ก้าวข้ามกระบวนทัศน์แบบแยกส่วนสู่องค์รวม

Posted on

ก้าวข้ามกระบวนทัศน์แบบแยกส่วนสู่องค์รวม

ที่มา : http://www.gotoknow.org/posts/170877


บันทึกนี้ เป็นเรื่องหนักๆ ที่จดขึ้นมาจากสมุดบันทึกระหว่างสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาอีกทีหนึ่ง สิ่งที่บันทึกไว้ก็ใช่ว่าจะเข้าใจหมดทุกอย่าง แต่ก็จดไว้เพื่อค่อยๆ คิด ค่อยๆ ย่อยต่อไป

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (๘ – ๙ มีค.) ผมไปร่วม workshop เรื่อง The Science of Oneness ที่อาศรมวงศ์สนิท (ภายใต้มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป) ตามคำชักชวนของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่รู้จักกันเมื่อคราวไปเข้าอบรมเรื่องการหลงลืมตัวเองและการอยู่กับปัจจุบันขณะ กับอาจารย์สันติกโร เมื่อปลายปีที่แล้ว คราวนี้ศิษย์เก่าคราวนั้นมากันถึง ๖ คน ถือเป็น ๑ ใน ๓ ของผู้เข้าร่วมคราวนี้ ซึ่งมีทั้งหมด ๑๘ คน

Workshop สองวันเต็มๆ คราวนี้วิทยากรคือ Dr.Malcolm Hollick ชาวอังกฤษ อายุ ๖๓ ปี อดีตอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยทั้งในอังกฤษและออสเตรเลีย ผู้แต่งหนังสือชื่อ The Science of Oneness เล่มเขื่องขนาด 450 หน้า ที่เมื่อผมฟังผู้เขียนบอกว่าทำไมเขาจึงเขียนหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ตัดสินใจซื้อทันที ๒ เล่ม (ฝากพรรคพวกที่เป็นนักปรัชญาและเป็นประธานรายวิชากระบวนทัศน์พัฒนาด้วยเล่มหนึ่ง)

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีคุณประชา หุตานุวัตร (อดีตพระประชา ปสนฺนธมฺโม แห่งสวนโมกข์) ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการและผู้แปลอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยตลอดสองวันกับอีกหนึ่งคืน – ขอบคุณจริงๆ ต่อไปควรหาคนมาผลัดกันแปลบ้างก็ดี เช่น คนหนึ่งแปลไทยเป็นอังกฤษ คนหนึ่งแปลอังกฤษเป็นไทย จะได้ไม่อิดโรยมาก

Dr.Malcolm มากับภรรยาชื่อ Christine ที่เป็น EFT healer ที่อยู่อาศรมต่ออีกเพื่อถ่ายทอดเทคนิค EFT เบื้องต้นให้กับผู้ที่สนใจ ผมได้คุยกับคุณ Christine เรื่องนี้นิดหน่อยก่อนอาหารเช้าวันอาทิตย์ เธอสอนเทคนิคการเผชิญกับความกลัวให้ผมด้วย Christine เองเคยกลัวงูมากขนาดพอเห็นแล้วทำอะไรไม่ถูก คุมสติไม่ได้เลย ปัจจุบันนี้นิ่งมาก และไม่กลัวเลย EFT ย่อมาจาก Emotional Freedom Techniques เป็นเทคนิคการบำบัดความเจ็บปวดและโรคภัยไข้เจ็บนานาชนิดโดยไม่ใช้ยา แต่ใช้วิธีการให้แต่ละคนกระตุ้นพลังที่ทุกคนมีอยู่แล้วในตัวขึ้นมารักษาตนเอง เช่น มีคนหนึ่งเป็นอัมพฤต (paresis) นั่งบนรถเข็นมาหลายปี รักษาตัวเองด้วยวิธีนี้จนหายกลับมาเดินได้อย่างคนปกติ ตัว Christine เองก็รักษาตัวเองสำเร็จมาแล้ว

ประชา หุตานุวัตร (ซ้ายสุด) Dr.Malcolm Hollick (นั่ง) และ Christine (ขวาสุด)

กลับมาเรื่อง workshop ซึ่ง Dr.Malcolm บอกในตอนต้นว่าจะแบ่งออกเป็น ๗ ภาค ดังนี้

  1. Introduction to the Science of Oneness
  2. Perception – Reality
  3. Way of knowing: Scientific – Spiritual
  4. Part – Whole: Classical versus System Science
  5. Conciousness – Mind – Matter
  6. Determinism – Freedom – Purpose
  7. Ignorance – Wisdom

กระบวนการสัมมนาเป็นแบบบรรยาย การถาม-ตอบ สลับกับกิจกรรม และการแสดงความรู้สึก-ความคิดเห็นของผู้เข้าร่วม

ภาคแรก Introduction Dr.Malcolm พาพวกเรา check-in ด้วยการแนะนำชื่อและความคาดหวังต่อ workshop นี้ (บอกความคาดหวังด้วยประโยคเพียงประโยคเดียว – แต่ไม่ง่ายสำหรับคนที่ conceptualise ความคิดตัวเองไม่ได้) จากนั้นให้หันไปจับคู่กับคนข้างๆ บอกเขาว่าเราคิดอย่างไรกับวิทยาศาสตร์ อีกคนหนึ่งก็บอกว่าเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับองค์รวม แล้วก็สลับกันบอกด้วยคำถามเดียวกัน (คนหนึ่งไม่เกิน ๒ นาที) จากนั้น Dr.Malcolm ก็บอกวัตถุประสงค์ของเขาที่ทำ workshop นี้ว่า ต้องการตั้งคำถามเกี่ยวกับความรู้ วิทยาศาสตร์ จิตวิญญาณ และโลกทัศน์ เพื่อกระตุ้นให้เราได้พูดคุยกันให้ลึกลงไปในประเด็นเหล่านี้ รวมทั้งความสำคัญของการที่เราต้องเข้าใจเรื่องนี้ เขาใช้คำว่า To encourage and facilitate wise action เขาเล่าให้ฟังถึงสาเหตุที่เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นว่า เพราะต้องการหาคำตอบของปัญหาของมนุษยชาติ โดยความเชื่อที่ว่าโลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์เดิมๆ ไม่สามารถตอบคำถามได้อีก (เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย – อันนี้ผมคิดเพิ่มเข้าไปเองขณะนั่งฟัง) โลกทัศน์ใหม่แบบไหนที่จะช่วยให้เราก้าวพ้นปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆ ไม่ว่าปัญหาสังคม อาชญากรรม สงคราม โลกร้อน ฯลฯ

จากนั้นก็แนะนำแนวคิดสำคัญซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญอันหนึ่งของเรื่อง Oneness (ตามความเข้าใจของผม) นั่นคือ ตรรกะแบบตะวันตกและตะวันออก ในขณะที่ตรรกะหรือระบบเหตุผลแบบตะวันตกเป็นแบบ Either – Or คือถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องเป็นอย่างนี้ อันเป็นรากฐานของการแสวงหาความรู้ที่ครอบงำโลกตะวันตกส่วนใหญ่ (รวมทั้งการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ที่เป็นแบบเชิงปริมาณ ที่อาศัยการวัดการนับการสุ่มตัวอย่างทั้งหลาย อันเป็นอิทธิพลจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์บนตรรกะ Either – Or นี้ ในวงเล็บนี้ผมเพิ่มเข้าไปเอง เป็นความคิดที่เกิดขึ้นขณะนั่งฟัง) ส่วนตรรกะของตะวันออก เช่น เต๋า (ดูที่สัญลักษณ์ก็ได้) เป็นตรรกะแบบ Both – And คือเป็นทั้งสองอย่างได้ในขณะเดียวกัน (และทั้งสองคือทั้งขาวและดำนั้นก็ดำรงอยู่ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว)

เรื่องของ Either – Or กับ Both – And นี้ ติดอยู่ในหัวผมตลอดสองวันของการสัมมนา กลับมาถึงบ้านแล้วก็ยังคิดต่อ คำถามสำคัญสำหรับตัวเองก็คือ เราผ่านระบบการศึกษาที่แยกความรู้ออกเป็นวิชาๆ แต่ละวิชาก็ใช้ตรรกะ Either – Or เพิ่งจะมาระยะหลังๆ ที่เราเริ่มสัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่า “องค์รวม” (Both – And) แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องเข้าใจได้ง่ายๆ หลายคนพูดเรื่ององค์รวมๆๆ แต่ไม่มีใครอธิบายให้ผมเข้าใจได้ว่ามันคืออะไร บางคนก็พออธิบายให้ได้ว่าการแยกส่วนคืออะไรและอย่างไร แต่ไม่สามารถอธิบายว่าองค์รวมคืออะไรและอย่างไรได้ชัดเจน ที่สำคัญคือ ผมจะดำเนินชีวิตบนวิถีแบบองค์รวมนี้ได้อย่างไร ในตอนแนะนำตัวผมจึงบอกว่า ผมมาเพราะอยากรู้ว่าจริงๆ แล้ว องค์รวมคืออะไรและวิธีการแบบองค์รวมเป็นอย่างไร ตอนที่เปิดให้ถาม-ตอบ หลังจาก Dr.Malcolm แนะนำแนวคิดนี้แล้ว คำถามที่ผมถาม เขาข้อหนึ่งคือ คุณกำลังอธิบายสิ่งที่พวกเราชาวตะวันออกมีอยู่ในกระเป๋าแต่เราลืมมันไปใช่หรือไม่

ภาค 2 “ความเป็นจริง” ที่แต่ละคนเห็นนั้นขึ้นกับความเชื่อ สมมุติฐาน(assumptions) ตัวแบบ(models) การรับรู้(perceptions) และกรอบคิดทฤษฎีที่แต่ละคนมีอยู่ นั่นคือ There are no facts. Only interpretations of information. ตัวอย่างเช่น แม่น้ำที่เลี้ยวลดคดเคี้ยวไปมาเราจะวัดระยะทางจริงๆ ได้อย่างไร ระยะทางที่เราบอกได้ก็คือโดยประมาณเท่านั้น

ตอลสตอยบอกว่า วิทยาศาสตร์ตอบคำถามเกี่ยวกับความหมายและเป้าหมายของชีวิตไม่ได้ (Science is meaningless because it gives no answer to our questions.)

