ดีท็อกซ์ชีวิตด้วย “Slow Living”

Posted on

ดีท็อกซ์ชีวิตด้วย “Slow Living”

เขียนโดย ศรัณยู นกแก้ว
ที่มา : นิตยสาร SECRET vol. 1 no. 18 March 2009

7.00น. ตื่นนอน อาบน้ำ 7.30 น. แต่งตัว กินข้าว ขับรถ 8.30 น. ถึงที่ทำงาน โทรศัพท์ ส่งแฟกซ์ นัดลูกค้า ปั่นงาน 12.00 น. กินข้าว 12.30 น. ทำงานต่อ ประชุม 19.00 น. กลับบ้าน 20.30 น. กินข้าวเย็น อาบน้ำ ดูละครหลังข่าว เคลียร์งานต่อ 24.00 น. หมดเวลา ปิดไฟ นอน

ท่ามกลางความเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม ดูเหมือนว่าจะทำให้ชีวิตเล็กๆ ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนสังคม วิ่งวนอย่างรีบเร่ง ไม่ว่าจะเป็นความเร่งรีบในที่ทำงาน ความเร่งรีบบนโต๊ะอาหาร ไปจนถึงความเร่งรีบที่จะล้มตัวลงนอน เพื่อชาร์จแบตให้มีแรงตื่นขึ้นมาพบกับความเร่งรีบอีกครั้งในเช้าวันใหม่ แน่นอนว่าความเร่งรีบเหล่านี้ไม่ส่งผลดีแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ความรีบเร่งในทุกจังหวะชีวิตกลับทำให้สุขภาพกายย่ำแย่ ที่สำคัญ ยังก่อให้เกิดมลพิษทางจิตและสร้างมลพิษแก่โลกใบนี้อีกด้วยก่อน ที่ความเร่งรีบจะทำร้ายตัวเราและโลกไปมากกว่านี้นักสิ่งแวดล้อมและนักบำบัดทั้งหลาย จึงได้คิดค้นการใช้ชีวิตแนวใหม่ที่ช้าลง ในแบบที่เรียกว่า Slow Living ขึ้น

สิงคโปร์ แชมป์ Fast Living

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเฮิร์ตฟอร์ดเชียร์( University Of Herfordshier ) ประเทศอังกฤษ ได้ทำการวิจัยพบว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา คนเมืองอย่างเราๆใช้ชีวิตเร่งรีบมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยความเร่งรีบนี้สามารถวัดได้จากความเร็วในการเดิน ซึ่งปัจจุบันคนทั่วโลกเดินเร็วขึ้นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของความเร็วที่เราใช้เดินกันในช่วง พ.ศ. 2537 ส่วนแชมป์ในการเดินเร็วนั้นต้องขอยกให้ประชากรจากเกาะสิงคโปร์ ซึ่งเดินเร็วมากกว่าในอดีตถึง 30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ซึ่งตัวเลขนี้ถือได้ว่าเป็นดรรชนีวัดความเร่งรีบและความเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดของประเทศเล็กๆแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

ทำไมต้อง ช้า

หลายคนคงตั้งคำถามอยู่ในใจว่า ทำไมชีวิตต้องเชื่องช้า คำตอบก็คือ หากหันไปมองรอบๆตัวเรา จะพบว่าทุกวันนี้ชีวิตเต็มไปด้วยความเร่งรีบ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟสายด่วน อาหารจานด่วน บทสนทนาที่รีบเร่ง ชะโงกทัวร์แบบด่วนจี๋ เอสเอ็มเอสย่อยข่าวทุกนาทีฯลฯ

แม้ความเร็วจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อยู่ไม่น้อย แต่หากมากไปก็อาจทำให้เราลืมรายละเอียดสำคัญๆรอบกายได้ เช่น ลืมให้เวลากับคนที่เรารัก ลืมใส่ใจความอร่อยของอาหารรสเลิศที่อยู่ตรงหน้าหรือลืมแม้กระทั่งความสุขที่อยู่สองข้างทางระหว่างบ้านถึงที่ทำงาน

ความเร็วนอกจากจะเป็นตัวการสำคัญในการบั่นทอนความสุขทางใจแล้ว ในทางการแพทย์ ความเร่งรีบยังก่อให้เกิดโรค Hurry Sickness Syndrome ทำให้คนที่ใช้ชีวิตเร่งรีบเกินไป รู้สึกหายใจไม่ทันหรือหายใจหอบ หัวใจเต้นเร็ว ส่งผลให้แขนขาหมดแรง ใจหวิว และทำให้เกิดโรคต่างๆตามมา

ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ ความรีบเร่งยังเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม เพราะความเร่งรีบทำให้ต้องใช้สารเคมีมากมาย เพื่อกระตุ้นผลผลิตทางการเกษตรและเพิ่มศักยภาพทางการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

