ตอนที่ ๒๘ ยามเจ็บป่วยที่มา : หนังสือ ตราไว้ในดวงจิต บันทึกเรื่องราวอาศรมวงศ์สนิทยุคบุกเบิก เขียนโดย ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล |
สามปีแรกของการอยู่ที่อาศรมวงศ์สนิท อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เรายังไม่เคยใช้บริการของสถานพยาบาลในท้องถิ่นเลย ครั้งที่กระดูกหลังป้าปอนมีปัญหาจากการหาบน้า ที่ได้พึ่งยายเภาหมอนวดในหมู่บ้านรักษาให้ก็เป็น การแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าเท่านั้น เวลาเจ็บป่วยเรายังมักทำตามความเคยชินเดิมๆ คือไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐในกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่ต้องขึ้นรถเมล์โดยสาร ๒ ต่อหลังจากที่นั่งเรือพายข้ามคลองและนั่งจักรยานยนต์รับจ้างออกมาปากคลองแล้ว ทั้งหมดใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓ ชั่วโมง มารอตามขั้นตอนของโรงพยาบาลอีกประมาณ ๒ ชั่วโมง เพื่อจะได้รับการตรวจจากแพทย์ประมาณ ๑๐ นาที ดังนั้นการไปหาหมอแต่ละครั้งเราต้องตื่นตี ๕ ออกจากบ้าน ๖ โมงเช้า ถึงโรงพยาบาล ๙ โมง ได้พบแพทย์เวลา๑๑ โมงเศษ เสร็จขั้นตอนรับยาเป็นที่เรียบร้อยก่อนเที่ยงเล็กน้อย รับประทานอาหารเที่ยงแล้วก็เดินทางกลับด้วยวิธีเดิม ถึงบ้านประมาณ๔ โมงเย็น เป็นไปตามมาตรฐานการรับบริการทางสาธารณสุขของประชาชนไทยไม่ขาดตกบกพร่อง ป้าปอนมีปัญหาหายใจไม่สะดวกตั้งแต่ยังอยู่ในกรุงเทพฯ แม้เวลาออกราชการต่างจังหวัดบางครั้ง พักที่บ้านชาวบ้านในหมู่บ้านก็ยังอึดอัดหายใจไม่เต็มปอด ต้องหายใจทางปากช่วย สังเกตด้วยตัวเองพบว่ารูจมูกข้างหนึ่งเล็กลีบ ไปตรวจที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งหมอตรวจดูแล้วก็บอกว่าคนเรารูจมูกสองข้างไม่เท่ากันเป็นปกติ ไม่มีอะไรน่ากังวล เมื่อมาอยู่ที่อาศรมวงศ์สนิทปัญหานี้ยังคงตามมารบกวน ได้ไปตรวจที่โรงพยาบาลราชวิถี หมอพบว่ากระดูกอ่อนระหว่างรูจมูกสองข้างคดทำให้ไปปิดรูข้างหนึ่งจนเหลือช่องนิดเดียว ก็รักษาด้วยการผ่าตัดนอนที่โรงพยาบาล ๓ คืน เพื่อนๆ ที่เคยไปอาศรมฯ รู้ข่าวก็ทยอยมาเยี่ยมกันทั้งวัน พูดคุยกันสนุกสนานเบิกบานราวอยู่ที่บ้าน ตกกลางคืนเพื่อนกลับหมดแล้วป้าปอนนอนปวดจมูกที่เพิ่งผ่าตัดมากจนต้องบอกคุณพยาบาล หลังจากให้ยาแก้ปวดแล้วคุณพยาบาลติงว่า “เพื่อนคุณมากันเยอะเกินไป” ป้าปอนก็รับฟังด้วยความภูมิใจในคำติที่แสดงว่ามีหลายคนเอาใจใส่ห่วงใยเรา หลังผ่าตัดแก้ไขได้เพียงเดือนเศษปัญหาหายใจไม่สะดวกก็กลับมาอีกไปตรวจใหม่พบปัญหาเพิ่มขึ้นคือมีอาการแพ้อากาศด้วย สังเกตได้ว่าการหายใจไม่สะดวกเป็นมากเวลาตากแดดหรืออากาศร้อน ดูเหมือนเยื่อบุภายในจมูกเกิดอาการบวมแดง ปิดรูข้างที่มีปัญหาให้ลีบเล็กยิ่งขึ้น และหลายเดือนต่อมาก็พบว่ากระดูกเติบโตกลับสู่ความคดเช่นเดิมอีกด้วย