เราต้องไม่ลืมว่านักวิทยาศาสตร์ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เติบโตมาในวัฒนธรรมของมนุษย์เหมือนกัน วิทยาศาสตร์ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถเปิดเผยสัจจะ(Truth)ของความจริง(reality)ได้ ด้วยเหตุดังนั้น วิธีการแสวงหาความรู้ของมนุษยชาติวิธีอื่นๆ ที่ไม่ใช่แบบที่วิทยาศาสตร์ใช้อยู่ก็มีคุณค่าเช่นกัน (รวมทั้งไสยศาสตร์ เทววิทยา และศาสตร์ทางจิตอื่นๆ ที่วิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับ – ในวงเล็บนี้ผมเพิ่มเข้ามาเอง)

กิจกรรมสำหรับภาคนี้ Dr.Malcolm ให้ผู้เข้าร่วมแบ่งกลุ่มละ ๔ – ๕ คน ออกไปสังเกตต้นไม้ภายในบริเวณอาศรมกลุ่มละต้น แล้วให้แต่ละคนบอกความคิดหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาต้นไม้นั้นเป็นประโยคสั้นคนละประโยค ซึ่งเมื่อแต่ละคนบอกออกมาแล้วปรากฏว่าไม่เหมือนกันเลย เราแต่ละคนมีมุมมองของตัวเองที่ต่างจากคนอื่น หากทุกคนยืนยันว่าที่ตนเห็นนั้นคือความจริง ก็แสดงว่าความจริงของสิ่งเดียวเป็นได้หลายอย่าง หรือว่าเราแต่ละคนเห็นเพียงบางเสี้ยวบางส่วนของความจริง หรือเปล่า หรือว่าความจริงคือการรวมกันของแต่ละส่วนของความจริงที่แต่ละคนไปเห็นมา อะไรกันแน่คือความจริงของต้นไม้ต้นนั้น (What is the reality of the tree)

คำถามสำคัญต่อมาอีกก็คือ Can we ever move beyond the limitations of human perception เพราะการรับรู้ของมนุษยชาติมีจำกัด ไม่มีทฤษฎีไหนเป็น “สัจจะ” ได้อย่างสมบูรณ์สิ้นเชิง เราสามารถพิสูจน์ได้ว่าทฤษฎีวิทยาศาสตร์คืออะไร แต่พิสูจน์ว่าทฤษฎีนั้นจริงอย่างสมบูรณ์ไม่ได้ ตัวอย่างเช่น การคำนวณการส่งยานอวกาศออกนอกระบบสุริยะ การคำนวณโดยใช้ความรู้เรื่องแรงโน้มถ่วงเท่าที่เรามีอยู่ไม่พอ เพราะพอออกนอกระบบสุริยะไปแล้ว ทฤษฎีที่เรามีอยู่ไม่พออธิบาย Dr.Malcolm บอกว่า “ผมไม่ได้บอกว่าวิทยาศาสตร์ไร้สาระ แต่พยายามบอกว่าวิทยาศาสตร์ที่เป็นอยู่มีข้อจำกัดตรงไหน”

ภาค 3 Ways of Knowing: Scientific – Spiritual วิธี “การรู้” ของคนเรานั้นมีหลายวิธี เช่น การทดลองทางวิทยาศาสตร์ จากผู้รู้(authority เพราะเราศึกษาทดลองทุกอย่างเองไม่ได้) จากประสบการณ์ จากความสัมพันธ์ (วิธีนี้เข้าใจยากสักนิด คือ เราจะรู้อะไรได้ก็ด้วยการเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งนั้น คำถามก็คือจะสัมพันธ์แบบไหน แบบ “ข้า” กับ “มัน” หรือแบบ “ฉัน” กับ “เธอ” ถ้าเป็นแบบแรกก็แยกส่วน แยกผู้ศึกษากับสิ่งที่ศึกษา แบบหลังเป็นองค์รวมเพราะต้องการความสัมพันธ์ที่ดีในการเรียนรู้) จากญาณทัศนะ (intuition) และจากแรงบันดาลใจ (inspiration)

กิจกรรมของภาค 3 เรียกว่า The Wholeness of a Flower ให้แต่ละกลุ่มออกไปดูดอกไม้ดอกเดียวกัน แล้วกลับมานำความคิดทุกคนมาบูรณาการเป็นประโยคที่บอก holistic view ของดอกไม้ดอกนั้นร่วมกัน เขียนลงในกระดาษ Flipchart แล้วนำเสนอต่อที่ประชุมสัมมนา

