุงสมชายในฐานะนักแสวงหาเริ่มออกเดินทางอีก ด้วยพบว่าอาศรมวงศ์สนิทและวิถีเช่นนี้ไม่ใช่พื้นที่ที่เหมาะสมกับศักยภาพและความถนัดของตนแม่ปอนและลูกปูนจึงมักอยู่กันตามลำพัง หรือบางช่วงก็มีอาสาสมัครมาช่วยงานและเรียนรู้วิถีชีวิต บางช่วงก็มีสมาชิกใหม่เพิ่มมาและออกไป แม่ลูกใช้เวลาแทบทั้งหมดอยู่ด้วยกันจึงเรียนรู้ที่จะถ้อยทีถ้อยอาศัยเป็นกำลังกายกำลังใจให้กันเข้าใจและรู้อารมณ์กันอย่างมาก อย่านึกว่าเราจะหงอยเหงาเศร้าสร้อยนะ ตรงข้ามทีเดียวเราหยอกล้อกันขำขันเฮฮาปาร์ตี้เสมอ ป้าปอนร้องเพลง แต่งเพลงแปลเพลงให้ลูกในการเล่น กิน นอน อาบน้ำ เรียนรู้ ทำให้ทุกกิจกรรมสนุกสนานลองฟังที่ป้าปอนแต่งสักเพลงในเวอร์ชั่นเสียงร้องเด็กชายปูน

“ฉะบู่จอนชั้นฉำาหลับเด็กชายปู๊น เด็กชายปู๊นชอบฉะบู่จอนฉัน

อาบน้ามมมมม ทุกวันฉะอาดฉะอ้านด้วยฉะบู่จอนฉัน

อาบเฉ็ดแล้วทาแป้งจอนฉัน”

125ลุงสมชายมีเพลงมาร่วมเช่นกัน สร้างสรรค์ขึ้นมาจากการจำเพลงเดิมผิดๆ ถูกๆ บวกอารมณ์ขันและจินตนาการไร้ขอบเขต สร้างความครึกครื้นเฮฮาไม่น้อยหน้า ลูกปูนก็ดัดแปลงสร้างสรรค์ด้วยตัวเองด้วย เช่นร้องเพลงค่าน้ำนมด้วยเสียงวรรณยุกต์จัตวาทั้งเพลง

“ค๋าน๋ำน๋มแม๋นี๋จ๋ะมี๋อะไร๋เหมาะฉม โอ๋ว๋าแม๋จ๋าหลูกคิดถึงค๋าน๋ำน๋ม เลือก ในอกผะฉมกลั่นเป๋นน๋ำน๋มให้ลูกดื่มกี๋นนนนนนนน”

อาชีพเดิมลุงสมชายเป็นนักเขียน งานป้าปอนเองก็ต้องอ่านต้องเขียน บ้านน้อยของเราจึงมีหนังสือจำนวนมากอัดแน่นบนชั้นไม้ที่ต่อขึ้นเอง เรื่องราวและภาษาที่เราสนทนาก็ใกล้เคียงภาษาหนังสือ ลูกจึงซึมซับเนื้อหาและการจับประเด็นได้ตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก ป้าปอนร้องเพลงกล่อมเด็กโบราณเท่าที่ได้ยินมาและจำได้อาจผิดเพี้ยนไปบ้าง

“นกกาเหว่าเอยไข่ไว้ให้แม่กาฟัก แม่กาก็หลงรักคิดว่าลูกในอุทร คาบเอาข้าวมาเผื่อ คาบเอาเหยื่อมาป้อน ถนอมไว้ในรังนอนซ่อนเหยื่อมาไว้ให้กินปีกเจ้ายังอ่อนคอแค ท้อแท้จะสอนบิน แม่กาพาไปกินที่ฝั่งน้ำพระคงคา กินกุ้งแลกินกั้ง หอย กระพัง แมงดา กินแล้วก็โผมาเกาะที่ต้นหว้าโพธิ์ทอง ยังมีนายพรานเที่ยวด้อมๆ มองๆ ยกปืนขึ้นส่องจ้องเอาแม่กาดำ คนหนึ่งว่าจะต้ม อีกคนหนึ่งก็ว่าจะยำ กินนางแม่กาดำ ค่ำคืนนี้เข้านอนเอย”

