การแพทย์แผนธิเบต
การอบรมเชิงปฏิบัติการ การแพทย์แผนธิเบต ในประเทศไทย
เรียนรู้ศาสตร์การรักษาอันอ่อนโยนและเป็นระบบ
การแพทย์แผนธิเบตเป็นอีกหนึ่งมรดกอันล้ำค่าในอารยธรรมพุทธศาสนานิกายมหายานของธิเบต ซึ่งเป็นระบบที่หนุนเสริมการดูแลรักษาสุขภาวะให้แข็งแรงสมบูรณ์อย่างเป็นองค์รวม เช่นเดียวกับระบบการแพทย์ดั้งเดิมของอินเดียและจีน การแพทย์แผนธิเบตมองเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของความสมดุล เงื่อนไขต่างๆ อาทิ อาหาร การดำเนินชีวิต ฤดูกาลและสภาพจิตใจ ล้วนสามารถรบกวนสมดุลตามธรรมชาติของร่างกายคนเราได้ทั้งสิ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความผิดปรกติหรือโรคภัยต่างๆ ตามมา (สารจากท่านดาไล ลามะ เว็บไซต์ http://www.tibetan-medicine.org/tibetanmedicine.asp)
แท้จริงแล้ว มีระบบการแพทย์แผนโบราณอยู่มากมาย ในแต่ละบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย แต่ทว่ามีเพียงไม่กี่ระบบที่ยังคงได้รับการยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการแพทย์แผนธิเบต ซึ่งเป็นหนึ่งในตำรับการรักษาโรคอันเก่าแก่ที่สุด ได้พิสูจน์คุณภาพของตัวเองไปทั่วโลกแล้ว ผ่านองค์ความรู้ที่มีการทดลองจนเห็นผลเป็นที่ประจักษ์และสืบทอดมิติที่เป็นวิทยาศาสตร์ของปรัชญาพุทธศาสนามาหลายศตวรรษ
การแพทย์แผนธิเบตจึงเป็นทั้งวิทยาศาสตร์ ศิลปะและปรัชญา ให้เกิดมรรควิธีแบบบูรณาการในการดูแลรักษาสุขภาพขึ้น ที่ว่ามีความเป็นวิทยาศาสตร์นั้น ก็เพราะหลักการได้รับพิสูจน์และยืนยันด้วยกรอบวิธีการที่เป็นระบบและสมเหตุสมผล โดยอยู่บนฐานการทำความเข้าใจร่างกายและความสัมพันธ์ของร่างกายกับสิ่งแวดล้อม ที่ว่ามีความเป็นศิลปะก็เพราะการแพทย์แผนธิเบตอาศัยเทคนิคการวินิจฉัยโรคอย่างสร้างสรรค์ อาศัยความลุ่มลึก ความละเอียดอ่อนและความเมตตาของแพทย์ผู้ตรวจรักษาเอง และที่ว่าการแพทย์แผนธิเบตมีความเป็นปรัชญา ก็เนื่องมาจากมีการน้อมรับเอาหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา เรื่องความไม่เห็นแก่ตัว กฎแห่งกรรม และจริยธรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ด้วย
นอกจากนี้คุณลักษณะอันโดดเด่นของการแพทย์แผนธิเบตที่สะท้อนจากผู้ป่วย คือความเกื้อกูลและความอ่อนโยนในการรักษา การแพทย์แผนธิเบตเป็นศาสตร์แห่งความเข้าใจธรรมชาติของร่างกาย และเสนอวิธีการดูแลสุขภาพจากรากเหง้าของความผิดปกติต่างๆ ในร่างกาย ด้วยตนเอง โดยไม่รอพึ่งพาแพทย์เพียงฝ่ายเดียว
เสมสิกขาลัย ในฐานะเป็นองค์กรที่มุ่งเผยแพร่กระบวนการเรียนรู้อย่างมีจิตวิญญาณ ตลอดจนศาสตร์และกระบวนทัศน์ทางเลือกต่างๆ กล่าวไว้ว่า การแพทย์แผนธิเบตนั้นเป็นศาสตร์ของการดำรงชีวิต มิใช่เพียงการรักษาโรค มีนักคิดหลายท่านวิพากษ์ว่า พัฒนาการของการแพทย์แผนตะวันตกถอนรากถอนโคนผู้คนจากภูมิปัญญาและความรู้ด้านการรักษาแบบดั้งเดิม ที่เหมาะสมกับธรรมชาติของร่างกาย นอกจากนี้ยังส่งผลให้ผู้คนตกอยู่ในภาวะที่ต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเดียว แทนที่การพึ่งพาตัวเองซึ่งเป็นเจ้าของร่างกายนั้น ด้วยตระหนักถึงจุดอ่อนของการแพทย์แผนปัจจุบัน เสมสิกขาลัยจึงได้ริเริ่มจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการการแพทย์แผนธิเบตขึ้น เพื่อให้บริการกับผู้ป่วยที่ผิดหวังกับการแพทย์แผนปัจจุบัน แนะนำให้พวกเขาได้เรียนรู้วิธีการดูแลตนเอง และเป็นเวทีการศึกษาให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรค อาทิ แพทย์และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ที่ต้องการเปิดโลกทัศน์และประยุกต์ใช้มิติการรักษาโรคแผนธิเบต เพื่อประสานกับวิธีการของตนเอง
