ตอนที่ ๑๖ บ้านรับรองแขกที่มา : หนังสือ ตราไว้ในดวงจิต บันทึกเรื่องราวอาศรมวงศ์สนิทยุคบุกเบิก เขียนโดย ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล |
เข้าหน้าร้อนปี พ.ศ.๒๕๒๘ เราอาศัยอยู่บนผืนดินนี้เกือบครบขวบปี ยังไม่รู้ชะตากรรมของตัวเองว่าจะออกหัวก้อยอย่างไร ดำรงชีพอยู่รอดหรือไม่ ทางศูนย์พัฒนาวัฒนธรรมแห่งเอเชีย (ACFOD–Asia Cultural Forum Of Development ) โดยอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็เสนอที่จะช่วยเหลืองานอาศรมวงศ์สนิทของเรา โดยจะออกทุนสร้างบ้านรับรองให้หนึ่งหลัง เพื่อเราจะได้ใช้จัดเป็นที่พักของศิลปิน นักวิชาการ นักพัฒนา นักศึกษา หรือใครๆ ที่ต้องการมาพักผ่อน มาเขียนงาน หรือมาประชุมสัมมนาในบรรยากาศทุ่งกว้างลมเย็นแห่งนี้ ตามวัตถุประสงค์อันหนึ่งของการสร้างอาศรมฯ แล้วเราก็จะมีรายได้จากค่าบำรุงสถานที่ ส่วนศูนย์พัฒนาวัฒนธรรมฯ ก็จะได้สถานที่สำหรับประชุม สัมมนา หรือพักผ่อนอีกแห่งหนึ่ง บ้านพักรับรองขนาดจุคนได้ ๑๕–๒๐ คนแบบนอนเรียงแถวเหมือนค่ายเด็กนักเรียนก็ได้รับการสร้างขึ้น โดยตกลงกันในชั้นแรกว่า มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เจ้าของอาศรมวงศ์สนิทออกค่าก่อสร้างครึ่งหนึ่ง และศูนย์พัฒนาวัฒนธรรมแห่งเอเชีย (ACFOD) ออกทุนอีกครึ่งหนึ่ง ให้ป้าปอนและลุงสมชายควบคุมการก่อสร้างและดูแลรักษา บ้านเริ่มสร้างต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๒๘ และต้องให้เสร็จก่อนกลางเดือนเมษายน อันเป็นเวลาประชุมประจำปีของคณะกรรมการศูนย์พัฒนาวัฒนธรรมฯ เรามีเวลาทั้งหมดประมาณไม่ถึงเดือนครึ่ง ช่วงก่อสร้างบ้านเป็นช่วงงานที่เราเคร่งเครียดมาก ตั้งแต่ระยะเวลาที่จำกัด รูปแบบและเงินทุน เดิมคุยกันว่าจะใช้วัสดุพื้นบ้านพวกจาก ไม้ไผ่ ฯลฯรูปทรงเป็นกึ่งกระท่อม ภายหลังอาจารย์สุลักษณ์แนะนำว่าควรเป็นเรือนไม้ที่แข็งแรงเพื่อความคงทน และขอให้มีมุ้งลวดกันยุง รายละเอียดส่วนต่างๆ ของบ้านจึงเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เช่น ต้องมีฝ้าเพดาน ต้องทำวงกบประตู หน้าต่าง เพื่อใส่มุ้งลวด อะไรทำนองนี้ ทุนรอนที่ได้รับแต่เดิมก็เลยไม่พอ ป้าปอนกับลุงสมชายจึงได้หยิบยืมจากส่วนโน้นส่วนนี้ที่ดูแลอยู่มาเสริมเติมเข้าไป งานสร้างบ้านหลังนี้เลยเป็นงานที่ทำไปด้วยความทุกข์กังวลใจ แต่ต่อมาภายหลังบ้านนี้ได้รับรองผู้คนมากมายที่สนใจแนวความคิดและรูปแบบชุมชนใหม่แห่งนี้ จนนับได้ว่าเรือนหลังนี้เป็นฐานสำคัญอีกจุดหนึ่งในการเติบโตของชุมชนทางเลือกอาศรมวงศ์สนิทในยุคต่อๆ มา เรากลัวบ้านเสร็จไม่ทันตามกำหนด กลัวเงินไม่พอ ลุงสมชายเป็นคนเขียนแปลนบ้านเองทั้งที่ไม่มีความรู้ด้านนี้ ใช้วิธีศึกษาจากหนังสือเท่าที่เราพอหาได้ในห้องสมุดของเราเอง และปรึกษาช่างควบคู่กันไป แล้วก็ไปดูบ้านจริงของชาวบ้านเราก็อยากให้สถาปนิกเขียนแบบให้ แต่สรุปบทเรียนจากงานที่ผ่านมาหลายชิ้นว่าการรอพึ่งคนอื่นนั้นมักจะเหลวและไม่ทันการณ์และกาล ทำเอาเสียการงานก็บ่อย ถ้าจะรอให้สถาปนิกเขียนให้อย่างเร็วที่สุดก็คงใช้เวลากว่าสัปดาห์ ยังต้องใช้เวลาในการติดต่อประสานงานด้วย ลุงสมชายเขียนเองใช้เวลาเพียง ๔ วัน แต่ก็เป็น ๔ วันที่หนักหน่วง คือเขียนกลางคืนถึงตีสามตีสี่ เช้าให้ช่างดูว่าถูกต้องหรือไม่ แก้ไขปรับปรุง แล้วก็ไปหาซื้อไม้ตามโรงไม้เก่ากัน กลางวันคุมการปรับพื้นดิน กลางคืนแก้ไขแบบบ้านให้เข้ากับไม้ที่ซื้อและงบประมาณที่จำกัด เช้าลุงสมชายยังไม่ทันลุกจากที่นอน ช่างไม้ก็มารอปรึกษาและเริ่มงานของวันใหม่ เป็นว่าข้าวเช้าไม่ต้องกินกัน คือเราเร่งช่างให้สร้างเร็วไว ช่างก็เลยมาเร่งเราอีกทีหนึ่งให้เตรียมแบบแปลน เตรียมพื้นที่ และหาซื้อวัสดุให้เขาเร็วที่สุด ทำงานอย่างนี้อยู่ราวสัปดาห์ลุงสมชายก็ป่วย แต่ถึงป่วยก็หยุดไม่ได้ งานกำลังเดิน แล้วเราไม่มีกำลังเสริม ลุงสมชายต้องเดินทางซื้อวัสดุและคุมงานก่อสร้างทั้งๆ ป่วยนั่นแหละ ฝ่ายป้าปอนมีหน้าที่ทำงานบ้าน หุงหาอาหาร รดน้ำต้นไม้ ปลูกและเก็บผักขาย และเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเบิกเงินค่าก่อสร้างเป็นงวดๆ ไป ช่วงนั้นเราสองคนเหนื่อยและเครียดมาก เงินทองส่วนที่เป็นค่ากินอยู่ร่อยหรอลงทุกวัน เราประหยัดโดยซื้อกับข้าวให้น้อยที่สุด เป็ดรุ่นแรกของเรายังไม่ออกไข่ อาหารประจำของเราคือข้าวกับปลาเค็มหรือปลาร้าที่เราทำเองจากปลาที่จับได้ในฤดูหนาว ถั่วฝักยาว ผักบุ้งที่เราปลูก สายบัวจากในคลอง กินซ้ำไปซ้ำมา ยิ่งป้าปอนทำอาหารไม่ค่อยเป็น รสชาติอาหารเลยไม่เอาไหน ก็กล้ำกลืนกินกันฝืดคอ เราสองคนไม่มีเวลากินข้าวด้วยกันเลย นอนก็คนละบ้าน ป้าปอนนอนเฝ้าบ้านหลังเก่า (เรือนแรก) ลุงสมชายไปนอนเฝ้าบ้านใหม่ ก็เฝ้าตั้งแต่ยังเป็นกองไม้เหมือนคราวสร้างบ้านหลังแรก งานหนัก อาหารแย่ ร่างกายทรุดโทรม เจ็บป่วยทั้งสองคน ปกติป้าปอนเข้มแข็งมากนะทั้งร่างกาย จิตใจ เห็นหุ่นบางๆ อย่างนั้นเถอะ แต่ช่วงนั้นก็ถึงกับหดหู่ใจ คิดไปว่าก่อนนี้เราอยู่ในเมืองทำงานเบาๆ มีรายได้แน่นอนพอใช้จ่ายอาหารการกินอุดมสมบูรณ์รสชาติเอร็ดอร่อย เดี๋ยวนี้ทำงานใช้แรงหนักเต็มที่ทุกวัน