ตราไว้ในดวงจิต ตอน15

Posted on

ตอนที่ ๑๕ ดีต้าร์ ฮาร์เบิร์ต (Dieter Herbert)

ที่มา : หนังสือ ตราไว้ในดวงจิต บันทึกเรื่องราวอาศรมวงศ์สนิทยุคบุกเบิก เขียนโดย ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล


060เราวางแผนจะไถที่ดินปราบหญ้าอีกครั้งหนึ่งตอนหน้าแล้ง ก็จะทำตามคำแนะนำของชาวบ้านผู้แสดงว่ารู้งานสวนอีกนั่นแหละ เขาบอกว่าถ้าไถตากดินตากหญ้าไว้อย่างน้อยหนึ่งเดือน หญ้าก็จะตายเหมือนกัน แต่เอาเข้าจริงเราก็ไม่ได้ไถเพราะมีเงินไม่พอ ระหว่างที่เหลือเงินก้อนอยู่ไม่มาก ป้าปอนกับลุงสมชายปรึกษากันอย่างหนักว่าจะหาทางทำอะไรจึงพอจะมีรายได้บ้าง แทนที่จะต้องจ่ายค่ากินอยู่หมดเปลืองไปทุกวัน สุดท้ายเราตัดสินใจอย่างไม่ค่อยมั่นใจนัก จ้างชาวบ้านขุดดินทำบ่อเลี้ยงปลาขนาดประมาณ ๓ งาน (๓๐๐ ตารางวา) เพื่อเลี้ยงปลานิลซึ่งเป็นปลากินพืช เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์เร็ว ควบคู่กับการเลี้ยงเป็ดบนบ่อปลาให้ปลากินเศษอาหารเป็ด และขี้เป็ดจะทำให้เกิดแพลงก์ตอนเป็นอาหารปลา การเลือกเลี้ยงปลานิลนี้ได้รับคำแนะนำจากดีต้าร์ ฮาร์เบิร์ต (Dieter Herbert) เพื่อนชาวเยอรมันที่มาเรียนปริญญาโทด้านสิ่งแวดล้อมที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT–Asian Institute of Technology

เรารู้จักดีต้าร์จากที่เขาติดตามเพื่อนชาวเยอรมันอีกคนที่เรารู้จักโดยบังเอิญมาเที่ยวอาศรมของเรา ดีตาร์ชอบวิถีชีวิตและงานของเรา ตลอดปีที่อยู่เมืองไทยเขามาช่วยเราทำงานหลายครั้ง เขากำลังศึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์จากผักตบชวา วัชพืชเจ้าปัญหาอยู่ ก็เลยมาชวนและช่วยเราทำปุ๋ยหมักผักตบชวาไว้ใส่พืชและเป็นอาหารปลานิล ซึ่งสอดคล้องกับการงานของเราพอดี ดีตาร์พูดไทยได้ไม่กี่คำ ป้าปอนกับลุงสมชายก็พูดอังกฤษได้ไม่กี่คำ หลังจากพยายามแนะนำอธิบายกันหลายรอบผลคือยังไม่รู้เรื่อง ดีตาร์ยังไม่ละความพยายาม อุตส่าห์ไปหาหนังสือคู่มือเลี้ยงปลานิลที่มีวิธีการตรงกับที่เขาแนะนำแต่เป็นภาคภาษาไทยมาให้เราอ่าน และพาเราไปดูงานบ่อศึกษาเลี้ยงปลานิลของเอไอที พาไปพบนักวิชาการทั้งไทยและอังกฤษที่พูดไทยได้ที่เป็นคนเขียนหนังสือเล่มนั้น เพื่อคุยกันให้กระจ่าง ดีตาร์เองก็อ่านหนังสือไทยเล่มนั้นไม่ออกสักคำเดียว

ดีต้าร์หนุ่มเยอรมันหน้าใสผมทองตาสีฟ้ามีแววฝัน หลงใหลวิถีพื้นบ้านไทยอย่างมาก เห็นอะไรก็ถูกใจไปหมด เราตำน้ำพริกกับครกหินก็ชอบว่าดีกว่าใช้เครื่องปั่นไฟฟ้า เราใช้กระต่ายขูดมะพร้าวเพื่อคั้นกะทิใส่แกงก็ชมว่าเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม ดีต้าร์ใช้วันว่างจากการเรียน นั่งรถเมล์อย่างทรหดอดทนมาอยู่และช่วยงานที่อาศรมจนเหมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่ง เวลามาถึงอาศรมแต่ละครั้งถ้าไม่เห็นใครอยู่ริมคลองที่จะเรียกให้พายเรือมารับ ดีต้าร์จะวางกระเป๋าเดินทางไว้ริมตลิ่ง ถอดเสื้อ กางเกงกองบนกระเป๋า แล้วกระโจนว่ายน้ำข้ามคลองมานำเรือพายกลับไปเอากระเป๋า เรามักเรียกเขาด้วยความเอ็นดูว่าดีต้าร์ห้าบาท ตอนเดินทางกลับเยอรมนีหลังเรียนจบ ดีต้าร์สะพายกระติ๊บข้าวเหนียวใบโตสวมหมวกชาวนาไทยภาคกลางขึ้นเครื่องบิน

กลับไปเยอรมนีแล้วก็ยังส่งข่าวคราวและเอกสารความรู้ทางนิเวศวิทยามาให้เราเนืองๆ ครั้งหนึ่งจดหมายมาอย่างตื่นเต้นว่า “ปอนเธอรวยแล้ว ที่เยอรมันเขาเอาผักตบชวากอเล็กๆ ใส่ถ้วยแก้วสวยๆ ขายเป็นไม้ประดับกอนึงคิดเป็นเงินไทยราว ๑๐๐ บาท ในคลองหน้าอาศรมของเธอมีแน่นเป็นแสนกอ เธอเป็นเศรษฐีแน่แล้ว” ฮาจริงๆ ดีต้าร์ห้าบาทของเรา

การเลี้ยงปลาไม่ง่ายอย่างที่คิด ดินและน้ำในบ่อปลาเปรี้ยวจัด ดีต้าร์นำกระดาษลิสมัสมาวัดค่า ph ได้ ๓.๒ อำเภอองครักษ์ จ.นครนายก ที่อาศรมวงศ์-สนิทตั้งอยู่นี้เป็นเขตที่ดินเป็นกรดสูงสุดในประเทศไทย จนมีการตั้งชื่อดินที่มีค่าph สูงระดับนี้ว่าดินชุดองครักษ์ เราต้องลงทุนใส่ปูนขาวและปุ๋ยคอกในปริมาณสูง เราลงทุนจนหมดเงินบ่อก็ยังไม่สมบูรณ์ ปลาไม่โตตามเวลาที่คาดหมาย การลงทุนครั้งนี้จึงไม่ให้ผลตอบแทนตามที่เราหวัง และภายหลังอีกหลายปีเมื่อเรารู้จักการเกษตรมากขึ้น เราก็ได้ข้อสรุปว่าบ่อแบบที่เราขุดนี้ก็เป็นแบบที่ไม่เหมาะสมทั้งๆ ที่ก่อนขุดเราก็ถกเถียงกันหลายรอบว่าจะทำบ่อแบบไหนดี เอาข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบมาเปรียบเทียบกัน แต่ในที่สุดเราก็พลาดจนได้ เราขุดบ่อที่ไม่มีชานพักรอบขอบบ่อ ปลาไม่มีที่วางไข่ เราเองก็เดินทำงานยาก