ตอนที่ ๑๒ ฤดูกาลที่มา : หนังสือ ตราไว้ในดวงจิต บันทึกเรื่องราวอาศรมวงศ์สนิทยุคบุกเบิก เขียนโดย ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล |
ไม่เพียงวสันต์แรกที่เราประทับใจ เหมันต์แรกของการอยู่ที่อาศรมวงศ์สนิทแห่งนี้ก็ยากจะลืมเลือน คืนวันไม่น่าเบื่อหน่าย ลมหนาวจะเริ่มพัดมาจากทิศเหนือ น้ำยังเจิ่งคลอง ตอนนั้นเรายังมีเพียงเสื่อผืน หมอนคนละใบผ้าห่มบางๆ อีกสองผืนสำหรับสามคน พื้นบ้านของเราเป็นไม้ยางซึ่งหดตัวทำให้เกิดช่องกว้างราวครึ่งถึงหนึ่งนิ้วระหว่างแผ่นกระดาน นอนกลางคืนลมก็จะพัดเล็ดลอดเข้ามาทางร่องกระดานพื้นเย็นเยียบเข้าไปถึงกระดูก พอสักตีสี่ตีห้าซึ่งมักเป็นช่วงอุณหภูมิต่าสุดในแต่ละวัน เราก็หนาวจนไม่สามารถนอนต่อได้ ต้องลุกมาจุดไฟผิง ได้บรรยากาศดีจริงๆ อย่างไรก็ตาม ฤดูหนาวกลับเป็นช่วงที่อาหารการกินสมบูรณ์ที่สุด คุณพรหมได้เรียนรู้การหาปลาวิธีต่างๆ จากชาวบ้านละแวกนั้น เช่น การดักตาข่ายขวางคลอง ทอดแห ธงเบ็ด แทงปลา แม้กระทั่งดำลงยิงด้วยลูกดอกที่แหล่งปลาใต้น้ำ ป้าปอนก็ได้เรียนรู้ต่อจากคุณพรหม แต่ทำเป็นและนำมาใช้เป็นเพียงวิธีดักตาข่ายขวางคลองกับธงเบ็ด การดักตาข่ายขวางคลองนั้นภายหลังป้าปอนบากบั่นฝึกจนสามารถไปคนเดียว พายเรือด้วยโรยตาข่ายด้วย ทั้งนี้ป้าปอนขอบคุณป้าแดงแม่ร้างมีลูก ๙ คนต้องเลี้ยงดูที่เป็นแบบอย่างส่วนลุงสมชายนั้นไม่สนใจการหาปลาเลย บอกว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก น่ารำคาญ ทั้งต้องอดทนรอคอย ขอเอาเวลาไปปลูกต้นไม้ดูแลสวนดีกว่า วันไหนคุณพรหมไม่ เอ้อ! ไม่แน่ใจนะคะว่าเขียน “ธงเบ็ด” หรือ “ทงเบ็ด” ถึงจะถูก ความหมายก็คือปักเบ็ดที่เกี่ยวเหยื่อแล้วเรียงไว้หลายๆ อัน แล้วค่อยมาเยือน (ดู) ภายหลัง ไม่ต้องเสียเวลาเฝ้าเหมือนตกเบ็ด ลุงสมชายยกให้ป้าปอนเป็นทหารเรือ (ความจริงน่าจะเรียกชาวประมงมากกว่า) ส่วนลุงสมชายขอเป็นทหารบก อันที่จริงพ่อของป้าปอนและญาติพี่น้องฝ่ายพ่อเป็นชาวประมงน้าเค็มที่เก่งกาจหลายคน การหาปลาคงจะพอตกทอดมาในสายเลือด น้องชายป้าปอนแม้ทำงานเป็นหมอพอมีเวลาว่างก็ชอบไปตกปลาและก็ตกได้ดีจริงๆ ป้าปอนตอนอยู่กับพ่อไม่มีความสามารถทางนี้เลย อย่าว่าแต่ตกปลาไม่เคยได้ ชนิดของปลาก็ไม่รู้จัก แต่จะนับประสาอะไรเล่าว่ายน้ายังไม่เป็น ลมหนาวยังไม่ลา แต่คุณพรหมชิงลาไปก่อน ขอกลับไปทำงานที่อีสานบ้านเกิด อาศรมวงศ์สนิทก็เลยเหลือแต่สองลุงป้า เรียนรู้ชีวิตในทุ่งกว้างแห่งนี้กันตามลำพังต่อไป |