ชุมชนทางเลือกและนัยยะต่อการพัฒนากระแสรอง

Posted on

ชุมชนทางเลือกและนัยยะต่อการพัฒนากระแสรอง

ที่มา : วารสารวิจัยสังคม Vol 36 No 2 (2013): กรกฎาคม – ธันวาคม 2556


แนวคิดการพัฒนามีการเปลี่ยนแปลงความหมายและจุดมุ่งเน้นไปตามแต่ละช่วงสมัย จากที่ให้ความสําคัญกับการพัฒนาให้ทันสมัยตามรูปแบบตะวันตกที่แพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ จนกลายเป็นแนวคิดการพัฒนากระแสหลักซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา จนเกิดแนวคิดที่ตั้งคําถามกับการพัฒนาดังกล่าวว่าเป็นการพัฒนาที่ถูกต้องหรือไม่ และพยายามค้นหาทางเลือกการพัฒนาในรูปแบบอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาโดยให้ความสําคัญกับสังคม ชุมชน มนุษย์ และการรักษาสิ่งแวดล้อม

ชุมชนทางเลือกก็เป็นหนึ่งในการพยายามค้นหาทางเลือกในการพัฒนา สิ่งที่ชุมชนทางเลือกให้ความสําคัญอยู่ที่การพัฒนาสมาชิกชุมชนให้มีคุณสมบัติที่พึงปรารถนา ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างสังคมตามอุดมคติที่คาดหวังไว้ ชุมชนทางเลือกมีแนวทางการคิด คือ

  1. การพัฒนามนุษย์ แม้ปฏิบัติการชุมชนทางเลือกแต่ละแห่งจะมีอุดมการณ์และเป้าหมายที่แตกต่างกัน แต่ก็มีความเหมือนกันแง่ของการให้ความสําคัญในการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ พัฒนาทักษะและหลักการดําเนินชีวิตร่วมกัน การดํารงความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ในแง่นี้ ปฏิบัติการชุมชนทางเลือกจึงเป็นการพัฒนาแบบมนุษยนิยม
  2. การพัฒนาด้านสังคม การอยู่ร่วมกันในแบบชุมชนจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้น สร้างความไว้วางใจ การสื่อสารระหว่างกัน มีการเสริมสร้างกําลังใจให้แก่กันและกัน พัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นพัฒนาภาวะผู้นําและการรับฟังความเห็นของผู้อื่น ฝึกให้คิดเรื่องส่วนรวม เกิดความเสียสละ การใช้ชีวิตในชุมชนทําให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ มากขึ้น ในแง่นี้ ปฏิบัติการชุมชนทางเลือกเป็นแนวทางแบบชุมชนนิยม
  3. การให้ความสําคัญเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชุมชนทางเลือกมักให้ความสําคัญกับระบบนิเวศ เพราะมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว และตระหนักว่าหากสิ่งแวดล้อมถูกทําลายจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในแง่นี้ ปฏิบัติการชุมชนทางเลือกเป็นแนวทางแบบธรรมชาตินิยม