จากนั้นก็เลยไม่ผ่าอีก เพียงคอยระวังหลีกเลี่ยงการตากแดดนาน และไม่อยู่ในที่อากาศร้อน พกพัดประจำตัวพร้อมกับยาดมช่วยให้จมูกโล่งเวลามีปัญหา อาศรมวงศ์สนิทในช่วง ๕–๖ ปีแรกต้นไม้ยังไม่โต เวลาลงสวนก็อาศัยทำงานแบบหลบตามมุมที่มีร่มเงาไม้บังแดดเล็กๆน้อยๆ แต่ละปีที่ผ่านไปต้นไม้โตขึ้นก็มีร่มเงาให้เรามีพื้นที่ทำงานมากขึ้น ผ่าตัดแก้ปัญหาจมูกเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ ปีถัดมา พ.ศ.๒๕๒๙ ผ่าท้องคลอดลูกที่โรงพยาบาลท่าเรือ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ถัดมาอีกปีพ.ศ.๒๕๓๐ ผ่าซีสต์ก้อนเล็กๆ ข้างใบหูที่โรงพยาบาลราชวิถี พ.ศ.๒๕๓๑ ผ่าซีสต์ที่รักแร้ที่โรงพยาบาลราชวิถีเช่นกัน ทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาลเราทำตามขั้นตอนปกติ และกรณีต้องนอนพักรักษาในโรงพยาบาลป้าปอนก็อยู่ห้องสามัญ ยกเว้นตอนไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลในจังหวัดกาญจนบุรี หมอเป็นน้องชาย ได้ดูแลจัดให้อยู่ห้องพิเศษที่โรงพยาบาลเอกชนที่เขาทำงานอยู่ สมัยที่รับราชการเคยตั้งข้อสังเกตว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเขาอยู่กันลำบาก ทำงานหนัก รายได้น้อย เจ็บป่วยต้องออกค่ารักษาเอง พักห้องสามัญอย่างที่เรียกในสมัยก่อนว่าห้องอนาถา ในขณะที่ข้าราชการนั้นได้รับอภิสิทธิ์มากเหลือเกิน มีงาน (เบา) ทำมีรายได้ประจำ รัฐบาลเอาเงินจากภาษีของประชาชนมาดูแลตลอดถึงพ่อแม่ลูกเมียให้ได้รักษาฟรี อยู่ห้องพิเศษสะอาดสะดวกสบาย และตอนนี้เราก็มาเป็นราษฎรเต็มขั้นเคียงบ่าเคียงไหล่กับชนกลุ่มใหญ่เพื่อนร่วมชาติร่วมชะตากรรม ครั้งที่ผ่าซีสต์ข้างใบหู หมอให้ยาและสำลีมาทำความสะอาดแผลเองที่บ้านอีก ๑ สัปดาห์ ที่อาศรมฯ เราอาบน้ำคลอง แม้ตอนทำความสะอาดแผลเราใช้น้าฝนในตุ่ม แต่คุณอี๊ดที่ช่วยทำก็เพิ่งวางบุหรี่ ส่วนการสระผมก็ได้อังกี้ (Ankey)อาสาสมัครหญิงชาวเยอรมันช่วยสระให้ โดยให้ป้าปอนนอนบนพื้นกระดานท่าน้าอังกี้ตักน้ำในคลองสระให้แบบช่างสระผม แม้ระวังไม่ให้น้ำโดนแผล แต่คงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ครบสัปดาห์หอบแผลเน่าไปพบหมอ โดนหมอดุเรื่องความ (ไม่)สะอาด เลยจ๋อยกลับมา ต้องมาทบทวนกันใหม่ว่าจะทำอะไรง่ายๆ ทุกเรื่องไม่ได้นะ ความสะอาดและประณีตก็เป็นสิ่งจำเป็น มีเหตุการณ์น่าตื่นเต้นที่รู้สึกเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายแม้ไม่ใช่เรื่องความเจ็บป่วย คือช่วงเริ่มต้นที่เรายังขออาศัยบ้านป้าแดง บ่ายวันหนึ่งป้าปอนไปซื้อของที่ตลาดองครักษ์ด้วยจักรยานยนต์ มีคุณพรหมขับให้ จักรยานยนต์ผู้ชายสำหรับงานสมบุกสมบันคันใหม่เอี่ยมนี้ซื้อโดยเงินหมอสัมพันธ์และอาจารย์รจนาน้องชายและน้องสะใภ้ป้าปอนที่มอบเงินของขวัญที่ได้จากงานแต่งงานให้พี่สาวเป็นทุนในการอยู่และสร้างอาศรมวงศ์สนิท