ชุมชนทางเลือก - ชุมชนคนสวน : ปัญญาชนทวนกระแส
ที่มา : http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=6624.0
เขียนโดย โดย ทีมวิจัยชุมชนทางเลือก อาศรมวงศ์สนิท
ตอนที่ 1
ชุมชนคนสวน เป็นชุมชนของหมู่คนเมืองที่ถอยออกจากวิถีชีวิตในสังคมเมืองกระแสหลัก มุ่งสู่พื้นที่กันดารในชนบท เลือกใช้วิถีชีวิตแบบชาวบ้านเกษตรกร โดยวิถีเกษตรที่พวกเขาเลือก เป็นเกษตรกรรมธรรมชาติ เพื่อการพึ่งตนเอง ซึ่งหมู่คนเหล่านี้ พื้นฐานเดิมจบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ผ่านการทำงานหาเลี้ยงชีพมาอย่างหลากหลายแตกต่างกัน บ้างเป็นข้าราชการ บ้างเป็นวิศวกร เป็นนักพัฒนาเอกชน เป็นครู เป็นนักข่าว นักแปล นักเขียน เป็นต้น แต่หันมาสนใจการใช้ชีวิตในชนบทบ้านนอกแบบชาวบ้าน ซึ่งบางคนมิได้เคยใช้ชีวิตอยู่ในชนบทมาก่อน บางคนไม่เคยทำงานเกษตรและไม่มีพื้นความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย
ก่อนเล่าไปถึงเรื่องอื่น ต้องกล่าวไว้ก่อนว่า ชุมชนคนสวนไม่ใช่ชุมชนที่หมู่คนมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน หากแต่เป็นชุมชนของหมู่คนที่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำสวนและใช้ชีวิตเกษตรกรในพื้นที่ของตนเองโดยไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ภายหลังจึงมีการนัดชุมชนกันขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้กำลังใจกัน จึงเกิดความผูกพันเป็นพี่น้องพวกพ้องเดียวกัน และนัดพบปะชุมนุมใหญ่กันทุกปีนับตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ เป็นต้นมา นอกจากนั้นก็มีการไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ในการทดลองใช้ชีวิตแบบนี้ระหว่างกัน หรือระหว่างสวนต่างๆ เป็นประจำ อีกทั้งมีการสื่อสารแจ้งข่าวสารระหว่างสวนต่างๆ เป็นประจำทุกเดือนใน “จดหมายข่าวชุมชนคนสวน” ของพวกเขา
พวกเขากล่าวชัดเจนว่า การรวมตัวกันเป็นชุมชนคนสวนนั้น มิได้มีเป้าหมายที่จะเป็นความเคลื่อนไหวทางสังคมแต่อย่างใด หากเป็นแต่เพียง การนัดพบเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้กำลังใจกันของหมู่คนที่ “มีรสนิยมการใช้ชีวิตแบบเดียวกัน” ฉะนั้นแล้ว ในวงนัดพบประจำปีของพวกเขา จึงไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้คนวงนอกได้รับทราบ ไม่อนุญาติให้คนนอกที่ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วม ในการจัดงานแต่ละครั้ง จะมีการคัดกรองคนที่จะเข้าร่วมอย่างดี นอกเหนือไปจากสมาชิกที่รู้จักมักคุ้นและเข้าใจกันดีแล้ว พวกเขาก็จะเชิญเพียงวิทยากรที่จะมาให้ความรู้ในเรื่องที่สนใจร่วมกัน และอนุญาติให้สมาชิกแต่ละสวนเชิญคนอื่นเข้าร่วมได้ แต่ต้องบอกประวัติของผู้ที่ตนจะเชิญโดยละเอียด เพื่อให้เจ้าภาพและสมาชิกคนอื่นได้พิจารณาร่วมกัน ว่าสมควรจะเชิญเข้าร่วมงานหรือไม่