ภาค 3 นี้เป็นพื้นฐานไปสู่ความเข้าใจภาค 4 คือเรื่องของ Part กับ Whole

กิจกรรมของภาค 4 คือการประกอบไม้จิ้มฟันด้วยดินน้ำมันตามจินตนาการของแต่ละคน ทุกคนได้รับแจกดินน้ำขนาดเท่าหัวแม่มือคนละก้อนพร้อมไม้จิ้มฟันคนละ ๕ อัน เมื่อประกอบเสร็จแล้วก็นำมาวางไว้กลางวงสัมมนา แนวคิดสำคัญของภาคนี้ก็คือเรื่องของทัศนะแบบวิทยาแบบดั้งเดิม (classical science) ที่มีบทบาทครอบงำหรือเป็นกระแสหลักของโลกอยู่ทุกวันนี้ กับวิทยาศาสตร์เชิงระบบ (system science) ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดหลักของวิทยาศาสตร์กระแสหลัก คือ Atomism, Mechanism และ Determinism ซึ่งทั้ง ๓ ซึ่มนี้ ตอนฟัง Dr.Malcalm ก็ดูเหมือนจะเข้าใจดี แต่พอกลับถึงบ้านกลับรู้สึกว่ายังไม่เข้าใจดีนัก (ดีที่ซื้อหนังสือ The Science of Oneness มาด้วย แต่ยังไม่ได้อ่านจริงจัง แค่พลิกไปจุดนั้นจุดนี้)

วิทยาศาสตร์เชิงกระบวนระบบหรือที่เรียกกันว่าวิทยาศาสตร์ใหม่นั้นเป็นวิทยาศาสตร์แบบองค์รวม โดยมีแนวคิดสำคัญๆ เกียวกับ Feedback ซึ่งมีทั้ง negative feedback ที่รักษาสมดุลย์ และ positive feedback ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ไม่ยากหากเข้าใจว่าตู้เย็นทำงานอย่างไร เมื่อความเย็นลดลงถึงระดับหนึ่ง ตัวตรวจจับก็สั่งให้หยุดการเพิ่มความเย็น เพื่อรักษาระดับความเย็นไม่ให้ลดต่ำลงอีก นี่คือตัวอย่างของ negative feedback ของตู้เย็น ซึ่งในร่างกายของเราก็มีระบบนี้อยู่เพื่อรักษาความสมดุลย์ของระบบต่างๆ ในตัวเรา เพราะถ้ามีแต่ positive feedback แล้วก็จะทำให้เกิดการเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด จนระบบพัง

แนวคิดอื่นๆ ของวิทยาศาสตร์เชิงกระบวนระบบยังประกอบด้วยแนวคิดเกี่ยวกับ Self-organisation ของสรรพชีวิต แนวคิดเกี่ยวกับ Sensitivity แนวคิดเกี่ยวกับ Unpredictability และแนวคิดเกี่ยวกับ Creativity

วิทยาศาสตร์เชิงกระบวนระบบเชื่อว่าในทุก organism มี autonomous, self-maintaining, reproducing, adaptive และ evolving ร่างกายของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีความเป็น autonomous ที่ประกอบด้วยระบบย่อยๆ มากมายและขึ้นต่อสภาพแวดล้อม มีคำศํพท์สำหรับวิทยาศาสตร์ใหม่ 2 คำ ที่ Dr.Malcolm บรรยายให้ฟัง คือ คำว่า Holons กับ Holarchies ซึ่ง concept ของสองคำนี้ผมไม่แน่ใจว่าตัวเองเข้าใจดีนัก เพียงแต่ฟังได้ความว่าเป็นเรื่องของทั้งหมด ของแต่ละส่วน และอยู่ร่วมพึ่งพากันอย่างเป็นระบบ โดย Holons ก็คือองค์รวมที่ประกอบด้วยส่วนย่อย ขณะเดียวกัน Holons ต่างๆ ก็ไปเป็นส่วนของระบบในระดับที่ใหญ่ขึ้นไปอีก เรียกว่า Holarchies โดยที่แต่ละส่วนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระบบใดระบบหนึ่ง(เสมอ) เป็นชั้นๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นคือระบบย่อยเป็นส่วนหนึ่งของระบบใหญ่ขึ้นไปอีกทีหนึง โดยทั้งระบบใหญ่และระบบย่อยต่างขึ้นต่อกันและกัน มีอิทธิพลต่อกันและกัน ระบบย่อย (บางที Dr.Malcolm ก็ใช้คำว่าระดับต่ำกับระดับสูง lower level and higher level) ช่วยให้ระบบที่ใหญ่ขึ้นไป(หรือระดับที่สูงขึ้นไป) สามารถดำรง (exist) อยู่ได้ ขณะเดียวกันระบบใหญ่ก็เอื้อ(take care)ต่อระบบย่อยที่ขึ้นต่อระบบใหญ่นั้นด้วย นั่นคือเอกภาพของสรรพสิ่ง จักรวาลของเราจึงเป็นองค์รวมใหญ่ หรือเป็น holarchy หนึ่งที่ประกอบด้วย holons ต่างๆ มากมาย และก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ใหญ่ขึ้นไปอีก นั่นคือ กาแล็กซี่

