ตราไว้ในดวงจิต ตอน11

Posted on

ตอนที่ ๑๑ ทำบุญ

ที่มา : หนังสือ ตราไว้ในดวงจิต บันทึกเรื่องราวอาศรมวงศ์สนิทยุคบุกเบิก เขียนโดย ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล


ทำบุญฤดูฝน เป็นฤดูที่พระจำพรรษาที่วัด อยู่บ้านนอกเรามีโอกาสเข้าวัดบ่อย อยู่ในกรุงสิบกว่าปีไปวัดไม่ถึงสิบครั้งอยู่ที่นี่ไปทุกวันสำคัญทางพุทธศาสนา ช่วงเข้าพรรษาก็ไปทุกวันพระ หลังจากเรามาอยู่ได้ ๕ เดือนก็ถึงวันเข้าพรรษาป้าปอนกับลุงสมชายยังไม่มีความสนใจว่าวันไหนเป็นวันอะไร ที่นี่ชาวบ้านนิยมไปทำบุญสองวันติดกันในวันเข้าพรรษาและอีกสองวันตอนออกพรรษา ก่อนวันทำบุญเข้าพรรษาหนึ่งวันน้องต้อยลูกสาวป้าแดงก็ตะโกนข้ามบ้านถามว่า

“พี่ปอน พรุ่งนี้ไปทำบุญมั้ย”

ป้าปอนยังตั้งตัวไม่ติดเลย ปิ่นโตก็ไม่มี กับข้าวก็ยังไม่ได้หา ก็เลยไม่ได้ไปวัดในวันทำบุญวันแรก แต่วันถัดมาบ้านป้าแดงไม่มีใครไป ป้าปอนจึงขอยืมปิ่นโตป้าแดงใส่อาหารไปทำบุญ ผลัดกันคนละวัน

เพราะไม่มีปิ่นโต ทำอาหารก็ไม่ค่อยเป็น ป้าปอนเลยไม่ได้ไปวัดในวันพระต่อมาอีกเลย ซึ่งดูชอบกลอยู่เพราะเพื่อนบ้านไปกันทุกครัวเรือน และบ้านเราก็อยู่เยื้องวัดเพียงตรงข้ามคนละฝั่งคลอง แต่ป้าปอนก็ใส่บาตรพระที่นั่งเรือยนต์บิณฑบาตผ่านหน้าบ้านทุกวัน เว้นวันพระที่พระงดบิณฑบาตเพราะญาติโยมนำอาหารไปถวายที่วัด จนใกล้จะออกพรรษายายโต๊ะแม่ของป้าแดงและเป็นยายของน้องต้อย บ้านอยู่ถัดบ้านป้าแดงไปประมาณห้าสิบเมตร ห่างบ้านเราก็ประมาณร้อยเมตร ชอบพอกันดีกับป้าปอน แกยัดเยียดให้ป้าปอนยืมปิ่นโตเถาเล็กๆ เถาหนึ่งให้ใส่อาหารไปวัด คุณยายคงเป็นห่วงกลัวเราจะไม่มีบุญสะสมไว้ไปชาติหน้า

ปีถัดมาหรือเข้าพรรษาที่สองที่เราอยู่ที่นี่ คุณแม่ของลุงสมชายให้ปิ่นโตเถาหนึ่ง อาจารย์สุลักษณ์พอทราบว่าเราขาดแคลนก็อนุเคราะห์มาอีกเถาหนึ่งเราเลยได้ไปวัดกันทุกวันพระ และอยู่ที่นี่ป้าปอนยังได้มีโอกาสฟังเทศน์มหาชาติเป็นครั้งแรกในชีวิต แม้จะไม่ได้ฟังครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียวตามความเชื่อที่ว่าจะทำให้ได้ขึ้นสวรรค์ แต่ก็ทำให้อิ่มเอิบใจและมีความสุขมาก

การนำอาหารไปถวายพระที่วัด ทุกครัวเรือนนิยมทำอาหารดีที่สุด อร่อยที่สุด หน้าตาน่ารับประทานที่สุดเท่าที่จะทำหรือหาได้ ถ้าพระตักไม่หมดเราก็จะมีเหลือมาทานร่วมกับคนที่ไปทำบุญด้วยกัน มื้อนั้นทุกคนก็จะได้ทานอาหารคาวหวานอร่อยครบเครื่องกว่ามื้อปกติที่บ้าน (อย่างนี้กระมังที่เขาเรียก “อิ่มบุญ”?)ถ้าทานไม่หมดก็จะนำอาหารมาแบ่งกันใส่ปิ่นโตกลับไปทานต่อหรือฝากคนที่บ้าน

เป็นธรรมเนียมปฏิบัติเช่นกันที่เมื่อกลับจากวัดถึงบ้านก็จะบอกคนที่บ้านที่ไม่ได้ไปวัด ต้องอยู่เฝ้าบ้านหรือทำกิจธุระแทนคนไปวัด ว่า “เอาบุญมาฝาก” เมื่อป้าปอนมีลูกปูนอายุ ๓ ขวบ วิ่งเล่นที่ลานบ้านรอแม่กลับจากวัด พอบอกว่า

“แม่เอาบุญมาฝากลูก”

ลูกปูนก็จะมองหาแล้วถามว่า “อยู่ในปิ่นโตเหรอครับ”