อาหารกลับมีเพียงข้าวกับปลาเค็มแห้งๆ ผักซ้ำๆ คิดไปมาน้ำตาไหล สงสารทั้งตัวเองทั้งลุงสมชาย กินข้าวเคล้าน้ำตาอยู่หลายมื้อไม่กล้าพูดให้ลุงสมชายฟังเพราะปกติลุงสมชายมักรู้สึกไม่ชอบใจกับสภาพอย่างนี้อยู่แล้ว เกรงว่าถ้ารู้ว่ารู้สึกตรงกันจะพลอยให้เสียกำลังใจกันเปล่าๆ แต่สุดท้ายอยู่กันสองคนก็อดจะถ่ายทอดกันไม่ได้ ผิดคาด ขณะที่ป้าปอนอ่อนแอ ลุงสมชายกลับเข้มแข็งมีพลังอย่างประหลาด ช่วยปลอบโยนให้กำลังใจจนเข้มแข็งขึ้นมาใหม่ ซึ่งภายหลังเมื่อเราเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้ากับงานที่ทำ หรือมีปัญหาใดๆ รบกวนจิตใจ ก็จะเกิดสภาพคนหนึ่งอ่อนแออีกคนเข้มแข็งทุกครั้งไป ก็เลยช่วยกันฉุดช่วยกันดึง ปลอบประโลมใจให้เดินหน้าไปได้เรื่อยๆ ดูเหมือนบุคลิกที่ตรงกันข้ามนี่แหละที่ช่วยแก้ไขสถานการณ์ยามวิกฤตทั้งในด้านชีวิตคู่และการงานเสมอมา เราเหน็ดเหนื่อยกับงานสร้างบ้านจนวันสุดท้าย บ้านเสร็จเอาเช้าวันที่คณะกรรมการศูนย์พัฒนาวัฒนธรรมฯ มาถึง ความจริงไม่เรียกว่าเสร็จหรอก ทำไปได้สัก ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แต่พอเข้าอยู่ได้ ข้าวของเครื่องใช้ยังจัดวางไม่เป็นที่ทางเราเลยต้องเหนื่อยอีกตลอดการประชุม ๖ วันของคณะกรรมการ ACFOD คอยขนย้ายโต๊ะประชุมให้พ้นแดดเช้าบ่าย ย้ายมุมประกอบอาหารแต่ละมื้อหลบไม่ให้เสียงและกลิ่นรบกวน เราขอบพระคุณอาจารย์สุลักษณ์และคณะ ซึ่งล้วนเป็นชาวต่างชาติสูงอายุ ทุกคนพักอยู่กับเราด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี ยอมมองข้ามข้อบกพร่องหลายประการในการรับรองของเรา งานจบลงด้วยความโล่งใจและเสริมกำลังใจเรามากขึ้น หลังแขกชุดใหญ่คณะแรกนี้แล้ว ก็มีหลายคณะทั้งไทยและเทศทยอยมาเยี่ยมชมอาศรมของเรา อาจารย์สุลักษณ์และพี่หน่อย (ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน์) ร่วมกันตั้งชื่อเรือนรับรองหลังนี้ว่า “เรือนเสงี่ยมเสมอ” เพื่อระลึกถึง ม.ร.ว.เสงี่ยม สนิทวงศ์คุณย่าพี่หน่อย และหม่อมเสมอ สวัสดิวัตน์ คุณแม่พี่หน่อย และพี่หน่อยเองให้เงินพิเศษขอให้ทำห้องน้ำมีโถส้วมนั่งที่เรือนหลังนี้ เพราะเดิมเรามีแต่ส้วมแบบบ้านนอก เธอใช้ไม่สะดวก เธอยินดีให้ตั้งชื่อห้องสุขานี้ว่า “ห้องสายสวัสดี” ———- หมายเหตุ: หากมีข้อผิดพลาดในการเอ่ยนามและลำดับญาติวงศ์ ป้าปอนกราบขออภัยอย่างสูงต่อเจ้าของนาม เพราะยังไม่มีโอกาสเรียนถามผู้รู้ เจตนาคือต้องการให้ผู้อ่านและผู้ที่เคยไป เคยอยู่ที่อาศรมวงศ์สนิทได้ทราบความเป็นมา และป้าปอนเองสำนึกในพระคุณท่านเหล่านี้ |