ขากลับเกิดพายุ ฝนตกหนักลมแรงจนเราไม่สามารถนำจักรยานยนต์ลงแพและชักแพข้ามฝั่งนำรถมาเก็บฝั่งอาศรมได้เหมือนปกติ จึงขับเลยไปพักรอที่บ้านลุงก้านและป้าเบียบที่อยู่ห่างไป ๒๐๐ เมตร จนใกล้ค่ำฝนยังไม่เบาลง ลุงสมชายรอด้วยความเป็นห่วงและกังวล ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา คิดไปถึงอุบัติเหตุจนอยู่ไม่ติด ปรึกษาป้าแดงและลูกๆ หาทางออกไปตาม สุดท้ายตัดสินใจไปกับปองลูกชายวัยรุ่นของป้าแดง หาถุงพลาสติกใบโตที่มีไว้ใส่กล้าไม้ขายเอามาคลุมหัวกันฝน เจาะรูที่ตาและจมูก ช่วยกันพายเรืออย่างเร่งรีบ ร้อนรนฝ่าสายฝนหนักมุ่งหน้าไปปากคลองที่เป็นจุดเชื่อมถนนสายรังสิต-องครักษ์ ระยะทาง ๓กิโลเมตร เพื่อติดตามหรือเช็คข่าว ฝ่ายป้าปอนกับคุณพรหมพอสายฝนเบาลงเราก็ขับรถกลับจากบ้านลุงก้าน ป้าเบียบ มารู้ว่าลุงสมชายพายเรือไปตาม คุณพรหมก็ขับรถย้อนกลับอีกรอบไปตามลุงสมชาย ทันกันโดยลุงสมชายกับปองยังไม่ถึงปากคลอง ตะโกนเรียกหากันแล้วให้ฝากเรือไว้บ้านคุณลุงคนหนึ่ง รับสองคนขึ้นจักรยานยนต์กลับบ้าน พรุ่งนี้หายเหนื่อยค่อยมาพายเรือกลับ ผ่านเหตุการณ์ที่เหมือนจะร้ายไปได้แล้ว ค่ำคืนนั้นทุกคนตั้งสติเรียกขวัญกันและกันกลับมา ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อทำความเข้าใจวิธีคิดวิธีแก้ปัญหาของแต่ละคนเมื่อเกิดเหตุวิกฤต ปีที่สองของการอยู่ที่อาศรมวงศ์สนิท (พ.ศ.๒๕๒๘) ป้าปอนตั้งครรภ์หมอสัมพันธ์น้องชายป้าปอนอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า การตั้งครรภ์ไม่ใช่การเจ็บป่วย มีคนตั้งครรภ์และคลอดลูกมาแล้วเป็นล้านๆ คน เป็นเหตุการณ์ปกติจึงไม่จำเป็นต้องไปฝากหมอเป็นพิเศษ ป้าปอนจึงไปฝากครรภ์ตามปกติที่โรงพยาบาลราชวิถีเจ้าประจำ ซึ่งการไปแต่ละครั้งใช้เวลาเดินทางพายเรือข้ามฝั่ง นั่งรถสองแถวหรือจักรยานยนต์รับจ้างไปปากคลอง ต่อรถตู้โดยสารไปถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิรอพบหมอ ตรวจเสร็จกลับบ้านก็หมดวันพอดี แต่ป้าปอนไปตามหมอนัดทุกครั้งไม่เคยพลาด เพราะอยากให้ลูกได้รับการดูแลอย่างดีและถูกต้องตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ การอยู่ที่อาศรมวงศ์สนิทอากาศดี อาหารก็เป็นธรรมชาติ การงานและวิถีชีวิตเราก็ออกแบบเอง ไม่มีความเครียดใดๆ ป้าปอนไม่มีอาการแพ้ท้องเลยไม่เคยอยากทานอะไรพิเศษพิสดาร ไม่เหม็นอาหาร ไม่เคยอาเจียน ยังคงทำงานและกิจวัตรทุกอย่างเป็นปกติ แต่ก็ดูแลตัวเองอย่างดี ทานอาหารให้ครบ ๕ หมู่ดื่มนม ทานผัก ผลไม้เยอะๆ ครั้นใกล้ถึงวันกำหนดคลอด หมอสัมพันธ์ซึ่งบอกว่าไม่ต้องทำอะไรพิเศษกลับขับรถมาด้วยตัวเอง รับป้าปอนและลุงสมชายไปอยู่ด้วยที่บ้านพักที่อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อจะดูแลการคลอดของป้าปอนอย่างใกล้ชิด