ด้วยการประสานงานของคณะทำงานเสมสิกขาลัยทั้งในประเทศไทยและธิเบต จึงเกิดการอบรมการแพทย์แผนธิเบตขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม ๒๕๔๘ โดยในครั้งนั้นเราได้เชิญ ดร.เปมา ดอร์จี ประธานแพทยสภากลางแห่งธิเบตมาเป็นวิทยากรท่านแรก นอกเหนือจากการบรรยายและการฝึกปฏิบัติแล้ว นายแพทย์ผู้นี้ยังเปิดรับตรวจสุขภาพให้กับผู้ป่วยที่สนใจ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดการอบรมเป็นครั้งที่ ๒ และ ๓ ตามมาอีก ในปี ๒๕๔๙ โดยมี ดร.ลอบซัง โซปา ดร.นัมเกล คิวซา และดร.เปมา ยังเชนมาเป็นวิทยากรตามลำดับ และในครั้ง ที่ ๔ ที่จัดขึ้นในปีพ.ศ. ๒๕๕๐ มี ดร.พาสซัง วังดู เป็นวิทยากร ในระยะแรกเริ่มนั้น การอบรมเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่มีความสนใจเข้าร่วม อย่างไรก็ดี กลุ่มเป้าหมายในการอบรมครั้งต่อๆมา มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เนื่องจากเสมสิกขาลัยมีประสงค์จะจัดหลักสูตรเร่งรัดสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อส่งเสริมให้มีการกระจายความรู้อันมีค่านี้อย่างกว้างขวางในประเทศไทยต่อไป
ในอนาคตอันใกล้นี้ เสมสิกขาลัยปรารถนาจะเห็นเครือข่ายกลุ่มผู้สนใจเรียนรู้ศาสตร์แขนงนี้ (โดยเฉพาะกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคของไทย) และผู้ทรงคุณวุฒิจากธิเบต เพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้นี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ดร.นัมเกล คิวซา หนึ่งในวิทยาการที่ได้รับเชิญมากล่าวไว้ว่า การแพทย์แผนธิเบตในตัวของมันเองนั้น ยังขาดทักษะการวิเคราะห์ที่ประยุกต์ใช้ได้จริงแบบสมัยใหม่ ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายในประเทศธิเบตเอง เช่น กายวิภาคศาสตร์ที่เรียนรู้ระบบร่างกายจากร่างกายของคนจริงๆ
ด้วยตระหนักถึงข้อจำกัดดังกล่าว เสมสิกขาลัยจึงเสนอทางเลือกหนึ่งที่น่าจะมีความเป็นไปได้ คือ การแลกเปลี่ยนนักศึกษาแพทย์ไปเรียนรู้มิติที่ต่างฝ่ายต่างก็ยังขาดประสิทธิภาพในการรักษา เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ ความเมตตาและความอ่อนโยนในการรักษา ทั้งนี้ก็เพื่อรับใช้ผู้คนอย่างจริงใจ โดยไม่มุ่งหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว
ผู้เข้าอบรม : คุณสมบัติที่จำเป็นในการเรียนรู้ การแพทย์แผนธิเบต ได้แก่อะไรบ้าง
ดร.คิวซา : การเป็นคนดี คือคุณสมบัติสำคัญที่สุดของผู้ที่ต้องการเรียนรู้ศาสตร์นี้ และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม การแพทย์แผนธิเบต ถึงได้มีเจตนาสืบทอดองค์ความรู้กันภายในวงค์ตระกูล ซึ่งมั่นใจได้มากกว่าว่าใครมีพื้นฐานจิตใจอย่างไร ก็เพราะว่าครูการแพทย์แผนธิเบตนั้น เกรงว่าหากความรู้นี้ถ่ายทอดไปยังคนไม่ดีแล้ว ศาสตร์นี้ก็จะถูกนำไปทำร้ายผู้คนที่น่าสงสารในที่สุด