ลูกฟังแล้วทำหน้าเศร้าสงสาร แสดงว่าลูกคิดตามไปด้วย

อีกครั้งหนึ่งป้าปอนกล่อมด้วยเพลงลูกทุ่งประเภทฝนเดือนหก แม่นางนกขมิ้น รอยแผลเก่า เซียมซีเสี่ยงรัก รักกลางจันทร์ อะไรพวกนี้ พอถึงเพลงบางกอกน้อย ของชัยชนะ บุญญโชติ

“สุดคลองบางกอกน้อย… พายเรือตามหาบัวลอย จนเหงื่อพี่ย้อยโทรมกาย ปากพี่ตะโกนกู่ ถึงยอดชู้เพื่อนร่วมกาย ไม่รู้ว่าเจ้าจมหาย ลอยไปแห่งใดเล่าหนา

ใจพี่แทบขาดแล้ว… มือคงยังจ้ำยังแจว ตามหานางแก้วดวงตา ศพน้องเจ้าลอยล่องอยู่ใต้ท้องสุธารา หรือว่าลอยออกนอกเจ้าพระยา จึงค้นหาไม่พบศพบัวลอย

โถ…เจ้าว่ายน้ำไม่เป็น ยังลงว่ายเล่น เพียงเห็นชื่นเย็นนิดหน่อย น้ำเชี่ยวยิ่งเหลือ เจ้าจึงเป็นเหยื่อ คลองบางกอกน้อย จิตใจพี่ให้เศร้าสร้อย ถึงบัวลอย แม่จอมขวัญ

สุดหล้าสุดฟ้าเขียว… เธอเป็นแม่พระองค์เดียว ที่เหนี่ยวใจรักคงมั่น เจ้าสิ้นใจต่อหน้า ด้วยพี่คว้าเจ้าไม่ทัน เหมือนพิฆาตเด็ดดวงชีวัน จอมขวัญนงนุช สุดบูชา”

แม่ร้องไปได้สักครู่ลูกก็ตื่นเต้นกับเรื่องราวในเพลง ลุกขึ้นนั่งตั้งใจฟังซักถามด้วย หายง่วงไปเลย

ตอนลูกยังเป็นทารกเดินไม่ได้ แม่นำลูกใส่กระเป๋าผ้ามัดติดหลัง (หมายถึงกระเป๋าสำหรับใส่ทารกนั่นแหละค่ะ สีเหลืองอ๋อยเลย ทำในประเทศญี่ปุ่น ใช้ดีมาก จำไม่ได้ว่าใครนำมาให้) ไปไหนไปด้วยกัน แม่เดินหว่านเมล็ดพันธุ์กระเจี๊ยบแดงทั่วพื้นที่ว่างในอาศรมฯ และลูกก็ไปด้วย ช่วงนี้ป้าปอนเลือกปลูกต้นไม้ด้วยวิธีหว่านเมล็ดเป็นส่วนใหญ่ เพราะระหว่างลูกอยู่บนหลังการขุดดินจะทำได้ยากแม่นั่งซักผ้าที่ท่าน้ำริมคลองลูกก็ได้เห็นจากบนหลังแม่ เวลาเดินทางไปข้างนอกต้องพายเรือและไปต่อจักรยานยนต์รับจ้าง เคยลองเอากระเป๋าลูกไว้ข้างหน้าแบบจิงโจ้ แต่กลับไม่ปลอดภัย กระเป๋ามักเลื่อนลงจนแม่ต้องละมือจากการพายเรือมาประคองลูก และคิดว่าถ้าเรือล่มลูกอาจหลุดหาย พิจารณาแล้วลูกอยู่ข้างหลังลูกปลอดภัยกว่า เพราะกระเป๋าจะถูกล็อกกับไหล่แม่ไม่เลื่อนหลุด เช่นเดียวกับการสะพายเป้นั่นเอง สองมือสองแขนแม่ก็เป็นอิสระที่จะว่ายน้า จับยึดเหนี่ยว รถ เรือ หรือกำจัดสิ่งกีดขวางได้ นึกถึงสำนวนที่ว่า “ลูกรักอยู่หลังลูกชังอยู่หน้า” ไม่รู้ที่มาแต่เข้าใจว่าคงหมายถึงถ้าลูกอยู่ด้านหลัง แม่ซึ่งอยู่ข้างหน้าก็จะปกป้องโดยหันหน้าเข้าต่อสู้เผชิญภัยไม่ให้ถึงตัวลูก บางคนว่าสำนวนนี้เขาหมายถึงวิธีดูแลลูกของแม่ลิง ที่เราเห็นลูกเกาะอยู่ข้างหน้าบ้างหลังบ้าง

