ตราไว้ในดวงจิต ตอน10

Posted on

ตอนที่ ๑๐ ทดสอบ

ที่มา : หนังสือ ตราไว้ในดวงจิต บันทึกเรื่องราวอาศรมวงศ์สนิทยุคบุกเบิก เขียนโดย ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล


046น้ำในคลองเริ่มไหลเร็วและระดับน้ำสูงขึ้นทุกวัน เราเริ่มถูกธรรมชาติทดสอบฝีมือการพายเรือว่าใช้การได้หรือยังตอนนี้เรามีเรือลำเล็กที่จ้างช่างต่อ 1 ลำ ก่อนหน้านี้เราอาศัยเรือป้าแดง แรกๆ ที่เริ่มมีกระแสน้ำเชี่ยวเราก็ไม่ค่อยมั่นใจนักว่าจะพายเรือข้ามฝั่งได้ตรงจุดไหน ที่สำคัญจะบังคับเรือเข้าฝั่งได้หรือไม่ แต่ในที่สุดก็ทำได้ มีเพื่อนบางคนมาเที่ยวในช่วงนี้และไม่สามารถบังคับเรือเข้าฝั่งได้พวกเราต้องคอยเอาใจช่วย ตะโกนบอกวิธีพายอยู่ชายคลอง

“เอ้า! พายทางซ้าย ซ้าย ซ้าย คราวนี้ขวา ขวา ขวา อย่าตกใจ…”

กว่าจะทำสำเร็จเรือก็อาจจะเข้าจอดได้เลยจุดที่ ต้องการไปสักสามสิบเมตร ต้องเดินบนตลิ่งจูงเรือกลับมา

นอกจากกระแสน้ำเชี่ยวกรากแล้ว ยังมีกระแสลมที่ดาหน้ากันเข้ามาทดสอบความเข้มแข็งของเรา เราได้ฟังเรื่องราวของเพื่อนบ้านหลายรายที่เคยถูกลมหมุนพัดบ้านพัง ลมหอบเอาสังกะสีปลิวไปไกลเป็นกิโลเมตร บ้านหนึ่งอยู่ห่างเรากิโลเมตรครึ่งถูกลมหอบซ้ำถึงสองปีติดกัน เราเฝ้าแต่หวาดหวั่นว่าโคกบ้านเราสูงกว่าใครดินยังใหม่จะยึดเสาบ้านได้แน่นแค่ไหนก็ไม่รู้ ต้นไม้ก็ยังไม่โตพอจะบังลม บ้านเราเปล่าเปลือยสูงเด่นโดดเดี่ยวอยู่กลางทุ่งกว้าง

และแล้วเวลาก็มาถึง เพียงเริ่มฤดูก่อนฝนตกทุกครั้งจะมีลมนำมาก่อนพัดแรงจนบ้านสั่นไหว ข้าวของปลิวกระจาย แล้วก็แปลกเขาชอบมากลางคืนเสียด้วยสิ หลายครั้งที่เราต้องตื่นตีสองตีสามด้วยเสียงลมคำรามกระโชกอยู่ภายนอกรุนแรงจนเราไม่กล้านอนต่อ ต้องลุกมาเตรียมพร้อม ถามกันเองอยู่เสมอว่าบ้านที่มุงด้วยตับจากหลังน้อยของเราจะทานแรงลมไหวไหมหนอ จะอยู่บนบ้านก็กลัวจะถูกลมหอบไปพร้อมกับบ้าน หรือไม่ก็เกรงว่าโรงอเนกประสงค์ที่ปลูกไว้ใกล้บ้านจะล้มมาทับ ดูมันสั่นคลอนไหวพะเยิบพะยาบน่ากลัวเหลือเกิน ครั้นลองลงมาอยู่ข้างล่างก็ถูกฝนจนเปียกปอนแล้วก็ทานแรงลมไม่สู้จะไหว หนาวก็หนาว สุดท้ายก็กลับขึ้นไปอยู่บนบ้านอีก ลมแรงขึ้นทุกวันทุกคืน เราต้องตื่นตารอจนเสียงกระโชกคำรามค่อยๆ เบาลงจนเป็นเพียงเสียงครวญครางและสงบจึงนอนต่อ บางคืนเขาก็มาเยือนกันสองระลอกสามระลอกจนใกล้รุ่งจึงเลิกราไปคงกลัวเราเหงา

ลมมาแรงตอนต้นกับปลายฤดูฝน ช่วงกลางฤดูจะหนักไปทางฝน บางครั้งก็ตกโดยไม่มีลมนำ อย่างนี้เราชอบ แต่โดยทั่วไปแล้วก็มีเรื่องน่าเบื่ออยู่ คือดินที่นี่เป็นดินเหนียว ชนิดนำมาปั้นเตาได้โดยเสียเวลานวดเพียงไม่นาน พอโดนฝนดินก็เฉอะแฉะเหยียบลงไปจะติดเท้า เดินสักยี่สิบก้าวก็จะมีดินติดเท้าประมาณข้างละกิโลกรัม แต่ไม่ต้องถึงยี่สิบก้าวหรอก เพียงเดินไปสี่ห้าก้าวดินก็จะติดเท้าจนเดินยากไม่อยากเดิน ล้างออกก็ยาก ต้องนั่งแคะยืนแคะ ราดน้ำแล้วถูก็ยังไม่ยอมออกง่ายๆ ล้างเท้าครั้งหนึ่งน้ำหมดไปครึ่งตุ่ม ครั้นจะทำอ่างล้างเท้าไว้เชิงบันไดแบบบ้านไทยโบราณนิยม พอลงไปล้างเพียงคนเดียวดินก็ตกลงไปในอ่างมากจนน้ำขุ่น คนต่อไปไม่อยากลงล้าง หน้าฝนเราก็เลยแทบไม่อยากลงจากบ้านไปไหน นี่หมายถึงปีแรกอยู่บนบ้านเรือนแรกที่มีครัวบนบ้านพร้อมสรรพ พอปีที่สองเรามีบ้านเพิ่มอีกหลังหนึ่ง ชื่อเรือนเสงี่ยมเสมอ อาจารย์สุลักษณ์ตั้งชื่อตามนามม.ร.ว.เสงี่ยม สนิทวงศ์ คุณย่าพี่หน่อย (ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน์) และหม่อมเสมอ สวัสดิวัตน์ มารดาพี่หน่อย เป็นบ้านที่มีใต้ถุนสูง ทำครัวข้างล่าง กลางวันก็ไม่มีใครขึ้นบ้านเลยเพราะขี้เกียจล้างเท้า ตื่นเช้าลงมาทำงานย่ำไปย่ำมาจนค่ำถึงเวลานอนโน่นแหละจึงล้างเท้าขึ้นบ้าน