ตราไว้ในดวงจิต ตอน17

Posted on

ตอนที่ ๑๗ งานระลอกต่อไป

ที่มา : หนังสือ ตราไว้ในดวงจิต บันทึกเรื่องราวอาศรมวงศ์สนิทยุคบุกเบิก เขียนโดย ศิริพร โชติชัชวาลย์กุล


070ระหว่างสร้างบ้านรับรองแขก เราติดต่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาท้องถิ่นไทย-แคนาดา (LDAP) เพื่อทำโครงการไร่นาสวนผสม เป็นการทดลองหารูปแบบที่จะดำรงชีพด้วยการเกษตร โดยหวังว่าต่อไปอาศรมฯ จะพึ่งตัวเองได้ด้วยปัจจัยสี่ และจะเป็นพื้นที่เรียนรู้และเป็นตัวอย่างสำหรับเพื่อนบ้านและผู้สนใจด้วย ซึ่งกองทุนฯ ก็ให้การสนับสนุนเงินทุนดำเนินการ

ดังนั้นพอเสร็จงานรับรองแขกคณะใหญ่ชุดแรกเราก็วางผังคันดินรอบพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วมในหน้าน้ำออกแบบขนาดร่องสวนเตรียมปลูกต้นไม้และทำคูระบายน้ำ ออกแบบขุดบ่อปลาใหม่อีก จัดเตรียมที่เลี้ยงเป็ด ไก่แปลนเสร็จก็จ้างรถแทรกเตอร์มาทำงาน ๒ คัน มีช่างมากับรถ ๖ คน ทำงานอยู่ ๑๐ วัน กินอยู่กับเรา ป้าปอนกับลุงสมชายมีหน้าที่ทำแปลน ตกลงราคาค่าจ้าง ควบคุมให้ทำงานตามที่ตกลง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น และดูแลที่อยู่ อาหารการกินให้พวกเขา หลังจากเสร็จงานเครื่องจักรบุกเบิกแล้ว ถัดไปก็ว่าจ้างแรงงานชาวบ้านประมาณ ๑๕ คน มาขุดและแต่งดินทำร่องสวน

การว่าจ้างชาวบ้านทำงานใหญ่ใช้ทุนเยอะเป็นเรื่องหนักใจเราอีกเรื่องหนึ่ง เราไม่มีประสบการณ์ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็เจอะเจอแต่ที่ทำให้เราต้องจ่ายมากสิ้นเปลือง ทำให้วิตกกังวลระมัดระวังว่าจะถูกชาวบ้านเอาเปรียบหรือหลอกลวง เป็นปัญหาที่คนเมืองออกไปอยู่บ้านนอกใหม่ๆ ดูเหมือนจะหลีกไม่พ้น

ลักษณะของผู้ว่าจ้างมักจะแบ่งได้เป็นสองลักษณะคือ ลักษณะหนึ่งขี้เหนียว กดค่าแรง สั่งงานด้วยท่าทีวางอำนาจ และตรวจตรางานเข้มงวด ชาวบ้านอาจเกรงกลัวและทำงานให้อย่างไม่บกพร่อง แต่ก็มีความเกลียดชัง หรือไม่ก็จะตอบโต้ด้วยการเลี่ยงงาน ขโมยของ และมีลักษณะทำลาย

อีกลักษณะหนึ่งผู้ว่าจ้างใจดี มีความเห็นใจให้ค่าแรงสูง แต่ผลก็เช่นเดียวกัน อย่าหวังว่าเขาจะยินดีทำงานให้คุณด้วยความจริงใจ เขาก็ยังอู้งาน โกงงานอยู่ดี เหมือนเขาจะถือว่าคนเมืองหรือคนฐานะดีกว่าเป็นพวกที่เอาเปรียบเขาโดยรวม จึงถือเป็นอภิสิทธิ์ของคนจนที่จะเอาเปรียบเล็กๆ น้อยๆ ตอบแทนบ้างเมื่อมีโอกาส

ดังนั้น แม้ว่าลุงสมชายกับป้าปอนจะใช้วิธีของผู้ว่าจ้างประเภทที่สอง คือให้ค่าตอบแทนสูง ปฏิบัติต่อผู้รับจ้างด้วยความเคารพนับถือ ให้เกียรติ แต่เราก็ได้รับผลแย่ๆ อย่างที่ว่านั้นแหละ ประกอบกับเราไม่ประสีประสากับงาน ชาวบ้านเลยเอาเปรียบเรากันสนุกใหญ่ แรกๆ เราเสียใจ สูญเสียศรัทธาต่อเพื่อนมนุษย์มาก แม้จะพยายามทำความเข้าใจจนถึงที่สุดของเราแล้วก็ตาม กว่าจะเลือกได้ชาวบ้านที่ทำงานอย่างซื่อตรงรักใคร่จริงใจกันก็ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันหลายยกพิสูจน์น้ำใจซึ่งกันและกัน

งานดินเสร็จแล้วก็ลงมือปลูกต้นไม้เป็นการใหญ่ ปลูกมะม่วง ๑๕๐ ต้นขนุน ๕๐ ต้น กล้วย ๕๐๐ หน่อ หวังให้เป็นอาหารและรายได้ประจำของเราในอนาคต ปลูกไม้โตเร็วราว ๔๐๐ ต้นเพื่อความร่มรื่นและสวยงาม บางอย่างก็เป็นอาหารได้ ปลูกพืชล้มลุกอีก ๒-๓ ชนิด เราภูมิใจที่จะบอกว่าลงมือปลูกต้นไม้ทั้งหมดนี้ด้วยกำลังของเราและอาสาสมัครที่มาช่วยงานเป็นครั้งคราว การปลูกแต่ละต้นต้องทำด้วยความประณีตเพราะดินไม่มีสารอาหารเลย เราขุดหลุม ๕๐ คูณ ๕๐ คูณ ๕๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร โรยปูนขาว ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ของพวกนี้เราซื้อและรถจะขนมาส่งกองที่ฝั่งคลองด้านตรงข้าม เราบรรจุใส่กระสอบเล็กแบกขึ้นบ่าเดินลงตลิ่งมาใส่เรือพาย ถึงฝั่งอาศรมก็แบกขึ้นไปกอง เวลาจะใช้ก็แบกขนไปตามร่องสวน เดินกันไกลๆ เต็มพื้นที่ ๓๔ ไร่กว่า ยกเว้นปุ๋ยหมักเราทำเองจากผักตบชวาที่เป็นวัชพืชแน่นคลองกีดขวางการจราจร แต่การลากผักตบขึ้นมากองบนตลิ่งก็เป็นงานที่ใช้แรงมาก ผักตบประกอบด้วยน้ำ ๙๐% เมื่อแห้งก็จะเหลือเป็นปุ๋ยนิดเดียว ทำให้พอจะใช้ต้องลากขึ้นมาหลายตัน ดีต้าร์ห้าบาทของเรา พยายามคิดหาวิธีจนกระทั่งแนะให้เราหาควายมาช่วยลากจะได้ขึ้นทีละกองใหญ่ๆ แต่เราไม่เคยเลี้ยงควาย ไม่รู้วิธีบังคับควาย สรุปคือ “ไม่สามารถ” เลยไม่ทำตาม ก็ได้แต่ใช้แรงคนต่อไป เป็นการดึงลากของหนักจากที่ต่ำ (ในคลอง) ขึ้นที่สูง ทำทุกวันเป็นเดือนมีผลให้ปวดหลังกันทั่วหน้า เอ๊ย! ทั่วหลัง