มีบางคืนที่ลูกนอนไม่หลับร้องโยเยอยากให้อุ้มเดินไปเที่ยว แต่ทั่วท้องทุ่งมืดมิดมีเพียงแสงตะเกียงบนบ้าน ป้าปอนก็แก้ปัญหาโดยอุ้มเดินเข้าเดินออกจากในบ้านไปที่ชาน จากชานกลับเข้าบ้านหลายๆ รอบเป็นการเพิ่มระยะทางทั้งๆ ที่บ้านก็ขนาดประมาณกว้าง ๔ เมตร ยาว ๕ เมตร ระเบียงก็กว้าง ๑.๕ เมตรยาว ๕ เมตร พออุ้มเดินเหนื่อยมากๆ ก็เคยโมโหจับลูกเขย่า ลูกก็ทำหน้างง ไม่รู้ว่าแม่โกรธเรื่องอะไร เลยหาวิธีใหม่โดยผูกเปลญวนกลางบ้าน ใช้เสาบ้านเป็นหลักแล้วนั่งอุ้มลูกแกว่งไกวไป ลูกก็รู้สึกว่าได้เคลื่อนไหว ส่วนแม่ก็ได้อยู่กับที่เหนื่อยน้อยลงหน่อย วิธีนี้แม่ชอบ

พอลูกเดินได้ก็เป็นช่วงที่อาศรมฯ มีสมาชิกเป็นครอบครัวมาอยู่ ประกอบด้วยน้าตู่กับน้าอี๊ด พร้อมด้วยลูก ๓ คน น้าตู่ตัดไม้ไผ่ที่ป้าปอนปลูกไว้ข้างบ้านมาปักกลางลานหน้าบ้านทำกระแตเวียนให้ลูกปูนได้เกาะเดินเป็นวงกลม

126บ่ายวันหนึ่งลูกตักน้ำราดใส่พื้นดินใต้ถุนบ้านแล้วขุดดินเฉอะแฉะเล่นจนเป็นแอ่ง เล่นจนง่วงนอนก็ร้องเรียกให้แม่อุ้ม ป้าปอนเห็นแล้วเหลือจะอุ้มได้บ่นว่ายังกะอยู่ในปลักควายเนื้อตัวเลอะเทอะด้วยดินโคลน ก็เลยหิ้วปีกพาไปแกว่งน้ำในคลองจนดินหลุดออกบ้าง แล้วยกขึ้นมาขัดสีฉวีวรรณบนท่าน้ำ อาบน้ำเสร็จก็ดื่มนมนอนหลับสบาย อีกสองสามวันต่อมาลูกบอกว่า

“คุณแม่คับ น้องปูนอยากเปลี่ยนชื่อ”

“ลูกอยากชื่ออะไรเหรอครับ”

“ชื่อปลักควาย น้องปูนอยากชื่อปลักควายคับ”

โธ่! ลูกฉัน

ไปไหนไปด้วยกันตั้งแต่ลูกอยู่บนหลังแม่ ลูกจึงเรียนรู้โลกกว้างและการงานของแม่มาตลอด ยิ่งเดินวิ่งได้แล้วก็มีอะไรให้เล่นให้ทำด้วยกันตลอด งานที่แม่ทำเป็นของเล่นสนุกของลูก แม่เก็บกระเจี๊ยบแดงลูกเบ้อเริ่มได้วันละหลายกะละมังใบโตนำมาตากแห้งเก็บไว้ขาย ก่อนตากต้องเอาเมล็ดออกก่อน แม่ใช้มีดตัดก้นผลออกเป็นวงกลม ให้ลูกปูนที่อายุสองขวบช่วยเอาดินสอกระทุ้งกระเปาะเมล็ดออกจากผลที่แม่ตัดไว้ เด็กชายปูนนั่งกับพื้นชานหลังบ้านทำงานอย่างเพลิดเพลินจนเสร็จหมดกะละมังทุกครั้ง