ภาค 5 ว่าด้วยเรื่องของ จิตสำนึก(conciousness) จิต(mind) และวัตถุ(matter) ประเด็นอยู่ตรงที่จิต(ซึ่งเป็น non-physical part ของร่างกาย)กับร่างกาย(physical part)ของเรานั้นมีอิทธิพลต่อกัน โลกตะวันตกเชื่อว่าระบบประสาทที่ส่งไปยังสมองของเรานั้นคือ แหล่งที่ตั้งและที่มาของจิต (รวมทั้งจิตสำนึกด้วย) นั่นคือ สมองเป็นอวัยวะที่ทำให้เรามีความคิด การรับรู้ ความจำ อารมณ์ การตัดสินใจ จิตสำนึกและจิตใต้สำนึก ทำให้องคาพยพของเราสามารถตอบสนองและปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม

Dr.Malcolm ยกคำพูดเชิงปรัชญาของตะวันตกและตะวันออกสองอันที่มองเรื่องของจิตกับกาย(วัตถุ)ต่างกัน อันหนึ่งของเดคาร์ตส์ นักปรัชญาที่มีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อแบบวิทยาศาสตร์แบบดั้งเดิมมากที่สุดคนหนึ่ง คือ I think, therefore I am มาเปรียบเทียบกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า We are what we think. All that we are arises with our thoughts. With our thoughts we make the world. คุณประชา หุตานุวัตร ช่วยแปลให้ว่า “เราเป็นในสิ่งที่เราคิด ทั้งหมดที่เราเป็นเกิดขึ้นจากความคิดของเรา เราได้สร้างโลกด้วยความคิดของเรา” (น่าจะมีการแปลเทียบกับบาลีดู)

ผมสรุปเอาตามความเข้าใจของตัวเองว่า ในทางพุทธศาสนา(ปรัชญาตะวันออก)เชื่อว่า เราสร้างโลกขึ้นด้วยความคิดของเรา(ผ่านอายตนะทั้งหก วานผู้รู้ช่วยอธิบาย) หมายความว่า เราเห็นโลกตามความคิดความเข้าใจของเราเอง แต่ละคนจึงเห็นไม่เหมือนกัน ขึ้นกับความเชื่อ ประสบการณ์ ตัวแบบ แนวคิด ค่านิยม ฯลฯ (พระอริยบุคคลจะเห็นโลกได้ตามความเป็นจริง) ในขณะที่ปรัชญาตะวันตกแบบเดคาร์ตส์นั้นเป็นที่มาของการแยกจิตกับกาย (dualism) วิทยาศาสตร์แบบดั้งเดิมที่เป็นกระแสหลักอยู่ในทุกวันนี้เชื่อว่า จิตไปกำหนดวัตถุไม่ได้ แต่วิทยาศาสตร์ใหม่ โดยเฉพาะการศึกษาด้านควันตัมฟิสิกส์ กลับเป็นตรงกันข้าม นั่นคือในควันตัมฟิสิกส์ ผู้สังเกตมีอิทธิพลต่อข้อสรุปของสิ่งที่เขาสังเกต นั่นคือหากเขามีสมมติฐานว่ามันคืออนุภาค ก็จะได้รับคำตอบว่ามันเป็นอนุภาค แต่หากมีสมมุติฐานว่ามันคือคลื่นก็จะได้คำตอบว่ามันคือคลื่น (สรุปคือในควันตัมฟิสิกส์มันเป็น Both – And)

Dr.Malcolm เล่าให้ฟังในการสนทนากันอย่างไม่เป็นทางการในคืนวันเสาร์ว่า David Bohm เป็นนักฟิสิกส์คนหนึ่งที่นำเสนอเรื่องควันตัมฟิสิกส์ (ซึ่งผมได้เพิ่มเติมข้อมูลให้วงสนทนาจากที่ผมเคยศึกษาเรื่องโบห์มมาว่า เขาเป็นคนแรกที่แต่งตำราควันตัมฟิสิกส์ และเป็นผู้อธิบายทฤษฎีควันตัมให้ไอน์สไตน์หลังจากเรียนจบ ป.เอก จากเบิร์กเลย์ แล้วไปทำงานกับไอน์สไตน์อยู่ที่มหาวิทยาลัยปรินสตัน) Dr.Malcolm บอกว่าในรอบ ๔๐ ปีมานี้ โบห์มเป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งต่อแนวคิดวิทยาศาสตร์ใหม่ – แบบองค์รวม Dr.Malcolm เองก็อ้างงานเขียนเรื่อง Wholeness and Implicate Order ของโบห์มในหนังสือ The Science of Oneness ด้วย