วันที่เจ็บท้องใกล้คลอดหมอรอให้คลอดตามปกติ ในบรรยากาศสบายๆ มีคุณแม่นวลปรางค์ แม่ของป้าปอนที่ขึ้นมาจากจังหวัดชุมพร มาอยู่เป็นเพื่อนในห้องพยาบาลมีน้องตุ๊กตา (วิมลรัตน์) น้องสาวสุดท้องที่เป็นพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถีลางานมาดูแลพี่สาวด้วย น้องสะใภ้ (อาจารย์รจนา ภรรยาหมอสัมพันธ์) ก็คอยดูแลเรื่องการอยู่การกิน กลายเป็นว่าการคลอดลูกของป้าปอนเป็นเรื่องพิเศษสุดๆอบอุ่นท่ามกลางแม่และน้องๆ ป้าปอนเจ็บท้องแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ จนครบ ๒๔ ชั่วโมง ก็ยังไม่มีวี่แววว่าเจ้าตัวเล็กจะออกมา หมอตรวจดูว่ากระดูกเชิงกรานป้าปอนเล็กแคบด้วยก็ตัดสินใจผ่า โดยหมอสัมพันธ์และหมอใหญ่เจ้าของโรงพยาบาลท่าเรือลงมือผ่าตัดทำคลอดเอง ลูกออกมาเป็นเด็กผู้ชายสมบูรณ์แข็งแรงมาก ต้องเปลี่ยนจากเรียก“เจ้าตัวเล็ก” เป็น “เจ้าตัวโต” เพราะน้าหนักแรกคลอด ๔,๒ ๐๐ กรัม นับว่าอาศรมวงศ์สนิทได้ดูแลอุ้มชูแม่ลูกคู่นี้ไว้อย่างดีเยี่ยม หลังคลอดครอบครัวเราพักอยู่กับครอบครัวหมอสัมพันธ์และคุณแม่ป้าปอนอีก ๒ สัปดาห์ จนป้าปอนและลูกแข็งแรงดี หลังจากนั้นก็มาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ลุงสมชายที่กรุงเทพฯ อีก ๒ สัปดาห์ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ป้ายแดงได้ฝึกเลี้ยงลูกในสภาพไม่อัตคัดนัก ก่อนที่จะกลับไปปักหลักที่อาศรมวงศ์สนิทอันเป็นบ้านของเราต่อไป หลังจากมีลูกนี่แหละเราจึงได้รู้จักใช้บริการสถานพยาบาลของรัฐในท้องถิ่น โดยนำลูกไปรับวัคซีนชนิดต่างๆ ที่โรงพยาบาลองครักษ์ ตามกำหนดจนครบทุกอย่าง ส่วนวัคซีนที่โรงพยาบาลไม่ได้กำหนดให้ฉีด เช่น ป้องกันไข้สมองอักเสบ ป้องกันหัดเยอรมันนั้นหมอสัมพันธ์จัดการฉีดให้ด้วยเหตุผลที่เราอยู่กันในชนบทมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคเหล่านี้ ภายหลังเมื่ออยู่กันลำพังกับลูกที่ยังแบเบาะ มีบางครั้งที่ป้าปอนเครียดจากงานที่ตัดสินใจผิดพลาด และเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานและเลี้ยงลูก แต่ก็บอกตัวเองว่าเราจะต้องเข้มแข็งดูแลตัวเองไม่ให้เจ็บป่วย โดยเฉพาะกลางคืนที่ไม่มีอะไรทำก็นอนคิดกังวลเรื่องการงานที่ไม่ลงตัว แล้วก็ต้องเตือนสติตัวเองว่าห้ามเครียด ห้ามป่วย ถ้าคิดจนเส้นเลือดในสมองแตกเป็นอัมพาตไปอีกคน แล้วแม่เรา ลูกเราใครจะดูแล โดยเฉพาะลูกเรานอนกันในกระท่อมใบจากแยกห่างคนละฝั่งคลองกับเพื่อนบ้าน ไม่มีไฟฟ้า อยู่กับความมืดและเงียบ ถ้าเราเป็นอะไรไป กว่าเพื่อนบ้านจะรู้ ลูกจะเป็นอย่างไร ป้าปอนก็เลยกลายเป็นคนเข้มแข็ง แข็งแรง แทบจะไม่เจ็บไข้ได้ป่วยอีกเลย ลูกก็เช่นกัน อวบอ้วน สมบูรณ์ พัฒนาการเร็วทั้งการกินอาหาร การเคลื่อนไหวพลิกคว่ำ คืบคลาน นั่ง ยืน เดิน พูด ฯลฯ อันนี้เกิดจากเราดูแลสุขภาพกายใจกันอย่างดีนั่นเอง |