ต้องมีการคัดกรองอย่างดีนี้ ก็ดังกล่าวไว้แล้วว่า การชุมชนนี้ เป็นวงของการแลกเปลี่ยนให้กำลังใจกัน ของหมู่คนที่รู้สึกเป็นพวกเดียวกันจากการเลือกใช้ชีวิตแบบเดียวกัน ผ่านประสบการณ์ยากลำบาก ทั้งสุข ทั้งทุกข์คล้ายคลึงกัน จึงต้องการเลือกแต่คนที่เข้ากันได้ด้วยพื้นฐานแบบเดียวกันนี้ เมื่อพบปะกันแล้วคุยกันถูกคอเข้าใจกันและกัน เกิดความรู้สึกดีๆ ได้กำลังใจจากการพบปะพูดคุยกัน คนที่ไม่ได้ผ่านประสบการณ์แบบเดียวกัน และไม่ได้เชื่อถือศรัทธาในวิถีชีวิตแบบนี้ ก็อาจจะคุยกันไม่รู้เรื่อง และทำให้ต่างฝ่ายต่างเสียอารมณ์ไป และยังเป็นการทำให้เสียเวลาของหมู่สมาชิกชุมชนคนสวนที่ต่างก็เดินทางมาจากที่ไกลจากสวนของตน ต้องปลีกตัวออกจากงานในสวนของตนเองมา จึงต้องการใช้เวลากับหมู่พวกเดียวกันมากกว่า
อย่างไรก็ตาม หมู่คนชุมชนคนสวนที่ออกไปใช้ชีวีตในชนบทพื้นที่ต่างๆ ล้วนแต่มีส่วนร่วมหรือมีบทบาทเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชนพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ร่วม
แม้หมู่คนชุมชนคนสวนจะต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างใช้ชีวิตในพื้นที่ของตน แต่พวกเขาก็มีจุดร่วม ที่ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นหมู่พวกเดียวกันอย่างแรงกล้า และมีความผูกพันกันค่อนข้างมาก
จุดร่วมที่สำคัญในหมู่พวกเขาคือ ความเชื่อมั่นศรัทธาในวิถีชีวิตชนบท โดยเห็นว่าเป็นวิถีชีวิตที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตรอบด้าน เช่นด้านสุขภาพร่างกาย พวกเขามองว่า วิถีชีวิตชนบทที่ไม่ต้องเร่งรีบแข่งขันดังวิถีชีวิตในสังคมเมือง เอื้อให้เกิดความผ่อนคลาย ให้ระบบร่างกายปรับเข้าสู่ความสมดุลตามธรรมชาติ และการอยู่ในเขตชนบทยังได้ใกล้ชิดธรรมชาติ มีอากาศที่บริสุทธิ์กว่าในสังคมเมือง อีกทั้งการได้ทำอาหารกินเองด้วยพืชผักปลอดสารพิษที่ปลูกเอง ก็รับประกันเรื่องสุขภาพได้ทางหนึ่งด้วย เป็นต้น
นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องของสุขภาพจิตใจ หรือเรื่องทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอีกอันหนึ่ง ที่พวกเขาให้ความสำคัญคือ การใช้ชีวิตอยู่ในชนบท เอื้อให้เกิดการพัฒนาตนเองในด้านนี้มากกว่า คือสภาพที่ไม่ต้องเร่งรีบแข่งขัน ทำให้มีเวลาได้ผ่อนพักตระหนักรู้ในตนเอง มีเวลาได้ชื่นชมความงามของธรรมชาติและสิ่งรอบตัว ที่สำคัญและน่าสนใจคือ เห็นว่า การใช้ชีวิตในวิถีชนบทนี้ เอื้อเฟื้อต่อการพัฒนาความมั่นคงภายในจิตใจมากกว่าวิถีชีวิตในเมือง เพราะวิถีชีวิตในเมืองต้องพึ่งพิงสิ่งต่างๆ ในการใช้ชีวิตมากมายและเกือบตลอดเวลา การเดินทางต้องพึ่งพารถยนต์ขนส่ง การกินต้องพึ่งพาตลาด การทำงานต้องพึ่งพาระบบที่จัดวางเอาไว้แล้ว วิถีแห่งการพึ่งพาเช่นนั้น ไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาตนเอง ไม่ได้ใช้ศักยภาพของความเป็นมนุษย์เต็มที่ ทั้งทางร่างกายและทางความคิด แม้แต่การเดินทางก็ไม่ได้ใช้เท้าเดินสักเท่าไร การทำงานก็ไม่ได้ใช้สมองเท่าที่ควร แต่วิถีชีวิตชนบทมีพื้นที่สำหรับให้เรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองในทุกด้าน และยังเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาชุมชน สังคมด้วย เป็นต้น
คุณค่าอีกประการหนึ่งที่พวกเขาเชื่อถือศรัทธาเช่นเดียวกัน และเป็นจุดร่วมสำคัญระหว่างหมู่พวกเขาคือ การให้คุณค่าแก่วิถีเกษตรธรรมชาติเพื่อการพึ่งตนเอง โดยการใช้คุณค่าแก่สิ่งนี้ มิใช่เพียงในแง่การหาเลี้ยงชีพในวิถีที่เกื้อกูลกับธรรมชาติเท่านั้น หากแต่ให้คุณค่ารวมไปถึงว่า เป็นวิถีทางของการพัฒนาบ่มเพาะความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นวิถีแห่งการฝึกฝนตนเองทางจิตวิญญาณ ดังเกริ่นไว้ข้างต้น
ในฉบับหน้าเราจะกล่าวถึงการออกมาใช้ชีวิตในวิถีทางนี้ของพวกเขาว่า สามารถอยู่รอดได้จริงหรือไม่ มีการประนีประนอมระหว่างความฝัน ความคิดความเชื่อกับความจริงอย่างไร และพวกเขาใช้วิถีชีวิตนี้ในฐานะเป็นเครื่องมือในการฝึกฝนตนเองทางจิตวิญญาณ และบ่มเพาะความอุดมสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ดังกล่าวอย่างไร
ตอนที่ 2
คำถามสำคัญของการออกมาใช้ชีวิตเกษตรกรทางเลือกในเขตชนบท ของบรรดาปัญญาชนนักฝันคือ “จะอยู่รอดได้ไหม?” คำถามนี้สำคัญถึงขนาดทำให้เกิดความลังเลสงสัย จนหลายคนอาจถอยทัพกลับไปสู่ชีวิตคนเมืองดังเดิม และอาจกล่าวเรียกการล้มเลิกความฝันว่าเป็นการยอมรับความจริง
ด้วยเงื่อนไขของคนกลุ่มนี้คือเป็น ๑) ปัญญาชนที่ไม่ได้มีประสบการณ์เชี่ยวชาญทางการเกษตรมากนัก ๒) เลือกเกษตรกรรมธรรมชาติ คือการเกษตรกรรมที่ปล่อยให้ธรรมชาติจัดการตนเองโดยมนุษย์เข้าไปแทรกแซงน้อยที่สุด ในขณะที่ ๓) ต้องเผชิญกับสภาพธรรมชาติที่ไม่เอื้อเฟื้อ คือสภาพผืนดินและธรรมชาติของพื้นที่ที่ไปบุกเบิกชีวิตใหม่นั้น มีความกันดารบ้าง สภาพดินและน้ำเสื่อมบ้าง
ทั้งสามเงื่อนไขนี้ทำให้พวกเขาต้องพบกับความยากลำบากในการที่จะพยายามอยู่รอดให้ได้ และการอยู่รอดได้ของพวกเขามีสองมิติด้วยกันคือ การอยู่รอดทางร่างกาย และการอยู่รอดทางจิตใจ