เพื่อเป็นการหยุดชีวิตที่เร่งรีบ ขอเสนอเทคนิคการใช้ชีวิตแช่มช้า ในแบบที่เรียกว่า Slow Living ซึ่งสามารถนำมาปฏิบัติได้จริงในทุกที่ ทุกเวลา และทุกวัน ดังนี้

  1. ตื่นให้เร็วขึ้น แต่หายใจให้ช้าลง ใครที่เคยชินกับชีวิตในแบบที่เร่งรีบ และรู้สึกว่าเวลา 24 ชั่วโมงต่อวันนั้นไม่เคยพอ ให้ลองเริ่มต้นใหม่ด้วย การตื่นให้เช้าขึ้น เพื่อที่คุณจะได้มีเวลาเพิ่มขึ้น พร้อมทั้ง หายใจให้ช้าลง เพื่อเรียกสติให้กลับมาจดจ่อกับสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ เคยสังเกตไหมว่า เมื่อไรที่คุณตื่น คุณก็จะรีบอาบน้ำ รีบกินข้าว โดยที่ใจไม่เคยได้สัมผัสกับความเย็นฉ่ำของน้ำหรือความอร่อยของอาหารมื้อแรกเลยสักนิด แต่หากเมื่อไรคุณตื่นเช้าขึ้นกว่าเดิม แล้วค่อยๆล้างหน้า แปรงฟัง อาบน้ำ และถ้าใครไม่ต้องใช้เวลาในการเดินทางไปทำงานนานนัก อาจจะลองเดินออกจากบ้านไปตักบาตร หรืออาจจะเดินไปรดน้ำต้นไม้สักนิด พร้อมทั้งสำรวจว่าต้นไม้แต่ละต้นไม้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง นับแต่วันแรกที่เราซื้อมาแล้ว ที่สำคัญ อย่าลืมสูดอากาศยามเช้าให้เต็มปอด เพื่อกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่ เพียงเท่านี้คุณก็สามารถเริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างสุขใจ และไม่เร่งรีบได้แล้ว ประสิทธิภาพสมองกับ Slow Morning รู้ไหมว่า หากเราตื่นนอนอย่างงัวเงีย เราจะสามารถดึงประสิทธิภาพของสมองมาใช้ได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น การจะดึงอีก 90 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือมาใช้ ทำได้ด้วยการทำให้คลื่นสมองช้าลง ด้วยการหยุดความเร่งรีบในยามเช้านั่นเอง
  2. ปฏิบัติการเพื่อความเงียบ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในเมืองหลวงหรือมหานครที่มีแต่ความวุ่นวาย ขอให้คุณลองหามุมเงียบๆให้ใจได้พักบ้าง สักสัปดาห์ละครั้งก็ยังดี มุมเงียบๆที่ว่าไม่ได้หมายถึงการหนีไปไหนไกลๆ แต่ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่อยู่กับตัวเองเงียบๆ สักวัน แล้วปิดโทรศัพท์มือถือ เลิกดูโทรทัศน์ ไม่ฟังวิทยุ รวมทั้งงดใช้งานอินเทอร์เน็ตและการแชตชั่วคราว เพื่อให้คุณได้หยุดวิ่งตามกระแสต่างๆ แล้วหันกลับมาฟังเสียงธรรมชาติดูบ้าง ที่สำคัญ การอยู่เงียบๆคนเดียว ยังทำให้เราได้ยินเสียงลมหายใจเข้า-ออกและเสียงของหัวใจตัวเองชัดเจนขึ้นอีกด้วย วันหยุดเพื่อหยุด อย่ากลัวที่จะปิดโทรศัพท์มือถือในช่วงวันหยุดพักร้อนของคุณ ทั้งนี้ก็เพื่อให้กายและใจของคุณได้พักผ่อนอย่างแท้จริง หลังจากทำงานอย่างหนักมาตลอดทั้งปี
  3. ทำงานช้าลง แต่ได้ผลเต็มร้อย บางครั้งการทำงานด้วยความรีบเร่งก็ไม่ได้เกิดประโยชน์เสมอไปตรงกันข้าม การทำงานด้วยความรอบคอบและมีสติ ต่างหากที่จะทำให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพ ลองหัดทำงานให้ช้าลงแต่ได้ผลเต็มร้อยด้วยเทคนิคง่ายๆเหล่านี้

• ทำให้คลื่นสมองช้าลง หากเรากำลังเครียด ลองผ่อนคลายด้วยการนั่งหลับตา ผ่อนคลายใบหน้า วางมือและเท้าในท่าที่สบาย แล้วจินตนาการถึงภาพที่สวยงาม เพื่อให้คลื่นสมองทำงานช้าลง รู้สึกเบาสบาย และสามารถคิดสร้างสรรค์งานได้ดีขึ้น

