ตอนที่ ๑๘ เพื่อนตัวเล็กๆที่มา : หนังสือ ตราไว้ในดวงจิต บันทึกเรื่องราวอาศรมวงศ์สนิทยุคบุกเบิก เขียนโดย ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล |
อาศรมวงศ์สนิทเปรียบเสมือนอาณาจักรน้อยๆ ที่มีน้ำล้อมถึง ๓ ด้าน มีภูมิประเทศที่แยกออกจากชุมชนใหญ่เด็กๆ จึงชอบข้ามคลองมาเล่นฝั่งนี้ ผู้ใหญ่ก็วางใจว่าถ้าลูกมาอยู่ฝั่งนี้จะไม่เกเรเถลไถลไปที่อื่น เพราะจะข้ามฝั่งกลับไปกลับมาไม่ได้ถ้าไม่มีใครพายเรือไปส่ง อีกอย่างนัยว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ติดใจความใจดีของลุงสมชายกับป้าปอน เราให้ความสำคัญกับเด็กทุกคนที่มาหา ยอมพายเรือไปรับไปส่งครั้งแล้วครั้งเล่า เด็กๆ อยู่ที่นี่จะได้กินอิ่มทุกคน แม้เราไม่ค่อยมีเงิน แต่ก็พยายามซื้ออาหารที่มีประโยชน์ราคาถูก มาเตรียมไว้ให้พวกเขารับประทาน เช่นซื้อถั่วเขียวหรือเผือกมันมาต้ม ผลไม้ก็อาจเป็นมันแกวซึ่งขายถูกมาก ๓ กิโลกรัม ๕ บาท เราซื้อเพียง ๕ หรือ ๑๐บาทก็กินกันได้ทั้งวัน เด็กๆ ที่ยังไม่เข้าโรงเรียนอย่างเจ้าเอี้ยงกับเจ้าปลามักจะมาหาเราตั้งแต่เช้า แม้กินข้าวเช้ามาจากบ้านแล้วก็ยังอยากจะกินข้าวกับเราอีก เรามีไข่เป็ดให้เด็กคนละ ๑ ฟองทุกวัน จากเป็ดที่เราเลี้ยงเอง เด็กที่มาหาเรามีแทบทุกช่วงวัยของเด็ก ตั้งแต่เจ้าหนูปลาอายุ ๑ ขวบกว่า กำลังหัดเดิน เนื่องจากอ้วนพี่ชายอายุ ๑๓ ปีมาอยู่ประจำกับเรา แม่ของหนูปลาทำงานรับจ้างก็เลยเอาหนูปลามาให้อ้วนเลี้ยงตอนกลางวัน ซึ่งก็คือฝากให้ป้าปอนกับลุงสมชายช่วยดูแลด้วยนั่นเอง เด็กบ้านนอกนี่ปรับตัวกันเก่งจริงๆหนูปลาไม่งอแงเลย ถึงเวลากินพี่ๆ ก็ป้อนข้าวป้อนนม อิ่มแล้วก็เล่น หรือคอยเดินตามพี่ๆ ง่วงก็ลงเปลนอนโดยมีเจ้าเอี้ยงพี่ชายอายุ ๔ ขวบที่ติดตามพี่อ้วนมาอยู่ฝั่งนี้ตอนกลางวันด้วยเป็นคนไกวเปล เด็กชายเอี้ยงนี่สุดท้ายก็เลยติดป้าปอนชนิดไปไหนไปด้วยช่วยป้าปอนทำงานทั้งวัน ครั้งหนึ่งป้าปอนไปงานแต่งงานเพื่อนที่จังหวัดอุดรธานีสัปดาห์หนึ่ง พาเอี้ยงไปด้วย เอี้ยงไม่งอแงเลย ดูแลตัวเองได้ทุกอย่างไม่ว่าจะอาบน้ำ แต่งตัว กินอาหาร อาจจะแปลกใจที่ว่าเอี้ยงช่วยป้าปอนทำงานทั้งวัน เด็ก ๔ ขวบจะทำอะไรได้ ขอบอกว่าแกทำได้แทบทุกอย่างที่เป็นงานของเรา พรวนดิน ปลูกต้นไม้รดน้ำต้นไม้ ขนเศษไม้ เลี้ยงไก่ ฯลฯ ทำเท่าที่กำลังน้อยๆ ของแกมี แกทำด้วยความมุมานะพยายามและภาคภูมิใจที่ตัวแกมีคุณค่า และเท่าที่ป้าปอนเจอ เด็กบ้านนอกเป็นอย่างนี้แทบทุกคน เราไม่ค่อยพบเจออาการที่เด็กหวีดร้อง กระทืบเท้า ร้องกวนหรืออาละวาดจะเอาโน่นนี่ สภาพแวดล้อมที่พ่อแม่ต้องหาเช้ากินค่ำคงทำให้แกต้องฝึกดูแลตัวเองมาก เรื่องทำงานนี่ต้องยกให้เอี้ยงจริงๆ แกมีความมานะพยายามที่จะทำทุกอย่างที่เราทำกัน แล้วก็รับผิดชอบมากด้วย ช่วงที่ลูกเป็ดเรายังเล็ก เราเก็บสาหร่ายในคลองให้เป็ดกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาน้ำหลากสาหร่ายไหลมาเป็นแพ เราพายเรือเก็บโดยมีเอี้ยงคอยช่วย หลังจากที่แกรู้งาน แกตาดีกว่าเรามาก มองเห็นสาหร่ายลอยมาแต่ไกลก็มักชี้ให้เราพายเรือไปเก็บ บางทีเรากำลังทำอย่างอื่นง่วนอยู่ ก็บอกว่าช่างมันเถอะปล่อยไปก่อน แต่เอี้ยงใจจดจ่อกับสาหร่ายมาก แม้เพียงเส้นเดียวก็จะให้เราพายเรือไปเก็บ พอเราบอกปัดหลายๆ ครั้งเอี้ยงคงคิดว่าผู้ใหญ่นี่ไม่ค่อยรับผิดชอบงานเสียเลย แกจะเริ่มต่อว่า “พี่ปอนน่ะ ไร ไร ก็ทั่งมัน ทั่งมัน” วันแรกๆ ที่เอี้ยงมาฝั่งนี้ จุดเด่นที่เราจำได้คือแกด่าเป็นไฟเลย อวัยวะในร่างกายส่วนที่สำคัญเอี้ยงเอามาประกาศหมด แล้วเสียงก็ไม่เบา ยิ่งเวลาตะโกนด่าพี่ชายข้ามคลองล่ะก็ ผู้ใหญ่ได้ยินแล้วหูชาแหละ ป้าปอนได้ยินเข้าก็ตกใจ ทั้งดุทั้งจูงใจไม่ให้แกด่า แต่แกไม่ยอม รู้สึกว่าการด่าคือการดำรงตัวตนของแก หลังจากผ่านไปได้ ๓–๔ วัน ป้าปอนเปลี่ยนวิธี ชวนแกพูดโน่นคุยนี่แล้วก็ทำงานกันไป คราวนี้เรื่องที่พูดคุยมีสาระขึ้นแล้วแกก็เลิกด่าในที่สุด แถมยังพูดเพราะเกินตัวอีกแน่ะ “ครับผม” ทุกคำ แล้วก็ “ขอบคุณครับ” ติดปาก ป้าปอนเลยพาออกงานได้ และทุกคนก็เอ็นดู สำหรับเจ้าหนูปลาน้องสาว ก็พยายามสืบทอดการด่าจากเจ้าเอี้ยงพี่ชายเสียจริง คำแรกที่ปลาพูดได้หาใช่ “ป้อ” และ “แม่” ให้พ่อแม่ชื่นใจไม่ แต่กลับเป็น “เอี้ย! เอี้ย!” มีเด็กอีกหลายคนในละแวกนี้ อาทิ เจ้าเป้อีกคนหนึ่งล่ะ ที่พอพูดได้ก็ชอบแต่จะด่า “ไอ้เห้..”อย่างชัดถ้อยชัดคำเลย ทำเอาพ่อแม่ขายหน้าหลายครั้ง แต่นั่นแหละ เด็กก็พูดตามผู้ใหญ่ มักพูดอะไรพล่อยๆ แล้วต้องมาเสียใจภายหลังเมื่อลูกรับมาพูดตามแล้วกลายเป็นเด็กไม่น่ารัก |