การอยู่รอดทางกายภาพ คือ มีอาหารการกิน มีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย มีสภาพแวดล้อมที่ดี ได้ทำในสิ่งที่ตนเองฝัน เชื่อ และพึงพอใจ ในแง่นี้สิ่งที่พวกเขาพึงพอใจและมีความสุขคือการได้ใช้ชีวิตเกษตรกรบ้านนอก หาเลี้ยงชีพตามธรรมชาติเช่นเดียวกับชาวบ้าน และทำสวนเกษตรกรรมธรรมชาติ แต่เนื่องด้วยทั้งสามเงื่อนไขที่กล่าวข้างต้น ทำให้การจะหาเลี้ยงชีพให้รอดอยู่ได้เป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นที่สวนเกษตรธรรมชาติยังไม่ให้ผลผลิตเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ
สิ่งที่ปัญญาชนคนสวนกลุ่มนี้ทำในช่วงเริ่มแรกของการบุกเบิกชีวิตใหม่คือ การเรียนรู้จากชาวบ้าน ดูว่าชาวบ้านหาเลี้ยงชีพจากธรรมชาติอย่างไร เช่นเรียนรู้การหาปลาจากชาวบ้าน เรียนรู้จักทรัพยากรธรรมชาติที่จะใช้ในการยังชีพ รู้ว่าพืชพรรณอันไหนกินได้กินไม่ได้ เรียนรู้ว่าอะไรเป็นยาเป็นอาหาร และพยายามหาเลี้ยงชีพตามธรรมชาตินั้นทางหนึ่ง
อีกด้านหนึ่งก็คือการ หารายได้ โดยบางคนก็ใช้ความสามารถเดิมจากอาชีพและประสบการณ์เดิมเพื่อหารายได้ไว้หนุนการเลี้ยงชีพของตน เช่นบางคนที่เคยเป็นนักแปลมาก่อน ก็รับงานแปลบ้าง บางคนที่เคยเป็นสถาปนิก วิศวกรก็รับงานในด้านนั้นในบางช่วงเวลา แต่ทั้งนี้ พวกเขาถือว่าตัวเองเป็นเกษตรกร การรับงานอื่นเพื่อให้มีรายได้นั้น ก็เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตเกษตรกรเอาไว้ได้จนกว่าจะสามารถพึ่งตนเองได้จากภาคเกษตรกรรมของตน
ส่วนบางคนก็แบ่งพื้นที่บางส่วนเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อหารายได้ระหว่างพัฒนาพื้นที่ส่วนที่เหลือให้อุดมสมบูรณ์ขึ้น ส่วนบางคนก็ประณีประนอมด้วยการยอมใช้กระบวนการปรับปรุงธรรมชาติด้วยการเข้าไปแทรกแซงบางประการ เช่นสวนฝากฝาง ตั้งใจทำนาธรรมชาติแบบไม่ไถไม่พรวน แต่ไม่ได้ผลผลิต จึงได้หันมายอมไถพรวน และปรับปรุงดินด้วยการใช้ปุ๋ยคอกและฟางคลุมดิน จนเมื่อสภาพดินเริ่มปรับตัวดีขึ้น จึงหันไปทำนาธรรมชาติที่ไม่ไถไม่พรวนดังความตั้งใจเดิม
ทั้งนี้ การหารายได้เพิ่มเติม หรือการประนีประนอมของพวกเขานั้น เป็นไปเพื่อให้ตนสามารถอยู่รอดได้ในภาคเกษตรกรรมในช่วงเริ่มต้น มิใช่เป็นการหารายได้เพื่อแสวงหาความร่ำรวยแต่อย่างใด และพวกเขายังถือว่างานหลักของตนคืองานเกษตรในสวนของตน งานฟื้นฟูสภาพดิน ปลูกผักปลูกต้นไม้ และดูแลให้สวนเกษตรธรรมชาติของตนพัฒนาความอุดมสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ ส่วนงานหารายได้เพิ่มนั้นเอาแค่พอให้เลี้ยงชีพอยู่ได้เท่านั้น และเมื่อวิถีชีวิตของพวกเขาไม่ได้ต้องการความหรูหราฟุ่มเฟือยอะไร ใช้ชีวิตเรียบง่าย มีสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตแค่พอเพียง จึงไม่จำเป็นต้องหาเงินให้มากมายแต่อย่างใด และเมื่อสวนเกษตรของตนมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ สามารถเลี้ยงดูชาวสวนได้มากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาก็จะลดงานรับจ้างหารายได้ภายนอกลง ในขณะเดียวกัน ก็มีเวลาทำงานพัฒนาชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาบางคนถึงกับกล่าวว่า สวนเกษตรของตนเป็นฐานของการพัฒนาชุมชน เมื่อสวนพัฒนาสมบูรณ์ยั่งยืนขึ้น ก็จะกระจายกำลัง(ทั้งกำลังคน ทรัพยากรและแนวคิด)ไปสู่ชุมชนมากขึ้น
การทำงานตรากตรำ เป็นอีกประการหนึ่งที่สำคัญของการจะอยู่รอดให้ได้ในภาคเกษตร ดังเช่นสวนไทเกษตรนั้น ในช่วง ๔ – ๕ ปีแรกนั้นพวกเขามุมานะอยู่กับการทำสวนของตนเองโดยไม่ออกไปไหนเลย จากเช้ามืดจนยามค่ำ บางสวนนั้นได้พื้นที่ที่กันดารมาก ถึงขนาดต้องรดน้ำผักทุก ๓ – ๔ ชั่วโมงแม้แต่เวลากลางคืนซึ่งเป็นยามนอนของคนทั่วไป บางคนต้องหิ้วน้ำจากลำธารที่ห่างออกไปเพื่อมารดต้นไม้ที่ตนปลูกเอาไว้ พวกเขาตรากตรำจนมีผลผลิตเลี้ยงชีพอยู่รอดได้ และเหลือรอดอยู่ได้ในวิถีชีวิตที่ตนเลือกโดยไม่ถอยทัพกลับไป พวกเขาบอกว่า เมื่อเลือกวิถีชีวิตเช่นนี้แล้วต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง ใจไม่แข็งก็จะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นเรื่องความเข้มแข็งทางจิตใจจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
การอยู่รอดได้ทางจิตใจ เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการจะดำรงเอาไว้ซึ่งวิถีชีวิตเช่นนี้ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วพวกเขาจะถูกต่อต้านจากครอบครัว ที่เห็นว่าการลาจากสังคมเมืองที่มีอาชีพการงานแน่นอน มีฐานะทางสังคมพอสมควรมาใช้ชีวิตเกษตรกรตรากตรำในชนบทนี้เรื่องบ้า นอกจากพวกเขาจะไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวเท่าใดนักแล้ว ยังถูกต่อต้าน โน้มน้าว ร้องขอให้กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม โดยอาจจะกดดันด้วยรูปแบบต่างๆ
นอกจากความกดดันจากครอบครัวแล้ว ยังรวมถึงความกดดันไม่เข้าใจจากชุมชนที่ตนไปอยู่ร่วมด้วย เนื่องด้วยพวกเขาส่วนใหญ่พึงพอใจและแสวงหาชีวิตชนบท จึงมักเลือกพื้นที่ทำสวนใกล้กับชุมชนหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่ง ทั้งเพื่อเรียนรู้จากชาวบ้านด้วย และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชุมชนด้วย และบางคนก็มีเป้าหมายที่จะทำงานพัฒนาชุมชนร่วมไปด้วย
แม้พวกเขาจะมาอยู่ร่วมกับชุมชนด้วยความฝันที่สวยงาม แต่ชาวบ้านอาจไม่ได้มองพวกเขาสวยงามนักในตอนเริ่มต้น บางคราวพวกเขาถูกเรียกว่าคนบ้าเสียสติ เรียนมากจนฟั่นเฟือน ด้วยวิถีชีวิตที่พวกเขาเลือกนั้นกลับหัวกลับหางจากสิ่งที่ชาวบ้านเห็นโดยทั่วไปในสังคม และชาวบ้านบางคนก็ถือโอกาสเอาเปรียบเมื่อเห็นว่าพวกเขาอ่อนหัด เป็นต้น(ยังไม่นับรวมกับวิถีคิดที่ไม่ตรงกัน และปะทะกันเป็นครั้งคราว) ความสัมพันธ์กับชุมชนที่ไม่สวยงามและยังไม่ลงตัวในช่วงเริ่มต้น เป็นสิ่งบั่นทอนให้พลังใจตกลงได้เช่นกัน