ชานด้านหลังบ้านเป็นมุมสบาย ครัวก็ลดระดับลงไปอีกชั้นหนึ่ง ระหว่างแม่หุงหาอาหารลูกก็นั่งเล่นที่ชานหรือวิ่งเข้าวิ่งออกระหว่างห้องหลักของบ้าน(ซึ่งก็มีอยู่ห้องเดียว) กับชานหลังบ้าน อาหารเสร็จแล้วแม่ก็ตักป้อนลูก อาหารที่อร่อยถูกใจเป็นพิเศษลูกจะชูนิ้วโป้งให้แม่พร้อมกับชมว่า

“เยี่ยม ! คุณแม่”

ถ้าถูกปากถูกใจมากขึ้นไปอีกก็ให้คะแนนด้วย

“เยี่ยม ! คุณแม่ ๒๐ เยี่ยม”

บางครั้งคะแนนก็เพิ่มถึง ๕๐ เยี่ยม ๑๐๐ เยี่ยม ยังความชื่นใจให้แม่ทั้งที่อาหารก็เป็นเพียงข้าว ไข่ต้ม ไข่เจียว ปลาทอด แกงจืดผักกาดขาวหมูสับ ถั่วเขียว เต้าส่วน กล้วยบวดชี ฯลฯ

อยู่กันสองคน ลูกมีแม่เป็นเพื่อนเล่นเพื่อนเรียน ป้าปอนสอนให้น้องปูนเปิดเทปเป็นตั้งแต่สองขวบ ลูกสามารถเล่นคนเดียวหรือฟังนิทานไปด้วย น้าโหนก*ภรรยาลุงใหญ่ วิศิษฐ์ วังวิญญู นำเทปเพลงภาษาอังกฤษมาให้ น้องปูนจึงได้ฝึกภาษาตั้งแต่เด็ก

วันหนึ่งป้าปอนมีธุระที่โรงเรียนในหมู่บ้าน พาลูกไปด้วย แล้วนึกขึ้นได้ว่าลูกควรจะได้มีเพื่อน ถามลูกว่าอยากมาโรงเรียนไหม ลูกอยากมา ครูก็อนุญาตบ่ายนั้นป้าปอนรีบกลับมาทำหมอนใบใหม่สำหรับนักเรียนอนุบาลไว้หนุนนอนกลางวัน โดยเย็บจากผ้าฝ้ายที่ทอเอง ยัดด้วยนุ่นจากต้นหน้าบ้านที่ปลูกเอง วันรุ่งขึ้นก็พาน้องปูนไปโรงเรียนเลย ชุดนักเรียนยังไม่มี ให้ใส่ชุดกางเกงหม้อฮ่อมเสื้อยืดและรองเท้าบู๊ท เพราะต้องลุยโคลนที่อาศรม สะพายย่ามของแม่มาด้วยไว้ใส่กล่องข้าว

ลูกไปโรงเรียนทุกวัน เช้าแม่พายเรือไปส่ง พากันเดินต่อถึงโรงเรียน เย็นไปรับ ไปได้สองสามวันลูกก็นำความรู้มาใช้ที่บ้าน

“แม่ หุงข้าวให้กูกินหน่อย” ป้าปอนงงสักครู่ พอเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นก็ปล่อยก๊าก บอกลูกว่า

“ลูกพูดกับแม่ดีๆ แม่ก็หุงให้อยู่แล้วค๊าบ ลูกไม่ต้องพูดตามเพื่อนหรอกค๊าบ”

ลูกเป็นเด็กโตเร็ว แข็งแรง อารมณ์ดี ฉลาดเฉลียว เราร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอย่างแท้จริง มีเรื่องราวให้จดจำเล่าซ้ำมากมาย บันทึกแสนยาวตอนนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง

* กุลยา วัชรพงษ์กิตติ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว