ตราไว้ในดวงจิต ตอน2

Posted on

ตอนที่ ๒ ชีวิตริมคลอง

ที่มา : หนังสือ ตราไว้ในดวงจิต บันทึกเรื่องราวอาศรมวงศ์สนิทยุคบุกเบิก เขียนโดย ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล


013

เราเริ่มขนของมาอยู่ที่นี่ในเดือนเมษายน ๒๕๒๗ คืออีก๓ เดือนหลังจากมาดูครั้งแรก ข้าวของที่นำมาก็มีเพียงเสื้อผ้าคนละสามสี่ชุด เครื่องใช้ประจำวัน และเครื่องครัวอันได้แก่หม้อสองใบ ถ้วยจานสิบกว่าใบและช้อน ซึ่งเพื่อนๆที่กรุงเทพฯ แบ่งสมบัติตอนที่เขาย้ายบ้านกันเลยยกให้เราส่วนหนึ่ง ช่วงแรกเรามากัน ๕ คน มีคุณสันติสุข คุณจุไรรัตน์คุณพรหม ลุงสมชายและป้าปอน เราขออาศัยในบ้าน“ป้าแดง” ซึ่งปลูกสร้างอยู่มุมทิศใต้ของที่ดินผืนนี้ ป้าแดงอาศัยในที่ดินนี้มาหลายปีก่อนพวกเราเข้ามาอยู่ สิ่งแรกๆที่พวกเราต้องฝึกหัดก็คือ “การพายเรือ”

ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ที่อยู่ของเรามีคลองโอบสองด้าน มีลักษณะเกือบเป็นเกาะ ด้านหลังเป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ หากเราจะออกไปภายนอกโดยไม่ผ่านคลองก็พอทำได้ (ถ้าจำเป็น) โดยเดินลัดทุ่งหญ้าคาพื้นที่เป็นร้อยไร่จะไปถึงทางลูกรังเล็กๆ ส่วนบุคคล จากนั้นเดินต่อออกไปจนถึงถนนสายกรุงเทพฯ–นครนายก (ถนนเลียบคลองรังสิต) ระยะทางเดินหลายกิโลเมตร แต่ถ้าเราเพียงข้ามคลองที่อยู่ติดที่ดินทางด้านหน้าเรานี้ ก็จะถึงถนนลูกรัง (ปัจจุบันเป็นถนนลาดยางแล้ว) ซึ่งเป็นทางสัญจรหลักของหมู่บ้าน มีรถสองแถวโดยสารผ่าน

พวกเรา ๕ คนที่เพิ่งมาอยู่ใหม่มีคนพายเรือเป็นเพียงคนเดียว อีกสี่คนก็หัดเอา เราหัดด้วยความสนุกสนานและออกจะเห่อ ป้าปอนกับลุงสมชายมีหนูบั๊ม(ลูกสาวคนสุดท้องของป้าแดงกำลังเรียน ป.๑) และหนูมุ่ยพี่ชายคนถัดจากหนูบั๊มกำลังเรียน ป.๓ เป็นครูสอนพายเรือให้ เด็กๆ แปลกใจและเห็นเป็นเรื่องตลกขบขันที่พวกเราคนโตๆ พายเรือไม่เป็น พายวนไปวนมา กว่าจะข้ามฝั่งได้ก็วนเสียรอบสองรอบ หลังจากได้ให้หัวเรือเป็นท้ายเรือ ท้ายเรือเป็นหัวเรืออยู่สองสามตลบ

“ที่บ้านพี่ไม่มีคลองหรือไง โตถึงป่านนี้ยังพายเรือไม่เป็น” เด็กๆ ถาม

“ไม่มีหรอกจ้ะ”

“อ้าว! ไม่มีคลองแล้วจะอาบน้ำที่ไหนกัน”

เรายิ้มกับความไร้เดียงสาของเด็ก คลองหมายเลข ๑๕ นี้อยู่ห่างจากใจกลางกรุงเทพมหานครเพียงไม่ถึง ๑๐๐ กิโลเมตร แต่มีความเป็นอยู่อย่างชนบทมาก ไม่มีไฟฟ้าใช้ อาบน้ำคลอง เก็บผักหาปลาในลำคลองเป็นอาหาร ชาวบ้านดำเนินชีวิตได้โดยพึ่งพาเทคโนโลยีน้อยมาก ช่างเป็นชีวิตที่เรียบง่ายเสียนี่กระไรเด็กๆ ที่นี่ยังไม่เคยเห็นถนนสายใหญ่ๆ ที่มีรถเยอะๆ คลานเต็มถนนไปได้ทีละน้อยยามรถติด ไม่เคยเห็นตึกสูงๆ ไม่เคยอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด แกคงจะประหลาดใจและตื่นเต้นมากถ้าได้ไปเห็นว่าห้องน้าห้องส้วมของคนรวยที่กรุงเทพฯนั้น ดูสวยงามกว่าบ้านของแกเสียอีก น้ำก็ไม่ต้องหิ้วต้องหาบ ไม่ขุ่นไม่ข้น พอเปิดก๊อกน้ำก็ไหลออกมาเอง จะทำให้น้ำออกมาเหมือนสายฝนก็ยังได้ แต่ถ้าให้แกอยู่กรุงเทพฯ นานๆ แกก็จะได้รู้ว่าคนกรุงเทพฯ นั้นช่วยตัวเองไม่ค่อยได้หรอกถ้าเกิดน้ำไม่ไหล ไฟฟ้าดับขึ้นมาล่ะก็ยุ่งกันทั้งเมือง อัมพาตกินเมืองเลยแหละข้าวปลาก็คงแทบไม่ได้หุงกิน เพราะหม้อหุงข้าวก็ต้องใช้ไฟฟ้า ยิ่งถ้าเกิดไฟฟ้าดับกลางคืนด้วยแล้วคงลำบากกันจนพานหงุดหงิดถึงขั้นด่าทอรัฐบาลเอาเลยทีเดียว

เรื่องที่ให้ลูกๆ ป้าแดงเรียกลุงสมชายกับป้าปอนว่า “พี่” ป้าปอนเคยถูกเพื่อนคนหนึ่งโวยเอาว่า

“อะไรกัน แก่ป่านนี้ยังให้เด็กเรียกพี่อีกหรือ ช่างไม่รู้จักอายแก่ใจบ้างเลย” โธ่! เพื่อนของป้าปอนน่ะ ช่างไม่เข้าใจเลยว่าคนบ้านนอกนั้นเขาแต่งงานกันเร็ว ลูกสาวคนโตของป้าแดงอายุ ๒๐ ปี มีลูก ๒ คน คนโตเรียน ป.๑ แล้ว ถ้าให้เจ้าหนูบั๊มกับหนูมุ่ยเรียกป้าปอนว่า “น้า” แล้วเจ้าหนูรุ่งกับหนูหญิงหลานสาวของเจ้าเด็กทั้งสองนี้มิต้องเรียกป้าปอนว่า “ยาย” หรือจ๊ะ ป้าปอนถึงจะไม่สาวแล้ว แต่ก็ยังไม่หงำเหงอะถึงขนาดเป็นยายหรอกย่ะ…