นอกจากนี้แล้ว ความคาดหวังและการมองเห็นความล้มเหลวของตนเองก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งในการบั่นทอนกำลังใจ ทำให้เกิดความลังเลสงสัย จนบางคนอาจจะถึงกับถอนตัวออกจากทางเลือกนี้ไป เช่นเมื่อเผชิญกับสภาพธรรมชาติที่แห้งแล้งกันดาร เจอกับชาวบ้านที่คดโกง เจอกับการถากถางจากคนรอบข้าง พืชผักที่ปลูกไม่เติบโต มองไม่เห็นผลิตผลของสิ่งที่ได้ลงแรงลงไป สภาวะเช่นนี้ก็ทำให้สภาพจิตใจอ่อนแอจนไปต่อไม่ไหวได้เช่นกัน
ดังนั้นการพัฒนาฝึกฝนจิตใจของตนให้เข้มแข็งจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ชาวชุมชนคนสวนกระทำไปพร้อมๆกับการพัฒนาพื้นที่สวนของตนให้อุดมสมบูรณ์ เครื่องมือการฝึกฝนตนเองของพวกเขาคือ
การมองโลกในแง่ดี ศิริพร โชตชัชวาลย์กุล หรือป้าปอนของชาวชุมชนคนสวนบอกว่า ในช่วงเริ่มต้นที่ลงมือลงแรงไปเยอะ แล้วพบว่าสวนไม่ได้เติบโตอุดมสมบูรณ์อย่างที่ฝัน อาจจะทำให้รู้สึกว่าล้มเหลวได้ แต่ถ้ามองในอีกด้านหนึ่ง ก็จะเห็นว่า สิ่งที่ทำลงไปนั้นมีผลต่อความยั่งยืนในระยะยาวที่อาจมองไม่เห็นในตอนนี้ เช่นเมื่อตอนที่ป้าปอนออกมาบุกเบิกอาศรมวงศ์สนิทในสามปีแรกนั้น มองไปรอบๆ ยังไม่ค่อยมีต้นไม้ ยังไม่เห็นสีเขียวสักเท่าไร แต่เมื่อคิดไปว่า อนาคตอาศรมวงศ์สนิทจะเติบโตและยั่งยืนไปอีกยาวนานหลายปี สิ่งที่ทำลงไปนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และสิ่งที่ทำลงไปไม่ได้สูญหายไปไหน หากแต่จะเป็นฐานสำคัญของความอุดมสมบูรณ์และความยั่งยืนในอนาคตก็ทำให้มีกำลังใจขึ้นมา
ความเข้าใจและยอมรับสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติ พวกเขาเรียนรู้ที่จะเข้าใจและยอมรับสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติ โดยเห็นว่าธรรมชาติมีกระบวนการของมันเองที่จะค่อยๆ ปรับเข้าสู่ความสมดุลย์อุดมสมบูรณ์ การทำงานหนักตรากตรำของคนสวนไม่ได้แปลว่าจะสามารถทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงจากความแห้งแล้งกันดารไปสู่ความอุดมสมบูรณ์ได้โดยฉับพลัน ฉะนั้นแล้ว คนสวนในวิถีทางนี้จะต้องรู้จักการรอและทำหน้าที่ของตนไป อันเป็นหน้าที่ในการเกื้อหนุนให้ธรรมชาติปรับเข้าสู่ความสมดุลย์นั้น ยอมรับความเป็นจริงของธรรมชาติที่ค่อยเป็นค่อยไป ลดความคาดหวังของตนเอง มองโลกในแง่ดี มองเห็นผลในระยะยาว
การมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ เป็นเครื่องมือการฝึกฝนจิตใจที่สำคัญในวิถีชีวิตของพวกเขา พวกเขาบอกว่าปลูกต้นไม้ก็ให้รู้ตัวว่ากำลังปลูกต้นไม้ ขุดดินมีสติอยู่กับการขุดดิน เกี่ยวข้าวมีสติอยู่กับการเกี่ยวข้าว การมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะทำให้สามารถทำงานหนักตรากตรำได้ โดยไม่รู้สึกเหนื่อยยากท้อแท้หากแต่รู้สึกเพลิดเพลิน เพราะจิตใจได้พบกับความสงบสุขในขณะทำงาน และได้เห็นความงามและคุณค่าของสิ่งที่ตนทำในขณะนั้นๆ ซึ่งมีแต่เพิ่มพลังใจให้ จิตใจไม่ฟุ้งไปนึกถึงภาพหวังที่แตกต่างจากความเป็นจริงซึ่งรังแต่จะทำให้ท้อแท้
สุนทรียะ พวกเขากล่าวว่าจำเป็นต้องมีสุนทรียะด้วย จึงจะทำให้วิถีชีวิตนี้ยั่งยืน ที่สำคัญคือสุนทรียะในการทำงาน ซึ่งหมายความว่ามีความสุขความพึงพอใจในสิ่งที่ตนเองทำ เห็นความงามและคุณค่าของมัน การฝึกฝนจิตใจของตนเองด้วยการมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะก็เป็นกระบวนการหนึ่งในการบ่มเพาะอารมณ์สุนทรีย์ขึ้นในตน พวกเขาจึงสามารถมองเห็นความงามและคุณค่าของชีวิตและธรรมชาติและรู้สึกชื่นชมเปรมปรีดิ์ไปกับมัน บทกวีแห่งความงามและคุณค่าของวิถีชีวิตมักพลั่งพรูออกมาเสมอ แม้แต่คนที่บอกว่าตนไม่ใช่คนที่โรแมนติกอะไรเลย แต่ก็อดกล่าวบทกวีไม่ได้เมื่อเห็นดอกไม้ที่ตนปลูกผลิบานอยู่ตรงหน้าท่ามกลางมวลหมอกในยามอรุณรุ่ง สุนทรียะนี้แลเป็นพลังใจที่ไปหนุนเสริมให้เกิดพลังทางกาย
กัลยาณมิตร หรือมิตรแท้ที่คอยให้กำลังใจก็เป็นสิ่งหนึ่งที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญ บางคนบอกว่า การมีคู่ทุกข์คู่ยากต่อสู้ตรากตรำด้วยกันเป็นทุนที่สำคัญเรียกว่าทุนความรัก ที่ทำให้สามารถดำรงอยู่ในวิถีชีวิตที่เลือกนี้ได้ ยามที่คนหนึ่งท้ออีกคนก็เข้มแข็งและให้กำลังใจ ยามอีกคนเหนื่อยล้าอีกคนก็คอยเป็นกำลังหลัก ทำให้ไม่หวาดหวั่นที่จะต่อสู้และพยายามต่อไป ส่วนคนที่ไม่มีคู่ชีวิตก็บอกว่าการมีเพื่อนที่รู้ใจและเข้าใจคอยให้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ
และอันเนื่องด้วยเห็นความสำคัญของการมีเพื่อนพ้องที่เข้าอกเข้าใจกัน พูดคุยกันรู้เรื่อง เพื่อคอยให้กำลังใจกันนี้เอง พวกเขาจึงให้กำเนิดชุมชนคนสวน เป็นชุมชนของคนที่เลือกวิถีชีวิตแบบเดียวกัน มีความคิดความเชื่อ และศรัทธาในวิถีทางแบบเดียวกัน มีประสบการณ์ผ่านทุกข์สุขร้อนหนาวคล้ายคลึงกัน รู้ใจกัน ให้กำลังใจกัน หนุนเสริมกันและกันทางจิตใจ แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์กัน เป็นชุมชนของคน “คอเดียวกัน” ที่มีความรักความผูกพันกันมาก แม้จะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน …
(อ่านเรื่องราวของพวกเขาฉบับเต็มในหนังสือเรื่อง “ชุมชนคนสวน : ปัญญาชนทวนกระแส” สำนักพิมพ์เสมสิกขาภายในต้นปีหน้า ติดต่อได้ที่อาศรมวงศ์สนิทค่ะ)