ช่วงปลายงานได้อาสี่ (นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง) มาเป็นสมาชิกใหม่ของอาศรม และอาแดง (นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง) มาเป็นอาสาสมัครระยะยาว ช่วยเสริมแรงกายแรงใจ สติปัญญาอย่างสำคัญ แม้จะเหน็ดเหนื่อยแต่เราก็ทำเสร็จกันในเวลาเพียงหนึ่งฤดูฝน ขณะที่มีงานอื่นแทรกเข้ามาบ่อยด้วย เราเฝ้ามองผลงานด้วยความชื่นใจ แม้งานจะบกพร่องไม่เป็นไปตามที่คาดอยู่หลายอย่างก็ตาม ข้างชาวบ้านรอบๆ ก็นินทากันใหญ่ว่าเราขี้เหนียว ไม่ยอมจ้างพวกเขาปลูกเหมือนคนเมืองสวนอื่นๆ

ตอนปลายฤดูฝนระดับน้ำในคลองขึ้นสูงมาก ในร่องสวนของเราก็มีน้ำฝนขังจนท่วมคันดินที่ปลูกต้นไม้ เราไม่มีเครื่องสูบน้ำ ได้แต่มองปัญหาที่เกิดด้วยใจคอไม่ดี กลัวกระแสน้ำในคลองจะขึ้นสูงจนบ่าล้นเข้ามาในสวน ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะได้ซาบซึ้งกับคำว่า “ล่มจม” ตั้งแต่งานเพิ่งเริ่มแน่ๆ ต้นไม้ทั้งสวนจะต้องตายหมด

โชคดีที่ระดับน้ำในคลองหยุดอยู่เพียงนั้นไม่ท่วมคันดินใหญ่รอบนอกภายหลังเราจ้างเจ้าของสวนที่มีเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำส่วนเกินออกไป รวมแล้วเสียค่าจ้างสูบน้ำและค่าเสียหายจากการที่ต้นไม้บางส่วนถูกน้ำท่วมตายประมาณ ๓,๐๐๐ บาท เป็นเงินที่มากเมื่อเทียบกับค่ายังชีพ ๒,๐๐๐–๓,๐๐๐ บาทต่อเดือนของเรา

งานที่เล่ามานี้อยู่ในช่วงปีเศษของการบุกเบิกสร้างอาศรมวงศ์สนิท แม้ดูเหมือนงานจะรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีหลายอย่างเสียหายจากความอ่อนด้อยของเรา ลุงสมชายพูดว่าเราเริ่มงานที่ระดับต่ำกว่าศูนย์ เพราะเราเริ่มจากความไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับงานก่อสร้าง การเกษตร วิถีชีวิตชนบท กำลังกายน้อย เราสองคนคือคนเมืองรูปร่างเล็กๆ อรชรอ้อนแอ้นทั้งคู่ ทำอะไรไม่ค่อยเป็นแต่เราก็สู้มาได้ถึงเพียงนี้ ป้าปอนถือว่าการทำงานย่อมมีผิดพลาดบ้างเป็นธรรมดาคนที่ไม่มีอะไรผิดพลาดน่าจะเป็นคนที่ไม่ทำอะไร

เราเชื่อว่าเพื่อนๆ ที่มีความพร้อมมากกว่าเรา รู้งานมากกว่าเรา หากเลือกมาใช้ชีวิตอย่างเราบ้างจะต้องทำได้ดีกว่าเราแน่ การอยู่ชนบทบ้านนอกแม้จะเหน็ดเหนื่อยแต่ก็มีความสุข เราอยากให้เพื่อนๆ ญาติพี่น้อง หันมาใช้ชีวิตที่เป็นตัวของตัวเอง ได้มีเวลาอยู่กับธรรมชาติมากกว่าการไขว่คว้าในทางวัตถุ

ท่านมหาตมาคานธีแห่งอินเดียกล่าวว่า “สถานที่ที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพของมนุษย์คือหมู่บ้านเล็กๆ หาใช่เมืองใหญ่โตโอฬารไม่”