ตราไว้ในดวงจิต ตอน9

Posted on

ตอนที่ ๙ วสันต์แรก

ที่มา : หนังสือ ตราไว้ในดวงจิต บันทึกเรื่องราวอาศรมวงศ์สนิทยุคบุกเบิก เขียนโดย ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล


041เรามาอยู่ที่คลอง ๑๕ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ในปี๒๕๒๗ ได้ไม่กี่เดือนฤดูฝนก็มาเยือน ฝนเริ่มตกตั้งแต่ช่างกำลังสร้างบ้าน ระหว่างที่ช่างสร้างบ้านคุณพรหมกับลุงสมชายไปนอนที่บ้านใหม่นี้ตั้งแต่ยังเป็นเพียงกองไม้ เพื่อเฝ้าไม้กันขโมย พอยกพื้นก็ค่อยสบายขึ้นหน่อย ย้ายจากกองไม้ไปนอนบนพื้นบ้าน พอช่างทำหลังคาเสร็จป้าปอนซึ่งตอนนี้ยังอาศัยบ้านป้าแดงก็ตามไปนอนที่บ้านใหม่ด้วย นอนบนบ้านโล่งๆ ไม่มีฝาบรรยากาศแปลกดี

คืนหนึ่งหลังจากทำฝาบ้านแล้วแต่บ้านยังไม่เสร็จ ประมาณตีสองฝนตกหนักจนหลังคาที่มุงด้วยใบจากตามที่ออกแบบไว้เกิดรั่วขึ้นมา น้ำฝนหยดลงมาตรงที่ป้าปอนกับลุงสมชายนอน เราย้ายที่นอนไปมุมอื่น ฝนตกหนักขึ้นๆ จนในที่สุดน้ำหยดทะลุหลังคาจนไม่มีที่ให้นอนต้องลุกนั่ง นั่งแล้วยังเปียก ต้องยืนหลบมุม สุดท้ายหลังคารั่วทั้งบ้านจนไม่มีที่แห้งเลย เราตัดสินใจว่าต้องกลับไปนอนบ้านป้าแดง บ้านเราออกแบบไว้มีนอกชานและบันไดทั้งด้านหน้าด้านหลัง แต่ตอนนั้นเพิ่งทำเพียงบันไดด้านหน้า พอเปิดประตูจะเดินไปลงบันได ปรากฏว่าลมกระโชกปะทะแรงมากจนต้านไม่ไหวน้ำฝนก็สาดเข้าตาจนมองอะไรไม่เห็น ต้องเปลี่ยนมาออกด้านหลังบ้านที่ไม่มีบันได บ้านสูงประมาณเมตรครึ่ง ป้าปอนไม่กล้ากระโดดลงไป ลุงสมชายกระโดดลงไปก่อนแล้วรอรับอุ้มป้าปอนที่กระโดดตามลงไป จากนั้นก็หอบเสื่อและผ้าห่มวิ่งฝ่าสายฝนไปบนพื้นดินที่เฉอะแฉะและลื่นท่ามกลางความมืดสลับฟ้าคะนองแลบแปลบปลาบ กลับไปยังบ้านป้าแดงที่อยู่ห่างราวห้าสิบเมตรด้วยใจคอระทึกกลัวฟ้าผ่า เพราะตั้งแต่อยู่ที่นี่เพียงไม่กี่เดือนก็ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับฟ้าผ่าโดนบ้านคนนี้คนโน้นจนมีคนตายและเกือบตายมาหลายราย แม้แต่ต้นตาลในพื้นที่เราก็โดนฟ้าผ่าซ้ำปีเว้นปีจนตายไปต้นหนึ่ง กว่าจะไปถึงบ้านป้าแดงก็หนาวสั่นเปียกโชกไปทั้งตัว เท้าเลอะเทอะจะขึ้นบ้านก็ไม่สะดวก ทั้งเกรงเจ้าของบ้านจะตกใจเพราะเกือบตีสามแล้ว ก็เลยอาศัยนอนแคร่บนพื้นดินในครัวกัน

สำาหรับหลังคาบ้านของเรานั้นเนื่องจากออกแบบความลาดชันผิดสัดส่วน ไม่เหมาะกับวัสดุภายหลังจึงเปลี่ยนวัสดุมุง จากตับจากเป็นสังกะสีเพื่อให้นำ้าไหล ระบายเร็วขึ้น