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการก่อตั้งชุมชนอาศรมวงศ์สนิทได้กล่าวไว้ในการปาฐกถาโกมลคีมทองในหัวข้อ “มองไปข้างหลัง แลไปข้างหน้าเมื่อชราภาพครอบงํา” ว่า อาจกล่าวได้ว่าอาศรมวงศ์สนิทเป็นแบบอย่างให้เกิดชุมชนทางเลือกต่างๆ มากแห่งออกไปไม่น้อยกว่า 30แห่ง (สุลักษณ์ ศิวรักษ์,2554:24) การเกิดขึ้นของชุมชนทางเลือกจึงถือเป็นการสร้างสังคมตัวอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้สังคมภายนอกได้เห็นว่าการมีเป้าหมายที่จะใช้ชีวิตที่แตกต่างและการปฏิบัติตามเป้าหมายนั้นไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แนวคิดและวิถีปฏิบัติของชุมชนอาศรมวงศ์สนิทมีอิทธิพลต่อสมาชิกที่อยู่หรือเคยสัมผัสกับชุมชน สมาชิกหลายคนนําแนวคิดและอุดมการณ์ที่ได้เรียนรู้จากชุมชนไปสร้างสรรค์พื้นที่หรือกิจกรรมของตนต่อไปเช่น คุณ ศิริพร โชติชัชวาลกุล สมาชิกรุ่นบุกเบิกของอาศรมฯ ที่ไปสร้างพื้นที่สวนเกษตรแบบพึ่งตนเอง คือ สวนฝากดิน ที่จังหวัดนครราชสีมา คุณโจนจันได ที่เคยอาศัยในอาศรมฯและเป็นผู้ดําเนินการหลักในโครงการบ้านดิน ก็ไปบุกเบิกสร้างชุมชนทางเลือกที่สร้างบ้านด้วยดินและทําเกษตรแบบพึ่งตนเอง ชื่อว่า ชุมชนพันพรรณ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการขยายแนวคิดการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากกระแสหลักและสร้างสรรค์พื้นที่ในแบบที่ตนเองต้องการ นอกจากนี้ยังมีผู้ที่เคยอาศัยในอาศรมวงศ์สนิทและนําเอาวิถีปฏิบัติเมื่อครั้งยังอยู่ในชุมชนมาใช้ในการดําเนินชีวิตประจําวันเช่น การภาวนา การฝึกสมาธิ การเลือกรับประทานอาหารที่มาจากธรรมชาติการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่คํานึงถึงสิ่งแวดล้อม และการไม่ยึดติดกับวัตถุหรือความสะดวกสบายที่มากับโลกสมัยใหม่

ในหลายประเทศ ชุมชนทางเลือกมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม สร้างเครือข่าย และเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการก่อตั้ง ดังเช่น เครือข่ายFellowship for Intentional Community การขยายตัวและสร้างเครือข่ายชุมชน ทําให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกันของแต่ละชุมชน ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็ง อีกทั้งยังทําให้แต่ละชุมชนรู้สึกว่าการตัดสินใจที่จะดําเนินชีวิตในรูปแบบที่แตกต่างจากสังคมกระแสหลักและพยายามเสนอทางเลือกให้สังคมไม่ได้ทําอย่างโดดเดี่ยว แต่มีเครือข่ายชุมชนมากมายที่คิดเช่นเดียวกัน ซึ่งหากชุมชนสามารถขยายเครือข่ายไปได้ การสร้างสังคมใหม่ของชุมชนอาจจะเกิดขึ้นได้จริง

อย่างไรก็ตาม บางครั้งการที่แนวคิดการพัฒนากระแสรองต่างๆ ได้รับความสนใจจากสังคมภายนอกเพิ่มมากขึ้น ก็อาจทําให้มีการนําแนวคิดเหล่านั้นไปใช้แบบแยกส่วน หรือเพื่อประโยชน์ระยะสั้น การทําเช่นนี้อาจทําให้เกิดคําถามว่าแนวคิดกระแสรองเหล่านี้จะสามารถเป็นหนทางแก้ปัญหาจากการพัฒนากระแสหลักหรือเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยเติมเต็มส่วนที่บกพร่องของการพัฒนาในกระแสหลักที่จะทําให้การเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากการพัฒนากระแสหลักที่ครอบงําสังคมอยู่เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

แม้ว่าการปรับกระบวนทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาที่ครอบงําสังคมอยู่ในขณะจะนี้เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก การพัฒนากระแสทางเลือกไม่สามารถเข้าไปแทนที่หรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบใหญ่ได้ในทันที แต่อย่างน้อยแนวคิดและปฏิบัติการการพัฒนาทางเลือกดังกล่าวก็จะช่วยชะลอความเสียหายที่เกิดขึ้น และเป็นการค่อยๆ เปลี่ยนแปลงทัศนคติ วิธีการคิด และการใช้ชีวิตของคนในรุ่นต่อๆ ไปได้