บรรยากาศการสนทนาแบบสบายๆ ยามค่ำคืน จากซ้าย Christine, Malcolm, ประชา

มีตัวอย่างหลายอันที่ Dr.Malcolm เล่าให้ฟัง เช่น ผู้หญิงที่ไม่ได้ท้องแต่ผลการตรวจ lab ออกมาผิดพลาดว่าท้อง กลับไปบ้านมีอาการอย่างคนท้องทุกอย่าง พอต่อมาทราบว่าจริงๆ แล้วไม่ได้ท้อง อาการต่างๆ ก็หายไป อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นผู้ป่วยทางจิตที่มีสองบุคลิกภาพ บางเวลาก็เป็นคนหนึ่ง บางเวลาก็เป็นอีกคนหนึ่ง ขณะที่เป็นคนหนึ่งสายตาสั้นต้องสวมแว่น แต่พอเป็นอีกคนหนึ่งสายตากลับเป็นปกติ เวลาเป็นคนหนึ่งเป็นเบาหวาน แต่พอเป็นอีกคนหนึ่งกลับไม่มีเบาหวาน ปัจจุบันมีการศึกษาเรื่องเหนือสามัญ (paranormal) กันมากขึ้น จากที่แต่ก่อนนักวิทยาศาสตร์ไม่สนใจและปฏิเสธการศึกษาเรื่องแบบนี้

มีเรื่องหนึ่งที่สะดุดใจผมมากในภาค 5 คือ เรื่องของจิตสำนึก เพราะ Christine ภรรยา Dr.Malcolm บอกว่า เธอเชื่อว่าก้อนหินก็มีจิตสำนึก คำถามก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต (ตามคำจำกัดความของวิทยาศาสตร์ที่ยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน เช่น หากจะบอกว่าสิ่งมีชีวิตคือสิ่งที่ reproduce ตัวเองได้ สิ่งที่เรามองว่าเป็นวัตถุบางอย่างก็ reproduce ตัวเองได้) เช่น ก้อนหินมีอะตอมเป็นองค์ประกอบ ในอะตอมแต่ละอะตอมมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เธอจึงเป็นคนหนึ่งที่ดูเหมือนจะมีความเป็นหนึ่งเดียวกับทุกสรรพสิ่งอย่างแท้จริง (คุยกับก้อนหินได้)

ผู้ร่วมสัมมนาคนหนึ่งบอกว่าตอนที่ทำกิจกรรมให้ออกไปดูต้นไม้นั้น เขาเกิดความรู้สึกว่าเขาได้สัมผัสกับชีวิตอีกชีวิตหนึ่งได้ ทำนองว่าสื่อความรู้สึกถึงกันได้ อันนี้ผมพอเข้าใจได้ แต่เรื่องก้อนหินนี้ผมยังต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจ

อย่างไรก็ตาม หากมองจากมุมที่ว่าโลกทั้งใบเป็นองคาพยพหนึ่ง ที่เป็น holarchy ที่ประกอบด้วย holons (whole และ part) จำนวนมาก ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต โลกจึงมีจิตสำนึกด้วย และโลกเองก็เป็น level หนึ่งของจักรวาล ที่เป็นอีก holarchy หนึ่ง และจักรวาลก็มีจิตสำนึกของจักรวาลด้วย และยังมีในระดับที่สูงขึ้นไปอีกเมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ใหญ่กว่าขึ้นไปอีก นั่นคือ กาแล็กซี่ทางช้างเผือก และต่อไปเรื่อยๆ (ที่ระดับสติปัญญาของมนุษย์ยังไม่อาจเข้าใจได้ – หรือไม่สามารถเข้าถึงเลยก็ได้ เป็นเรื่องของ “the Source” ผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงรู้ ผู้ทรงปัญญา ผู้ทรงเมตตา กระมัง)

Dr.Malcolm เล่าเรื่อง GAIA (ออกเสียง กาย่า) ซึ่งเป็นชื่อพระแม่ธรณีของกรีกโบราณ โดย Jame Lovelock นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งบอกว่า โลกมีชีวิต สิ่งมีชีวิตเป็นตัวสร้างสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศให้โลกดำเนินอยู่ได้ แม้จะมีสิ่งกระทบมากมายจากภายนอก ด้วยพลังชีวิตที่มีอยู่ในโลก โลกจึงทำงานเหมือนสิ่งมีชีวิต สมมุติฐานนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากก็ยังไม่เชื่อเรื่องพระแม่ธรณีตามแนวคิดนี้ (ที่ว่าโลกมีชีวิตของตัวเอง)