042ฝนมาช่วยให้เราปลูกต้นไม้ง่ายขึ้น ดินนุ่มขุดง่าย ทั้งไม่ต้องหิ้วน้ำจากคลองมารดให้เหนื่อยเหมือนหน้าร้อน ป้าแดงบอกว่าในฤดูฝนของทุกปีน้ำจะเอ่อท่วมผืนดินของเราทั้งหมด รวมทั้งผืนดินที่ติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ด้วย เราจึงเตรียมปลูกผักเฉพาะบนโคกบ้านที่เราปรับให้สูงกว่าระดับที่น้าจะท่วมถึง เราลองปลูกผักรอบใหม่ มีถั่วฝักยาว มะระ ฟักทอง น้ำเต้า พริก มะเขือ ผักชี สะระแหน่ต้นหอม คราวนี้ได้ผลดีหลายอย่าง คงจะเป็นเพราะฤดูฝนมีความชุ่มชื้น ทั้งเรารู้วิธีมากขึ้น ถั่วฝักยาว มะระ มะเขือ น้ำเต้า ออกลูกออกฝักจนกินไม่ทัน เรานำไปแบ่งให้เพื่อนบ้าน เขาก็ให้ของที่เขาปลูกเช่น แฟง ผักกาด มะกรูด มะนาว แลกเปลี่ยนกัน

นอกจากนี้เราปลูกไม้ต้น เช่น มะละกอ สะเดา แค มะม่วง ขนุน อย่างละ ๓-๔ ต้นด้วย พืชทุกชนิดที่ปลูกตอนนี้อยู่รวมกันบนโคกพื้นที่งานกว่าๆ เราปลูกจนแทบไม่มีที่ว่าง ด้วยรู้สึกว่าที่ดินของเรานี้ช่างแห้งแล้งเหลือเกินอยากให้มีต้นไม้พืชพันธุ์เยอะๆ และช่วงนี้นอกจากพื้นที่บนโคกแล้วนอกนั้นน้ำท่วมหมดปลูกอะไรไม่ได้เลย มีพืชอีกอย่างที่เราปลูกได้ผลดีคือกระเจี๊ยบแดง เหตุมาจากมีวันหนึ่ง น้าตู่ (ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์) กับน้าก้อย คู่สามีภรรยาที่เป็นเพื่อนรุ่นน้องเคยเรียนที่คณะสังคมวิทยา–มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยกันกับป้าปอนมาเยี่ยมเป็นครั้งที่สอง

เขาเพิ่งกลับจากเยี่ยมสวนเพื่อนที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้เก็บกระเจี๊ยบแดงมาจากสวนเพื่อนสองดอก เรานิยมเรียกเป็นดอกแต่อันที่จริงส่วนที่เป็นสีแดงกลีบหนาแข็งนี้คือผล ส่วนที่เป็นดอกจะมีกลีบบอบบางสีเหลืองและโรยราไปตั้งแต่ก่อนจะเห็นส่วนที่เป็นผล น้าตู่มอบดอกหนึ่งให้ป้าปอนลองปลูกดู ข้างในมีเมล็ดกระเจี๊ยบประมาณ ๒๐ เมล็ด ส่วนอีกดอกน้าตู่เอากลับไปปลูกที่บ้าน ป้าปอนก็ยังไม่เคยเห็นต้นกระเจี๊ยบแต่ก็ได้ลองปลูกดู และก็ช่างปลูกง่ายดาย เพียงสองเดือนก็ติดดอกผลเต็มต้น ผลผลิตรุ่นแรกมีขนาดเล็กและจำนวนไม่มากนัก ประมาณต้นละ ๑๐ กว่าผล เอาเมล็ดจากรุ่นแรกนี้มาปลูกขยาย คราวนี้ผลเยอะขึ้นและขนาดโต เราเก็บผลสดได้ประมาณ ๕๐ กิโลกรัม นำไปแจกจ่ายท่านที่เคารพนับถือ ๓-๔ ท่าน ด้วยความภูมิใจที่เป็นผลผลิตจากมือเราเอง ที่อาศรมฯ เราก็นำมาต้มน้ากระเจี๊ยบดื่มกันและเลี้ยงแขก กากที่เหลือสีสันแดงสวยงามก็กวนเป็นแยมทาขนมปัง แล้วยังเก็บกระเจี๊ยบตากแห้งได้อีกถุงใหญ่ พอหมดผลเราก็เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในปีต่อๆ ไปอีกมากมาย ขนาดของผลก็โตขึ้นอีกและสมบูรณ์มากๆ คงชอบดินเปรี้ยวและอากาศที่อาศรมวงศ์สนิท จนภายหลังกระเจี๊ยบแดงนี้ก็เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของอาศรมวงศ์สนิทได้ปลูกกินปลูกขาย จนเมื่อน้าตู่กลับมาเยี่ยมเราอีกครั้งก็ทึ่งมากเพราะดอกที่น้าตู่นำไปปลูกเองได้ผลน้อยจนรวมผลที่ได้ทั้งหมดต้มน้ำกระเจี๊ยบได้เพียงหนึ่งขวดเท่านั้น