• รอบคอบ แต่ไม่คิดมาก หัวใจของการทำงานแบบเชื่องช้าก็คือ การคิดและทำอย่างรอบคอบแต่ไม่ใช่การคิดมาก เพราะการคิดมากจะทำให้เรากลายเป็นคนย้ำคิดย้ำทำอยู่ที่เดิม โดยไม่ได้พบทางออกของปัญหา

• ใส่ใจกับปัจจุบัน ฝึกตัวเองไม่ให้กังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เลิกวิตกกับกำหนดเวลาแต่มีสมาธิอยู่กับปัจจุบันขณะอย่างผ่อนคลาย

• รับมือกับความเครียดด้วยสติ ความเครียดเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ แต่เมื่อความเครียดเกิดขึ้น เราสามารถรับมือกับความเครียดอย่างมีสติ ด้วยการเตือนตัวเอง ให้ค่อยๆคิดทบทวนอย่างช้าๆเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา วิธีนี้จะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและสามารถหาทางแก้ปัญหาได้ทันท่วงทีและถูกต้องตรงจุดยิ่งขึ้น

4. รักษ์โลกและร่างกายด้วย Slow Food slow foodไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธอาหาร fast food เท่านั้น แต่ slow food ยังหมายรวมถึงการให้ความสำคัญกับศิลปะในการปรุงอาหาร ตั้งแต่การเตรียมส่วนผสม การคัดสรรวัตถุดิบ รวมทั้งการปรุงอาหารแต่ละจานด้วยความใส่ใจ ไปจนถึงการค่อยๆเคี้ยวอาหารแต่ละคำ เพื่อให้ได้รับรสของอาหารอย่างแท้จริง ลองฝึกเทคนิคการบริโภคแบบ slow food ดังนี้

• ใช้วัตถุดินในท้องถิ่น เพื่อให้ได้ของสดใหม่ รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่ง

• กินตามฤดูกาล เพื่อลดการใช้ยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ย และสารเคมีในการเร่งดอกออกผล

• สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ แบบไม่ใช้สารเคมี ซึ่งแม้ว่าจะทำให้ได้ผลผลิตช้ากว่าการใช้สารเคมี แต่รับรองว่าปลอดภัยกว่าแน่นอน

• ปรุงด้วยการนึ่ง ต้ม ตุ๋น แทนการผัดและทอดที่อุณหภูมิสูง เพื่อรักษาคุณค่าของสารอาหาร และลดการปล่อยความร้อนออกสู่สิ่งแวดล้อม

• เคี้ยวอย่างเชื่องช้า เพื่อช่วยระบบการย่อมอาหาร และทำให้ได้สัมผัสถึงรสชาติของอาหารอย่างแท้จริง

ผัก-ผลไม้สดกู้โลก แทบไม่น่าเชื่อว่า การบริโภคผัก-ผลไม้สดแทนผลิตภัณฑ์บรรจุกระป๋องหรือแช่แข็งจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อย่างมาก เพราะแค่ในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว ก็สูญเสียพลังงานจากการแช่แข็งและผลิตผัก-ผลไม้กระป๋องไปถึงสามพันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งมากพอจะทำให้หลอดไฟทุกดวงในมหานครนิวยอร์กสว่างไสวได้นานถึงสามปี

5. ชีวิตแช่มช้าด้วย Slow Shopping เชื่อไหมว่าการช็อปปิ้งก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการใช้ชีวิตอย่างแช่มช้าได้เช่นกัน ด้วยการสนับสนุนสินค้าในท้องถิ่นหรือสินค้าแฮนด์เมดที่ต้องใช้เวลาในการผลิต รวมทั้งการซื้อผัก ผลไม้ตามฤดูกาล เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพและได้รับประทานอาหารสดใหม่ อีกทั้งยังช่วยลดปรากฏการณ์เรือนกระจก เพราะมลพิษจากการขนส่งสินค้าทางไกลอีกด้วย

ใช้บริการร้านค้าใกล้บ้าน

อีกวิธีที่จะช่วยประหยัดพลังงานหรือ พยายามซื้อสินค้าจากร้านและตลาดใกล้บ้าน หรือแวะซื้อจากร้านที่เป็นทางผ่าน แทนการตั้งหน้าตั้งตาขับรถไปห้างสรรพสินค้าไกลๆ เพื่อซื้อของเพียงไม่กี่ชิ้น

6. ชีวิตไร้มลพิษกับ Slow Travel ใครที่ชอบเดินทางด้วยความด่วนจี๋ ลองเปลี่ยนวิธีเดินทางเป็นแบบ slow travel ดูบ้าง