ภาค 6 Determinism, Freedom และ Purpose ผมจดมาคร่าวๆ ในภาคนี้ Determinism เป็นแนวคิดของโลกตะวันตกที่เปลี่ยนจาก “พระเจ้ากำหนด” มาเป็น “กฏธรรมชาติกำหนด” นั่นคือมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นผลจาก the law of cause and effect แม้แต่เรื่องของการผ่าเหล่าที่เป็นตัวขับเคลื่อนวิวัฒนาการก็เป็นผลจากกฏนี้ ยิ่งกว่านั้น แม้แต่ความคิดใดๆ ของเราก็เกิดจากการทำงานของสมอง ด้วยแนวคิดนี้ เจตจำนงค์อิสระ (Free will) จึงเป็นเพียงมายา การมีชีวิตอยู่(existence)จึงไม่มีความหมายและจุดมุ่งหมาย (หมายความว่าเราเป็นผู้ลิขิตชีวิตเราเอง) แนวคิด Determism จึงปฏิเสธความต้องการในชีวิตส่วนลึกของมนุษย์ในด้านความหมายของชีวิตและเป้าหมายของชีวิต เราจึงต้องสร้างความหมายและเป้าหมายชีวิตของเราเอง (อย่างนั้นหรือ)

แล้วเป้าหมายของชีวิตคืออะไร (เพื่อประสบความสำเร็จในอาชีพ, เพื่อร่ำรวย, เพื่อมีอำนาจ, เพื่อเป็นเลิศทางปัญญาความรู้, เพื่อเป็นพ่อเป็นแม่ที่ดี, เพื่ออุทิศตัวรับใช้สังคม, เพื่อทำดี ตายแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์, เพื่อชาติหน้าจะได้สบาย, เพื่อบรรลุนิพานไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก, หรือ…)

กิจกรรมของภาคนี้เป็นเรื่องให้แต่ละคนตอบคำถามตัวเองและแบ่งปันกับคนอื่นในกลุ่มว่า Purpose of life ของตนคืออะไร)

สำหรับ Dr.Malcolm เขาเลือกที่จะเชื่อในความจริงทางจิตวิญญาณ (spiritual reality) เพราะความเชื่อนี้ทำให้เขาเข้าถึงความหมายและเป้าหมายของชีวิตอย่างลึกซึ้ง มันทำให้เขาเป็นหนึ่งเดียวกับคุณค่าต่างๆ ในจักรวาล เช่น ความรัก ความเมตตา สัจจะ ความกลมเกลียว และปัญญา

เขาเลือกที่จะเชื่อใน spiritual reality ในขณะที่เขากำลังแสวงหาวิธีบูรณาการความเชื่อนี้กับวิทยาศาสตร์ โดยยอมรับว่า “ฉันอาจจะผิด” ด้วยเหตุนี้เขาจึงเปิดใจเผื่อไว้เสมอกับความเชื่อที่เป็นทางเลือกอื่นๆ เสมอเท่าที่จะทำได้

คำถามที่ยังรอคำตอบอยู่ก็คือ จิตวิญญาณกับวิทยาศาสตร์จะประณีประนอมกันได้หรือเปล่า ซึ่งก็มีหลายเรื่องที่กำลังพยายามเสนอตัวเข้ามาตอบคำถามนี้ เช่นเรื่องของ Quantum Entanglement (อนุภาคกระทบกันแล้วกระเด็นออกไปคนละทาง เมื่อตัวที่อยู่ทางหนึ่งเปลี่ยนอีกตัวก็เปลี่ยน) เรื่องของ Mind – Matter Interactions (ปฏิสัมพันธ์ระหว่างจิตกับวัตถุ เช่น ที่ผู้สังเกตมีอิทธิพลต่อสิ่งที่สังเกต เห็นว่าเป็นคลื่นก็เป็นคลื่น เห็นว่าเป็นอนุภาคก็เป็นอนุภาค) เรื่องของ Many Universes Theory (ทฤษฎีจักรวาลหลากหลาย) เรื่องของ Self-organization and Creativity เรื่อง Paranormal Phenomena และเรื่อง Niche Construction

ส่วนภาค 7 Ignorance – Wisdom ภาคนี้ไม่ได้พูดกันมากเพราะใกล้จะหมดเวลา Dr.Malcolm สรุปด้วยด้วยการ synthesis คือ สังเคราะห์รวมทั้งหมด โดยวิธีการให้ผู้เข้าร่วมนั่งสมาธิฟังบทอ่าน Inward and Outward Journey ที่ Dr.Malcolm พาพวกเราท่องเข้าไปภายในตัวเราผ่านกล้องจุลทัศน์ในจินตนาการ แล้วก็พาออกท่องโลกและจักรวาลไปจนถึงกาแลกซี่ทางช้างเผือก เป็นเวลากว่าชั่วโมง (ผมเองตรง synthesis นี้ไปได้ไม่สุดเนื่องจากยังไม่สามารถนั่งขัดสมาธินิ่งๆ ได้เกินชั่วโมง เลยต้องถอยออกจากสมาธิมายืดเส้นยืดสายก่อนจบเล็กน้อย)