เริ่มจากเปลี่ยนการเดินทางด้วยเครื่องบินมาเป็นรถไฟ เรือ จักรยาน หรือแม้แต่การเดิน เพื่อช่วยประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่โลก และใช้เวลาต่อหนึ่งทริปให้นานขึ้น โดยให้ความสำคัญกับกิจกรรมระหว่างทาง เช่น แวะไปเที่ยวตลาดสดกลางหมู่บ้าน ทักทายผู้คนสองข้างทาง และเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยการเลือกไปพักแบบโฮมสเตย์ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเดินทางในครั้งนี้ให้เต็มที่

7. ออกกำลังกายสร้างสมาธิ

อีกวิธีที่จะสลัดความเคร่งเครียดที่มาพร้อมกับความเร่งรีบก็คือการออกกำลังกายในแบบที่แช่มช้า เช่น โยคะ ไทเก๊ก ชี่กง และการออกกำลังกายตามแบบเต๋า ซึ่งนอกจากจะทำให้กล้ามเนื้อที่ตึงจากความเครียดผ่อนคลายลงแล้ว ยังช่วยให้เรามีสติจดจ่ออยู่กับลมหายใจและการเคลื่อนไหวของร่างกายมากขึ้น ส่งผลให้สติและสมาธิที่กระเจิงไปเพราะความรีบเร่งกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวอีกครั้ง ซึ่งท้ายที่สุดสติและสมาธิที่เกิดขึ้นนี้เอง จะเป็นตัวการสำคัญในการดึงจังหวะชีวิตของเราให้ช้าลงโดยอัตโนมัติ

เมื่อคุณวิ่งอย่างรวดเร็วเพื่อจะไปสู่จุดหมาย

ความสนุกย่อมหล่นหายไประหว่างทาง

เมื่อคุณพะวงและรีบร้อนให้แต่ละวันผ่านพ้น

ก็เท่ากับคุณได้โยนของขวัญที่ยังไม่ได้เปิดทิ้งไป

ชีวิตไม่ใช่การแข่งขัน จงปล่อยให้มันดำเนินไปอย่างช้าๆ

หยุดฟังเสียงดนตรีอันมีค่า ก่อนหมดเวลาของเสียงเพลง


Slow Life City วิถีชีวิตใหม่ของชาวญี่ปุ่น

เป็นที่น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อยที่อยู่พลเมืองญี่ปุ่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นประชากรของประเทศที่มีวิถีชีวิตเร่งรีบและบ้างานถึงขั้นเป็นโรค workaholic ได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลหาทางออกให้พวกเขากลับไปใช้ชีวิตที่เรียบง่ายในแบบ slow life

รัฐบาลจึงตอบรับด้วยการประกาศให้เมืองเล็กๆ บางเมืองนำวิถีชีวิตแบบแช่มช้ามาเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญ

เมืองคะเกะกะวะ จังหวัดซิซุโอะกะ คือเมืองหนึ่งที่ได้ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าเป็น slow life city และได้ออกบัญญัติการใช้ชีวิตแบบ slow life สำหรับประชาชนไว้ 8 ประการ ได้แก่

  1. slow pace สร้างจังหวะให้ชีวิตช้าลง ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชน หันมาเดิน แทนการใช้รถยนต์ ซึ่งนอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดจากการจราจรด้วย
  2. slow wear รณรงค์ให้ประชาชน สวมใส่ผ้าพื้นเมือง ที่ทำจากวัสดุในท้องถิ่น จะได้ไม่ต้องเสียค่าขนส่งและยังช่วยกระจายรายได้สู่ชุนชน อีกทั้งยังเป็นการรักษาเอกลักษณ์ของประเทศเอาไว้ด้วย
  3. slow food รับประทานอาหารญี่ปุ่นที่ ปรุงด้วยวัตถุดิบตามฤดูกาล และปฏิเสธอาหารจานด่วนที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ
  4. slow house อยู่บ้านแบบญี่ปุ่นโบราณที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและไม่ก่อให้เกิดมลพิษ
  5. slow industry รณรงค์ให้ประชาชนดูแลเรื่องทรัพยากรธรรมชาติการทำฟาร์มหรืออุตสาหกรรม จะต้องไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมของเมือง
  6. slow education ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ทางศิลปะวิถีแห่งชีวิต วัฒนธรรมญี่ปุ่น และเน้นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมมากกว่าความเป็นเลิศทางการศึกษา
  7. slow aging มุ่งไปสู่การมีชีวิตที่ยืนยาวด้วยวิถีธรรมชาติ
  8. slow life ดำเนินชีวิตอย่างแช่มช้าตามวิธีที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด เพื่อวิถีชีวิตที่ดีขึ้นของสังคมโดยรวม