เมื่อออกจากสมาธิแล้ว Dr.Malcolm ขอให้ผู้เข้าร่วมพูดถึงความรู้สึกหรือความในใจจากกิจกรรมใน workshop นี้ พระภิกษุรูปหนึ่งที่เป็นพระเพียงรูปเดียวที่เข้าร่วมในครั้งนี้ บอกว่า รู้สึกถึง “สุญญตา” ในขณะเข้าสมาธิ เขียนถึงตรงนี้เลยนึกขึ้นมาได้ว่า ท่านได้ช่วยคุณประชาแปลคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ Dr.Malcolm อ้างจากฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วฟังดูแปลกๆ เป็นประโยคที่ปรากฏในบทหนึ่งของธรรมบทว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นประธาน…” อ้อ…ท่านเป็นพระมหาเปรียญด้วย ท่านอยู่กลุ่มย่อยเดียวกับผม ในการแลกเปลี่ยนเรื่องเป้าหมายชีวิต ท่านบอกสั้นๆ ว่า “พ้นทุกข์” ส่วนผมนั้นบอกว่ามี ๒ เป้าหมายคือ มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง และก็ต้องการอุทิศตัวเพื่อคนอื่นด้วย

มีคนหนึ่งเป็นอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์โรงเรียนมัธยม อยากให้มี workshop แบบนี้บ่อยๆ และให้กว้างขวางด้วย ส่วนอาจาย์สอนฟิสิกส์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งก็บอกว่าได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมครั้งนี้มาก จะไปคิดต่อว่าจะประยุกต์อย่างไร ดูเหมือนว่าทุกคนได้อรรถประโยชน์กันพอสมควร

สุดท้ายเป็นรายการ check-out โดยประชา หุตานุวัตร ขอให้พวกเรายืนล้อมเป็นวงจับมือกัน แล้วพูดอะไรก็ได้คนละประโยคสองประโยค ส่วนใหญ่ก็จะพูดขอบคุณ Dr.Malcolm และ Christine มีคนหนึ่งบอกว่าแปลกใจที่พบว่ามีคนมากมายที่มีแนวคิดและอุดมการณ์แบบเดียวกัน ส่วนผมก็ขอบคุณและขอให้ Dr.Malcolm มาจัด workshop แบบนี้อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อเป็นการ update พวกเราในสิ่งที่ท่านเรียนรู้ ซึ่งหลังจากนั้นสองสามวันผมก็ได้รับอีเมล์(ซึ่งท่านส่งถึงผู้เข้าร่วมทุกคน)ว่า ท่านสนใจที่จะมาปีละครั้ง

สำหรับผม เมื่อกลับมาบ้านแล้ว คำถามที่ยังวนเวียนอยู่ในหัวผมจนถึงวันนี้ ที่ก่อนนอนก็ผุดขึ้นมา ตื่นเช้าก็ผุดขึ้นมา ก็คือเราจะก้าวข้ามวิธีคิดวิธีปฏิบัติแบบแยกส่วน (Either…or…) ไปสู่วิธีคิดวิธีปฏิบัติแบบองค์รวม (both…and) อย่างไร

เพราะผมเป็นอีกคนหนึ่งที่ขณะนี้เริ่มเชื่อว่า วิกฤตการณ์ของมนุษย์ชาติและของโลกจะแก้ได้ด้วยวิธีการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึก transformation of our conciousness เท่านั้น ไม่มีวิธีอื่น!!!

ภาษิตจีนโบราณบทหนึ่งบอกว่า เด็ดดอกไม้ดอกหนึ่งยังสะเทือนถึงดวงดาวได้ ดังนั้น คนหนึ่งเปลี่ยนก็สะเทือนโลกทะลุไปถึงจักรวาลได้!!!

ตัวอย่างเช่น หากผมเปลี่ยนจิตสำนึกตัวเอง (transformation of conciousness) จากกระบวนทัศน์แบบแยกส่วนไปสู่องค์รวมได้ ทั้งในชีวิตส่วนตัว และบูรณาการลงในทุกรายวิชาที่สอน ก็อาจจะมีผลกระทบต่อนักศึกษา 8,000 คนในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตที่ผมตะเวณสอนอยู่ใน 29 จังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ผมยังมีครอบครัว มีญาติพี่น้อง มีที่ทำงาน มีวงสัมพันธ์อื่นๆ ในสังคมอีกหลายวง

คนหนึ่งสัมพันธ์กับคนนับสิบ นับร้อย นับพัน หรือบางคนก็นับหมื่น และคนนับร้อย นับพัน นับหมื่นนั้นก็สัมพันธ์กับคนต่อไปเรื่อยๆ อีกนับแสน นับล้าน …

คนหนึ่งเปลี่ยนจึงกระเทือนถึงดวงดาวได้ โดยประการฉะนี้!

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
เริ่มบันทึก ๑๔ มี.ค.๕๑

ปรับปรุง ๑๘ มี.ค.๕๑ (แก้ไขการสะกดคำ และประโยคภาษิต เด็ดออกไม้ดอกหนึ่งสะเทือนถึงดวงดาว)
ปรังปรุง ๒๑ มี.ค.๕๑ (ใส่ภาพและเพิ่มความเห็นตอนท้ายเรื่องคนหนึ่งสัมพันธ์กับคนจำนวนมาก)